สธ.เผยวัคซีน mRNA จุฬาฯ เทียบเคียงไฟเซอร์ ไทยเริ่มวิจัยในคน ม.ค.64 แน่นอน

สธ.เผยวัคซีน mRNA จุฬาฯ เทียบเคียง ไฟเซอร์ ไทยเริ่มวิจัยในคน ม.ค.64 แน่นอน

เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วย นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ และ พญ.สุชาดา เจียมศิริ ผู้อำนวยการกองโรคป้องกันด้วยวัคซีน ร่วมแถลงความคืบหน้าการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19

นพ.นคร แถลงว่า กรณีบริษัท ไฟเซอร์ อิงค์ ของสหรัฐอเมริกา และไบโอเอ็นเทค เยอรมนี ออกมาเปิดเผยความสำเร็จในการผลิตวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคมากกว่า ร้อยละ 90 นั้น ความสำเร็จดังกล่าวเป็นการทดลองประสิทธิภาพการป้องกันโรค ซึ่งได้ทดลองในอาสาสมัครไปแล้วกว่า 38,000 ราย จากทั้งหมดกว่า 43,000 ราย และทดลองมาในระยะ 2 เดือน

“อย่างไรก็ตาม ถือเป็นข่าวดี ซึ่งสะท้อนได้ดังนี้ 1.ความสำเร็จครั้งนี้ย่อมเป็นความหวังว่าจะได้ใช้วัคซีนในระยะเวลาใกล้นี้ ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทวัคซีนที่ทดลองในมนุษย์ 11 บริษัท และทดลองวัคซีนในรูปแบบกระตุ้นภุมิคุ้มกันเพื่อป้องกันเชื้อเหมือนกัน 2.การทดลองวัคซีนของไฟเซอร์ เป็นชนิด mRNA ซึ่งก็ถือว่าทำให้มีความหวังมาก เพราะจริงๆ แล้วองค์การอนามัยโลก ระบุว่าวัคซีนที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคมากกว่า ร้อยละ 50 ก็ถือว่าใช้ได้แล้ว แต่กรณีไฟเซอร์มีประสิทธิภาพถึงร้อยละ 90 และด้วยเป็นชนิด mRNA ซึ่งไทยโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อยู่ระหว่างพัฒนาก็เป็นชนิด mRNA เช่นกัน ดังนั้น จึงถือว่ามาถูกทาง ซึ่งของจุฬาฯ วางแผนวิจัยในมนุษย์ช่วงเดือนมกราคม 2564” ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนฯ กล่าว

นพ.นคร กล่าวว่า 3.วัคซีนนี้มีความปลอดภัย เนื่องจากการทดลองในอาสาสมัครทั้งหมด 43,000 ราย และได้รับวัคซีนไปแล้ว 38,000 ราย ซึ่งจำนวนอาสาสมัครเป็นหมื่นๆ คน ที่ได้รับวัคซีนไปแล้วนั้น ถือว่าปลอดภัย แต่เพื่อความมั่นใจมากขึ้นก็ต้องติดตามในอาสาสมัครอื่นๆจนครบต่อไป 4.หลังจากนี้ไฟเซอร์ก็ต้องมีการติดตามผลต่อเนื่อง จากนั้นจึงจะขอยื่นขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ของสหรัฐ ก็ต้องขึ้นอยู่กับ อย.สหรัฐว่า จะให้ขึ้นทะเบียนให้ใช้ได้ในภาวะฉุกเฉินหรือไม่ หรือต้องขอข้อมูลเพิ่มเติม เพราะยังต้องติดตามว่า ประสิทธิภาพการป้องกัน หรือภูมิคุ้มกันอาจลดลงหรือไม่ เนื่องจากข้อมูลของไฟเซอร์ทดลองในระยะเวลา 2 เดือน ดังนั้น ต้องติดตามว่า เมื่อเวลาผ่านพ้นไปอาจมีเหตุการณ์ที่ทำให้ภูมิลดลงก็เป็นได้ว่า ประสิทธิภาพร้อยละ 90 จะลดลง หรือจำนวนเข็มที่ฉีดจำเป็นต้องฉีดกระตุ้นอีกหรือไม่

Advertisement

“5.การที่ไฟเซอร์ประกาศว่า วัคซีนมีประสิทธิภาพร้อยละ 90 นั้น อาจนำไปสู่การค้นพบภูมิคุ้มกัน ที่เป็นตัวกำหนดในการป้องกันโรคก็เป็นได้ ซึ่งเรื่องนี้ก็ต้องติดตามว่า จะเป็นอย่างไรต่อไป อย่างไรก็ตาม ก่อนที่ทางไฟเซอร์จะประกาศประสิทธิภาพของวัคซีนนั้น ได้มีการนัดล่วงหน้าหารือกับทางไทยเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน ซึ่งจะมีการหารือกันในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนนี้ โดยทางเราจะขอข้อมูลเชิงลึกกับทางไฟเซอร์ เพื่อประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบายของไทยกับไฟเซอร์ด้วย” นพ.นคร กล่าว

ด้าน พญ.สุชาดา กล่าวว่า ขณะนี้ทางกรมควบคุมโรค อยู่ระหว่างการจัดเรียงความสำคัญกลุ่มเสี่ยงที่ต้องได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในกรณีมีวัคซีนแล้ว ซึ่งแน่นอนว่า กลุ่มแรกที่จะได้รับ คือ บุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเสี่ยง ส่วนกลุ่มอื่นๆ อยู่ระหว่างการพิจารณา ซึ่งต้องมีข้อมูลทั้งอัตราการป่วย อัตราการเสียชีวิต โดยจะนำข้อมูลจากต่างประเทศมาประกอบ คาดว่าทั้งหมดจะชัดเจนภายในสิ้นเดือนธันวาคมนี้ จากนั้นจึงจะเสนอต่อคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติพิจารณาต่อไป

 

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image