สธ.มั่นใจพร้อมรับมือโควิด-19 ระลอกใหม่ เร่งเปิดพื้นที่กักโรคทางเลือกทุก จว.

สธ.มั่นใจทรัพยากรแพทย์พอรับมือโควิด-19 ระลอกใหม่ เร่งเปิดพื้นที่กักโรคทางเลือกทุก จว.

เมื่อวันที่ 14 กันยายน ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พร้อมด้วย นพ.วิทูรย์ อนันกุล ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขฉุกเฉิน และ นพ.ธเนศ ดุสิตสุนทรกุล รักษาการผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน รายงานสถานการณ์การเตรียมความพร้อมรับมือกับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19

นพ.สุรโชค กล่าวว่า ในช่วงแรกที่เริ่มพบการระบาดของโควิด-19 ประเทศไทยขาดแคลนทรัพยากรและอุปกรณ์ต่างๆ แต่ในปัจจุบันที่ควบคุมการระบาดของโรคได้อย่างดี จึงต้องเร่งสำรองทรัพยากรต่างๆ ไว้ โดยขณะนี้ประเทศไทยมีโรงงานที่สามารถผลิตหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ (Surgical mask) จำนวน 40 แห่ง รวมกำลังการผลิตเฉลี่ยวันละ 3.4 ล้านชิ้น ซึ่งประชาชนสามารถเข้าถึงได้และมีความเพียงพอต่อการใช้ภายในโรงพยาบาล (รพ.) อย่างไรก็ตาม จะต้องมีการสำรองทรัพยากรและอุปกรณ์ต่างๆ ดังนี้ หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ มีการสำรองไว้ทั้งหมด 43 ล้านชิ้น เพียงพอสำหรับ 3 เดือน หน้ากากอนามัย ชนิด N95 มีสำรองทั่วประเทศ จำนวน 2.4 ล้านชิ้น อยู่ที่ส่วนกลาง 1.9 ล้านชิ้น และกระจายอยู่ใน รพ.ต่างๆ รวม 5 แสนชิ้น ชุดป้องกันส่วนบุคคล PEE และ Cover all สำรองทั่วประเทศรวม 1.4 ล้านชิ้น อยู่ในส่วนกลาง 6 แสนชิ้น กระจายไปยัง รพ.ต่างๆ รวม 8 แสนชิ้น เนื่องจากเป็นอุปกรณ์ที่มีความจำเป็นต้องใช้ทุกวัน

นพ.สุรโชค กล่าวว่า ยาที่ใช้รักษาผู้ป่วยโควิด-19 ได้แก่ ยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) มีสำรองในประเทศไทย จำนวน 590,000 เม็ด ซึ่งขณะนี้มีหลายประเทศที่สามารถยาชนิดนี้ได้ คือ จีน ญี่ปุ่น ทั้งนี้ อย.อนุญาตให้มีการการนำเข้าจาก 2 บริษัท ในประเทศอินเดียเพิ่มเติม และ ส่วนยาเรมเดซิเวียร์ (Remdesivir) 400 หลอด ส่วนการสำรองทรัพยากรต่างๆ ไว้ในจังหวัดที่มีพรมแดนติดกับประเทศเมียนมา เช่น ตาก แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และระนอง ได้แก่ N95 จำนวน 29,872 ชิ้น หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ จำนวน 3,831,938 ชิ้น ชุดป้องกัน PPE จำนวน 28,704 ชิ้น และ หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ จำนวน 15,645 ชิ้น

Advertisement

นพ.สุรโชค กล่าวว่า ในส่วนของวัคซีนของประเทศไทยที่มีการเดินหน้าพัฒนาใน 8 หน่วยงาน ขณะนี้มี 3 หน่วยงานที่มีความก้าวหน้า ได้แก่ 1.บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด 2.โครงการพัฒนาวัคซีน
ในรูปแบบ mRNA ของศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางวิจัยและพัฒนาวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ 3.บริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด โดย อย.ได้เข้าไปเจรจาเบื้องต้นในส่วนของเอกสารสำหรับการยื่นของอนุญาตทำการทอดลองในมนุษย์ เพื่อไม่ให้เกิดความล่าช้า

ด้าน นพ.วิทูรย์ กล่าวว่า การเดินหน้าทางเศรษฐกิจมีความสำคัญอย่างยิ่ง ดังนั้น สธ.จึงได้เดินหน้าพัฒนาสถานกักกันโรค (Quarantine) แต่ละรูปแบบให้ตอบโจทย์ของประเทศ เพื่อการนำผู้เดินทางจากต่างประเทศเข้ามาพัก โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมมือกันกำหนดมาตรฐานและการควบคุม เพื่อให้มั่นใจว่า คนในประเทศไทยจะไม่ติดโรคจากผู้เดินทางเข้ามา และเร่งเดินหน้าจัดตั้งสถานกักกันโรคทางเลือก (Alternative State Quarantine: ASQ) ในทุกจังหวัด เพื่อรองรับการเข้าพักของผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ พร้อมทั้งเดินหน้าค้นหาผู้ป่วยในประเทศ เนื่องจากอาจมีผู้ที่มีเชื้อโดยไม่แสดงอาการหลงเหลืออยู่ อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนมีความมั่นใจและยังคงต้องรักษามาตรการป้องกันส่วนบุคคลไว้อย่างเคร่งครัด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image