สธ.คาดคนไทยอาจติดโควิด-19 แล้วกว่า 6 พันราย

สธ.คาดคนไทยอาจติดโควิด-19 แล้วกว่า 6 พันราย ย้ำตรวจพบ-ควบคุมไว สกัดระบาดรอบสอง

วันนี้ (2 ตุลาคม 2563) ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค รายงานสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ว่า สถานการณ์ทั่วโลกยังพบการระบาดที่ยังไม่มีแนวโน้มจะลดลง นักวิชาการหลายฝ่ายคาดว่าจะมีผู้ป่วยจริงมากกว่า 100 ล้านราย ซึ่งประเทศไทยที่พบผู้ป่วยในระบบกว่า 3,000 ราย ก็คาดว่าจะมีผู้ป่วยมากกว่าการรายงานเล็กน้อย ประมาณ 6,000 ราย

นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา ประเทศไทยสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ดี เพราะมีทีมสอบสวนโรคที่เร็ว มีการคัดกรองผู้เดินทางรวดเร็ว รวมถึงการใช้วิชาการนำการตัดสินใจ ส่วนในต่างประเทศพบว่า มีหลายประเทศทางยุโรปกลับมาพบการระบาดระลอกใหม่ เช่น สเปน ฝรั่งเศส อังกฤษ ฯลฯ ซึ่งในประเทศอิสราเอล มีข้อสังเกต คือ เป็นประเทศแรกๆ ที่เข้มข้นในการจำกัดผู้เดินทางเข้าประเทศ แต่ขณะนี้พบว่ามีผู้ป่วยจำนวนมากกว่า 253,000 ราย ดังนั้น การป้องกันโรคภายในประเทศยังเป็นสิ่งสำคัญ

นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า ปัจจุบันการระบาดของเมียนมา จากแถบชายแดนฝั่งตะวันตกที่ติดกับอินเดีย บังคลาเทศ ขณะนี้เริ่มคืบคลานมาฝั่งตะวันออกมากขึ้น และเปลี่ยนพื้นที่พบผู้ป่วยใหม่จำนวนมากจากรัฐยะไข่ เป็นเมืองย่างกุ้ง โดยเมืองอื่นเริ่มพบผู้ป่วย เช่น เมืองมอญ ที่มีพื้นที่ชายแดนติดกับประเทศไทย ดังนั้น การเข้มงวดในการค้นหาผู้ลักลอบเข้าเมืองให้มีน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ เป็นเรื่องที่สำคัญและทุกคนต้องช่วยกันสอดส่องดูแลได้

Advertisement

“การระบาดระลอกสอง ยังไม่เกิดขึ้นในประเทศไทย โดยเราพบผู้ติดเชื้อในประเทศคนล่าสุดเมื่อวันที่ 3 กันยายน ซึ่งขณะนี้ครบ 1 เดือนแล้ว ดังนั้นการระบาดระลอกสองไม่ใช่เรื่องที่จะเกิด เพราะมันจะเกิดขึ้น แต่เกิดจากเมื่อไรก็ตามที่เราประมาท และไม่ดำเนินการป้องกันโรคได้อย่างที่ต้องทำ การระบาดระลอกสองไม่จำเป็นต้องใหญ่กว่าหรือเล็กกว่าระลอกแรก ซึ่งขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของระบบสาธารณสุข ความร่วมมือของประชาชน ในการป้องกันโรค โอกาสที่มีการระบาดระลอกสองก็จะต่ำ และหากเกิดก็จะมีน้อยมาก” นพ.ธนรักษ์ กล่าว

นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า แม้ว่าประเทศไทยไม่พบผู้ป่วยใหม่ในประเทศ ไม่ได้แปลว่าโควิด-19 ทำร้ายคนไม่ได้ แต่ความเป็นจริงโควิด-19 ยังส่งผลกระทบกับคนไทยอยู่ ไม่ว่าจะเป็นวิถีชีวิต เศรษฐกิจ รายได้ รวมถึงโควิด-19 กำลังส่งผลต่อสุขภาพคนไทยทางอ้อม การที่คนไทยรายได้น้อยลง จนลงแบบฉับพลัน ก็ส่งผลกระทบทางอ้อมต่อสุขภาพเช่นกัน ดังนั้น การไม่เจอโควิด-19 ในประเทศ ไม่ได้หมายความว่าเราไม่ได้รับผลกระทบทางสุขภาพจากโควิด-19 ซึ่ง สธ.กำลังจะปรับแนวคิดในการปฏิบัติ เป้าหมายของเราไม่ใช่ป้องกันไม่ให้พบผู้ป่วยรายใหม่เกิดขึ้นเลย แต่หลักคิดคือ ต้องตรวจพบผู้ป่วยรายใหม่ให้ได้โดยเร็ว และควบคุมการระบาดให้ได้ ไม่เกิดการภาวะวิกฤต

“สิ่งที่ต้องส่งเสริมคือ ความสมดุลระหว่างสุขภาพ วิถีชีวิต วิถีทางสังคมและเศรษฐกิจ ซึ่งการตรวจพบผู้ป่วยให้ได้โดยเร็วจึงมีความสำคัญ ยิ่งตรวจพบได้เร็ว ประสิทธิผลของการป้องกันป้องกันโรคจะยิ่งดี ยิ่งตรวจได้ช้า โอกาสของการควบคุมโรคได้อย่างทันท่วงทีก็จะลดลง ผลวิจัยต่างประเทศพบว่า หากเราตรวจเจอผู้ป่วยได้เร็ว การใช้มาตรการทางสาธารณสุขเพียงอย่างเดียวจะมีประสิทธิภาพในการควบคุมโรค ร้อยละ 80 แต่ถ้าล่าช้าไป 3 วัน ประสิทธิภาพจะลดลงครึ่งหนึ่งเหลือเพียงร้อยละ 42 และถ้าล่าช้าไป 7 วัน คือ ผู้ป่วยป่วยมา 7 วันแล้วเพิ่งมาเจอว่าป่วย ประสิทธิภาพในการใช้มาตรการด้านสาธารณสุขจะลดเหลือแค่ร้อยละ 5 ดังนั้น การตรวจพบผู้ป่วยและควบคุมได้โดยเร็ว มีผลโดยตรงกับประสิทธิภาพกับความสามารถในการชะลอการแพร่ระบาดและจำนวนผู้ป่วย” นพ.ธนรักษ์ กล่าว

นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า สิ่งสำคัญคือ การใช้แอพพลิเคชั่นในมือถือเป็นเครื่องมือในการติดตามสอบสวนโรค เช่น หมอชนะ ไทยชนะ สามารถเช็กอินเวลาไปในสถานที่ต่างๆ ขณะนี้สิ่งที่จะช่วยเหลือคนไทยด้วยกันได้คือ การกินของไทย ใช้ของไทย และเที่ยวเมืองไทย เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ และขอให้ทุกคนใช้ชีวิตอย่างมีสติ เพื่อประคับประคองสถานการณ์ของเราได้ดีต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image