ศบค.เผยตรวจโควิด-19 ในไทย กว่า 9.4 แสนตัวอย่าง พบป่วย 3,497 ราย
วันนี้ (22 กันยายน 2563) เฟซบุ๊กศูนย์ข้อมูลโควิด-19 รายงานสถานการณ์การป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ในประเทศไทย
โดยการตรวจหาสารพันธุกรรม SARS-CoV-2(COVID-19) หรือ เชื้อโควิด-19 ข้อมูลเมื่อวันที่ 21 กันยายน จากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดยเครือข่ายห้องปฏิบัติการ (แล็บ) จำนวน 226 แห่ง ทั่วประเทศ แบ่งเป็น กรุงเทพมหานครและปริมณฑล 85 แห่ง ภาคกลาง 29 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 36 แห่ง ภาคเหนือ 24 แห่ง ภาคใต้ 27 แห่ง ภาคตะวันออก 17 แห่ง และ ภาคตะวันตก 8 แห่ง เช่น กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมการแพทย์ กรมควบคุมโรค คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัย เอกชน และอื่นๆ
ข้อมูลสะสมตั้งแต่วันที่เริ่มเปิดบริการ เมื่อวันที่ 4 เมษายน – วันที่ 18 กันยายน มีจำนวนตัวอย่างที่ได้รับการตรวจโควิด-19 ด้วยวิธีมาตรฐาน RT-PCR รวมทั้งสิ้น 948,161 ตัวอย่าง คิดเป็น 14,237 ตัวอย่างต่อประชากร 1 ล้านคน โดยพบผู้ติดเชื้อจำนวน 3,497 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.37 และผลการตรวจหาเชื้อโควิด-19 รายสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 12-18 กันยายน รวม 7 วัน ทำการตรวจไปทั้งสิ้น 27,795 ตัวอย่าง
จำนวนคนไทยและชาวต่างชาติ ในสถานกักกันโรคที่ราชการกำหนดทั้งส่วนกลางและส่วนจังหวัด (Quarantine Facilities) ข้อมูลเมื่อวันที่ 22 กันยายน รวมสะสม 78,404 ราย พบผู้ติดเชื้อ 573 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.73 ประเทศที่เดินทางเข้ามาจำนวนสูงที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.มาเลเซีย (ผ่านพรมแดน) จำนวน 23,497 ราย ติดเชื้อ 1 ราย 2.สหรัฐอเมริกา จำนวน 7,725 ราย ติดเชื้อ 53 ราย 3.ไต้หวัน จำนวน 4,851 ราย ติดเชื้อ 1 ราย 4.ญี่ปุ่น จำนวน 3,828 ราย ติดเชื้อ 10 ราย และ 5.อินเดีย จำนวน 3,653 ราย ติดเชื้อ 6 ราย
โดยประเทศที่พบผู้ติดเชื้อในอัตราสูงที่สุดเมื่อเทียบกับจำนวนผู้เดินทาง 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.เซอร์เบีย ผู้เดินทาง 3 ราย ติดเชื้อ 1 ราย 2.โมร็อกโก ผู้เดินทาง 15 ราย ติดเชื้อ 3 ราย 3.ซูดานใต้ ผู้เดินทาง 11 ราย ติดเชื้อ 2 ราย 4.เยเมน ผู้เดินทาง 38 ราย ติดเชื้อ 6 ราย และ 5.คูเวต ผู้เดินทาง 293 รายติดเชื้อ 46 ราย