เปิดไทม์ไลน์ ล่ามไทยจากซาอุฯ เสียชีวิตจากโควิด-19 นับเป็นรายที่ 59

เปิดไทม์ไลน์ ล่ามไทยจากซาอุฯ เสียชีวิตจากโควิด-19 นับเป็นรายที่ 59

วันนี้ (18 กันยายน 2563) ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค พร้อมด้วย นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ผศ.นพ.พจน์ อินทลาภาพร อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ กลุ่มงานอายุรศาสตร์ โรงพยาบาล (รพ.) ราชวิถี แถลงข่าวกรณีมีรายงานผู้เสียชีวิตจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้เสียชีวิต และยืนยันว่ามีผู้ป่วยโควิด-19 เสียชีวิตที่ รพ.ราชวิถี จริง โดยไทม์ไลน์ของผู้เสียชีวิต ชายไทย อายุ 54 ปี อาชีพล่ามของสำนักงานแรงงานของไทยในกรุงริยาด ประเทศซาอุดิอาระเบีย เป็นเวลานานกว่า 10 ปี ผู้ป่วยเริ่มไม่สบายอาการเล็กน้อย ตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคม ได้รับการตรวจที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย

เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม ตรวจพบเชื้อโควิด-19 แต่ยังไม่ได้นอน รพ. และกลับไปรักษาอาการที่บ้าน จากการที่ สธ.ได้ตั้งไลน์กลุ่มพูดคุยกับคนไทยในต่างประเทศ จึงแนะนำกับผู้ป่วยว่า หากมีอาการที่มากขึ้น ให้รีบไปพบแพทย์ที่ รพ.ทันที โดยมีช่วงหนึ่งที่ผู้ป่วยหายไป ไม่ได้ติดต่อกัน จึงเข้าใจว่าน่าจะเป็นช่วงที่ผู้ป่วยอาการหนัก และใส่ท่อช่วยหายใจ

Advertisement

เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม ผู้ป่วยเริ่มมีอาการมากขึ้น หายใจไม่ทั่วท้อง มีไข้ และไอ จึงได้เข้ารับการรักษาเป็นผู้ป่วยในของ รพ.

“สังเกตได้ว่า ตรวจพบเชื้อวันที่ 21 กรกฎาคม แต่แอดมิดวันที่ 26 กรกฎาคม ซึ่งเป็นข้อแตกต่างจากประเทศไทย ที่เมื่อตรวจพบเชื้อ หรือสงสัยพบเชื้อก็จะให้แอดมิดไว้ก่อนแล้ว เคสนี้เมื่อนอน รพ.ได้ 4-5 วัน อาการแย่ลง ต้องย้ายจากแผนกสามัญไปแผนกไอซียู และผู้ป่วยมีอาการหยุดหายใจ เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม แพทย์ปั๊มหัวใจและใส่ท่อช่วยหายใจ ย้ำว่าเคสนี้เริ่มป่วยเดือนกรกฎาคม ที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย ได้รับการวินิจฉัยรักษาที่นั่น” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

นพ.สมศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า ผลการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย จำนวน 4 ครั้ง พบว่าเป็นบวก 2 ครั้ง เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม และ วันที่ 5 สิงหาคม และเป็นลบ 2 ครั้ง คือ เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม และ วันที่ 30 สิงหาคม หลังจากนั้น สธ.ได้รับการประสานงานจากกระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงแรงงานว่า ผู้ป่วยและญาติ อยากให้เดินทางกลับประเทศไทยเพื่อดูแลอาการป่วย ดังนั้น จึงให้ผู้ป่วยเดินทางกลับประเทศไทย ด้วยเครื่องบินพยาบาล (Air Ambulance)

Advertisement

เมื่อวันที่ 1 กันยายน เวลา 20.30 น. ออกจากกรุงริยาด โดยเครื่องบินพยาบาล พร้อมทีมแพทย์ พยาบาล เนื่องจากไม่มีแพทย์ไทยอยู่ที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย จึงต้องใช้ทีมแพทย์จากประเทศอินโดนีเซียนำผู้ป่วยกลับมา ขณะเดินทางผู้ป่วยถอดเครื่องช่วยหายใจ

เมื่อวันที่ 2 กันยายน เวลา 01.36 น. ทีมแพทย์จาก รพ.ราชวิถี ได้ไปเตรียมรอรับผู้ป่วยจากเครื่องบินพยาบาล โดยป้องกันการสัมผัสผู้ป่วยด้วยแคปซูลทรานเฟอร์ (patient isolation transport unit) เพราะผู้ป่วยถูกวินิจฉัยมาก่อน ถึงแม้ว่าจะมีผลตรวจโควิด-19 ก่อนเดินทางเข้าประเทศไทยให้ผลลบถึง 2 ครั้ง ขณะเดินทางผู้ป่วยไม่ได้ใส่ท่อช่วยหายใจและมีอาการหอบเหนื่อยมากขึ้น

เมื่อวันที่ 3 กันยายน เวลา 08.00 น. ผู้ป่วยอาการแย่ลง จึงต้องใส่ท่อช่วยหายใจ ฆ่าเชื้อทางหลอดเลือดดำ และทำการเพาะเชื้อแบคทีเรีย

“เราได้ดูแลผู้ป่วยใน รพ.ราชวิถี ตั้งแต่วันที่ 3-18 กันยายน อาการทรงๆ ทรุดๆ และช่วงอาทิตย์หลังทรุดมาตลอด โดยตามหลักการของนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการ สธ. ให้นโยบายมาโดยตลอดว่า ถึงคนไทยจะอยู่ที่ไหน เราก็จะไม่ทิ้งกัน แม้ว่าป่วยอยู่ต่างประเทศ เราก็จะประสานกัน ในบางรายหากจำเป็นก็จะนำส่งกลับประเทศไทย” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

ด้าน ศ.นพ.พจน์ กล่าวว่า รายละเอียดการรักษาผู้ป่วยราชดังกล่าวใน รพ.ราชวิถี ตั้งแต่รับส่งต่อมาเมื่อวันที่ 2 กันยายนที่ผ่านมา การประเมินช่วงแรกมีปัญหาปอดอักเสบที่มีต่อเนื่องตั้งแต่ก่อนส่งตัวมา ถึงแม้ว่าการติดเชื้อโควิด-19 จะดีขึ้นตามลำดับ แต่มีการติดเชื้อปอดอักเสบจากแบคทีเรียดื้อยาแทรกซ้อน ตั้งแต่ก่อนเดินมาถึงประเทศไทย แต่ได้รับยาปฏิชีวนะมาต่อเนื่อง รพ.ราชวิถี จึงให้ยารักษาปอดอักเสบจากแบคทีเรียต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน ระบบทางเดินหายใจและปอด พบว่า ปอดด้านขวามีเงาทึบอยู่ ซึ่งเป็นผลมาที่ผู้ป่วยมีภาวะการอักเสบของปอดอย่างรุนแรงจากโควิด-19 ที่เรียกว่า เออาร์ดีเอส (Acute respiratory distress syndrome :ARDS) เมื่อเริ่มฟื้นสภาพก็จะมีภาวะพังผืดในปอด (fibrosis) ทำให้ผู้ป่วยหายใจลำบาก หลังจากเข้ารับการรักษาได้ไม่ถึง 10 ชั่วโมง จึงต้องใส่ท่อช่วยหายใจอีกครั้ง เนื่องจากผู้ป่วยหายใจได้ไม่ไหว

“ตรวจพบว่า ยังมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนต่อเนื่องอยู่ ซึ่งดื้อต่อยายาปฏิชีวนะหลายชนิด รพ.จึงให้ยาอย่างต่อเนื่อง ประเด็นของหัวใจ พบว่าช่วงก่อนเดินทางมาประเทศไทย ผู้ป่วยมีอาการหัวใจหยุดเต้น 1 ครั้งและได้รับการปั๊มหัวใจ ซึ่งอาจจะส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจมีการบาดเจ็บ เมื่อเดินทางถึงไทยได้ตรวจคลื่นหัวใจพบว่ายังมีความผิดปกติ เสี่ยงต่อการทำงานของหัวใจผิดปกติและหยุดเต้น ตลอดการดูแลรักษาผู้ป่วยมีคลื่นหัวใจที่ผิดปกติตลอดเนื่องมาจนวันสุดท้ายที่เสียชีวิต เนื่องจากการรักษาของโควิด-19 ทำให้มีข้อกำจัดในการให้ยา รักษาการเต้นของหัวใจ” ศ.นพ.พจน์ กล่าว

ศ.นพ.พจน์ กล่าวว่า โรคประจำตัวของผู้ป่วย คือ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และไขมันในเลือดสูง เมื่อเข้ารักษาที่ รพ.ราชวิถี ได้ติดตามระดับน้ำตาลในเลือดค่อนข้างสวิงอยู่ที่ 100-440 ทำให้ควบคุมน้ำตาลได้ไม่ดี ส่งผลต่อการรักษาการติดซ้ำจากเชื้อแบคทีเรียดื้อยามีความยากขึ้น ระหว่างรักษามีการติดเชื้อซ้ำต่อเนื่องและได้รับยาปฏิชีวนะหลายขนานแต่ร่างกายตอบสนองได้ไม่ดี กระทั่งเมื่อวันที่ 16 กันยายน ต้องเพิ่มยาควบคุมความดันเลือด เนื่องจากมีการติดเชื้อในกระแสเลือดอย่างรุนแรงถึง 3 ชนิด ด้วยสภาพของปอดอักเสบต่อเนื่อง จึงทำให้ร่างกายโดยรวมทรุดลงรวดเร็ว ร่วมกับการทำงานของอวัยวะอื่นล้มเหลว และมีภาวะไตวายที่เป็นผลจากการติดเชื้อ ปัจจัยหลายอย่างประกอบกัน จึงทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต

ด้าน นพ.โสภณ กล่าวว่า ผู้เสียชีวิตรายนี้เป็นผู้ติดเชื้อมาจากต่างประเทศ และนับเป็นผู้ป่วยในประเทศไทยเมื่อวันที่ 4 กันยายน ผู้ป่วยลำดับที่ 3,430 ของไทย ทีมงานระบาดวิทยาสอบสวน พบประวัติชัดเจนว่า มีการติดเชื้อที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม และกระบวนการนำผู้ป่วยกลับประเทศไทย ได้ทำตามมาตรฐานป้องกันโรคอย่างครบถ้วน ทีมแพทย์ที่มาพร้อมผู้ป่วย เมื่อส่งเสร็จก็เดินทางกลับทันที ดังนั้นจึงไม่มีผู้เกี่ยวข้องผู้ป่วยรายนี้เพิ่มเติม

“หลักสากล เราจะนับผู้ที่ติดเชื้อที่มีผลทางห้องปฏิบัติการยืนยัน ในรายนี้มีการตรวจจากประเทศซาอุดิอาระเบีย สถานะรักษาผู้ป่วยโควิด-19 จะมี 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 อยู่ระหว่างการรักษา กลุ่มที่ 2 รักษาหายและออกจาก รพ. และกลุ่มที่ 3 รักษาแล้วเสียชีวิต ในรายนี้มีการรักษาต่อเนื่องมาตั้งแต่วันที่ 26 กรกฎาคมแต่เพียงเปลี่ยน รพ. และประเทศที่ดูแลรักษาพยาบาลและเสียชีวิตในวันที่ 18 กันยายน รวมระยะเวลารักษานาน 54 วันซึ่งเป็นระยะเวลาค่อนข้างนาน ดังนั้นเป็นรายที่เสียชีวิตในประเทศไทย” นพ.โสภณ กล่าว

นพ.โสภณ กล่าวว่า คณะกรรมการวิชาการภายใต้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)โรคติดต่อ พ.ศ.2558 จะพิจารณาและให้ความเห็นเพิ่มเติม แต่รายนี้ตรงไปตรงมา คือ มีการติดเชื้อในต่างประเทศ ยืนยันว่าเป็นผู้ป่วยโควิด-19 ส่งต่อมารักษาในประเทศ และเป็นผู้ป่วยที่ถูกวินิจฉัยว่าเป็นโควิด-19 และเสียชีวิต

ผู้สื่อข่าวถามว่า ผู้เสียชีวิตรายนี้ นับเป็นรายที่ 59 ของไทยหรือไม่ นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ในทางสถิติดูเหมือนว่าจะนับเป็นรายที่ 59 ของไทย แต่สาเหตุการเสียชีวิตไม่น่าจะใช่เพราะโควิด-19 แต่ในทางระบาดวิทยา เมื่อผู้ป่วยอยู่ใน รพ.ต่อเนื่องมาจากประเทศต้นทางและยังไม่ได้ออกจากระบบการรักษา ดังนั้นในทางสถิติอาจต้องนับ แต่ขึ้นอยู่กับการประชุมคณะกรรมการวิชาการฯ อีกครั้งในสัปดาห์หน้า

“ในหลักการแพทย์จะต้องดูสาเหตุการเสียชีวิต คือ ติดเชื้อดื้อยาหลายขนานและอาการไม่ดีขึ้น แต่หลักจริงๆ ดูเหมือนไม่ใช่โควิด แต่ว่าการนับทางระบาดวิทยาที่ผู้ป่วยแอดมิดด้วยโควิด ทางระบาดจึงอาจต้องนับเป็นรายที่ 59 จะบอกว่าไม่ใช่โดยตรงเลย ก็ถูก แต่โดยอ้อมส่วนหนึ่งคือเพราะโควิด-19 ทำให้ปอดเป็นแผล อักเสบทั้ง 2 ข้าง เป็นสาเหตุทางอ้อมส่วนหนึ่ง” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image