พบ 2 ใน 5 ผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ เคยมีประวัติป่วยมาแล้ว

กรมควบคุมโรคพบ 2 ใน 5 ผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ เคยมีประวัติป่วยมาแล้ว

วันนี้ (15 กันยายน 2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามที่เฟซบุ๊กศูนย์ข้อมูล COVID-19 รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ในประเทศไทย ประจำวัน ระบุว่า ประเทศไทยพบผู้ป่วยรายใหม่ 5 ราย เป็นผู้เดินทางจากต่างประเทศ และเข้าสถานกักกันโรค (Quarantine) โดยทั้ง 5 ราย แบ่งเป็นมาจากประเทศญี่ปุ่น 1 ราย ปากีสถาน 1 ราย กาตาร์ 1 ราย บาห์เรน 1 ราย และซาอุดีอาระเบีย 1 ราย

ล่าสุด กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้เผยแพร่รายละเอียดของผู้ป่วยใหม่ทั้ง 5 ราย ดังนี้

ญี่ปุ่น 1 ราย เป็น ชายไทย อายุ 33 ปี อาชีพรับจ้าง เมื่อวันที่ 9 กันยายน เดินทางถึงประเทศไทย เข้าพักในสถานกักกันโรคของรัฐ (SQ) ใน จ.ชลบุรี เมื่อวันที่ 12 กันยายน ผลตรวจพบเชื้อ แต่ไม่มีอาการ

ปากีสถาน 1 ราย เป็นนักศึกษาชายไทย อายุ 23 ปี เมื่อวันที่ 13 กันยายน เดินทางถึงประเทศไทย โดยผ่านการคัดกรอง ณ ด่านควบคุมโรค พบว่ามีน้ำมูกและอาเจียน จึงตรวจหาเชื้อในวันเดียวกัน ผลตรวจพบเชื้อ

Advertisement

กาตาร์ 1 ราย เป็นชายสัญชาติอิหร่าน อายุ 35 ปี อาชีพธุรกิจส่วนตัว เมื่อวันที่ 13 กันยายน เดินทางถึงประเทศไทย และเข้าพักในสถานกักกันโรคทางเลือก (Alternative Hospital Quarantine: AHQ) ในกรุงเทพมหานคร ตรวจหาเชื้อครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 13 กันยายน ผลตรวจพบเชื้อ แต่ไม่มีอาการ

บาห์เรน 1 ราย ชายไทย อายุ 63 ปี อาชีพพนักงานบริษัท เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม เดินทางถึงประเทศไทย (เที่ยวบินเดียวกับผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้า 1 ราย) เข้าพักในสถานกักกันโรคของรัฐ (State Quarantine) ใน จ.ชลบุรี และตรวจหาเชื้อเมื่อวันที่ 14 กันยายน ผลตรวจพบเชื้อ และพบว่ามีประวัติติดเชื้อโควิด-19 เมื่อเดือนมิถุนายน 2563

ซาอุดีอาระเบีย 1 ราย เป็นชายสัญชาติอังกฤษ อายุ 40 ปี อาชีพพนักงานบริษัท เมื่อวันที่ 1 กันยายน เดินทางถึงประเทศไทย เข้าพักในสถานกักกันโรคทางเลือก (Alternative State Quarantine: ASQ) ในกรุงเทพฯ ตรวจหาเชื้อครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 13 กันยายน ผลตรวจพบเชื้อ และพบว่ามีประวัติติดเชื้อโควิด-19 เมื่อเดือนพฤษภาคม 2563

Advertisement

ด้าน นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สำหรับ 2 กรณีนี้ เป็นรายงานว่ามีการพบเชื้อโควิด-19

“อย่างไรก็ตาม ต่อให้เป็นการติดเชื้อซ้ำ ก็ไม่น่ากังวล เพราะทั่วโลกเคยเจอเคสติดเชื้อซ้ำ ราว 2-3 เคส และเป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ยากว่าเป็นการติดเชื้อตัวใด สมมติว่าเป็นสายพันธุ์ G ก็อาจไม่เหมือนกัน เนื่องจากการตรวจ จะต้องตรวจทั้งสายพันธุกรรม ซึ่งอาจมีจุดแตกต่างกันอยู่บ้าง และกรณีดังกล่าว ไม่ต้องกังวล เพราะอยู่ในสถานกักกันโรคอยู่แล้ว” นพ.ธนรักษ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า การเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวเป็นสิ่งที่ประชาชนจะต้องรับทราบหรือไม่ นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า เป็นข้อมูลที่น่ารู้ และประชาชนคนไทยควรจะทราบ เพราะกรณีนี้จะคล้ายกับหลายกรณีที่เคยเกิดขึ้น เพื่อให้ประชาชนเข้าใจเกี่ยวกับโรคให้มากขึ้น

 

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image