‘เศรษฐา’ ชี้วัคซีนโควิด-19 อย่ารอแต่การผลิตจากต่างชาติ ควรหนุนคนไทยผลิตใช้เองด้วย

‘เศรษฐา’ ชี้วัคซีนโควิด-19 อย่ารอแต่การผลิตจากต่างชาติ ควรหนุนคนไทยผลิตใช้เองด้วย

นายเศรษฐา ทวีสิน กรรมการผู้จัดการใหญ่ของบริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นการผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 ว่าไม่ควรที่จะรอแต่การผลิตจากต่างชาติเท่านั้น แต่ควรสนับสนุนการผลิตวัคซีนโควิดของไทยควบคู่ไปด้วย เชื่อว่านักวิจัย แพทย์ นักวิทยาศาสตร์ของไทยนั้นมีฝีมือไม่แพ้กัน

นายเศรษฐา ระบุว่า ช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนข่าวหนึ่งที่พอจะสร้างความหวังให้คนอย่างเราๆ ในช่วงเวลายากลำบากนี้ก็คือเรื่องของวัคซีนโควิดจากบริษัทยายักษ์ใหญ่ 2-3 แห่งที่เริ่มทำการทดลองกับสัตว์และได้ผลเป็นที่น่าพอใจในระดับหนึ่ง และมีอีกหลายรายที่ว่ากันว่าอยู่ในกระบวนการทดลองและปรับสูตร แต่ข่าวดีนี้ก็ตามมาด้วยข่าวดับฝันที่บอกว่าชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐหรืออังกฤษ ได้ทำการจองซื้อวัคซีนที่กำลังพัฒนาใกล้เสร็จ 6,400 ล้านโดสแรกเรียบร้อยกันไปแล้ว เรียกว่าจองกันก่อนที่ยาจริงจะออกมาเสียอีก รวมทั้งอีกกว่า 3,200 ล้านโดสที่กำลังจะตามมาแต่ก็ให้สิทธิ์กับคนที่ซื้อล็อตแรกจองได้ก่อนคนอื่น

เราลองคำณวนดูเล่นๆ นะครับ จากตัวเลขคาดการณ์ผลิตที่ทาง Pfizer เค้าบอกว่าน่าจะผลิตวัคซีนได้ 50 ล้านโดสในปลายปีนี้และปีหน้าได้อีก 1,300 ล้านโดส โดยต้องฉีด 2 โดสต่อคนเพื่อให้ป้องกันโรคนี้ได้ เทียบกับตัวเลข 9,600 ล้านโดสที่ถูกจองล่วงหน้าไปแล้ว ลองบวกลบคูณหารกันเองแล้วกันครับว่าประเทศอื่นๆ อย่างไทยเราคงต้องรอกันไม่รู้ว่ากี่ปีกว่าจะได้วัคซีนนี้มา แม้รัฐบาลจะกันเงินเอาไว้ 6 พันล้านเพื่อเตรียมซื้อวัคซีนก็ไม่รู้ว่าจะมีเหลือขายให้เราหรือเปล่าในอีก 1-2 ปีข้างหน้านี้

“วิกฤติโควิด19 ครั้งนี้ก็เป็นอีกครั้งที่แสดงให้เห็นถึงความเหลี่อมล้ำในระดับโลก ซึ่งเรื่องนี้เองแม้กระทั่งองค์กรที่ดูแลเรื่องสาธารณสุขระดับโลกอย่าง WHO ยังทำอะไรไม่ได้ ซึ่งถ้าผลกระทบของโควิด 19 ต่อเศรษฐกิจมันรุนแรง ประเทศไทยเราเองจะรอวัคซีนได้หรือ นโยบายต่างๆ ที่ทางรัฐบาลงัดมากระตุ้นก็ได้ผลไม่เต็มที่ มีการชักเข้าชักออกยกตัวอย่าง travel bubble ที่ไม่ชัดเจนบ้าง แจกเงินบ้าง แต่ก็ดูเหมือนไม่ได้ผลเท่าไหร่ วัคซีนที่ต่างชาติผลิตได้เค้าไม่มองเราเป็นตัวเลือกแรกๆ ที่จะให้ซื้อและเข้าถึงได้หรอก ดังนั้นทางเลือกเดียวที่ประเทศไทยเราจะได้มีโอกาสใช้วัคซีนนี้ในเร็ววัน ก็คือต้องไม่รอยืมจมูกคนอื่นหายใจ เราต้องพยายามผลิตเองด้วยให้ได้เป็นทางเลือก”

Advertisement

วัคซีนโควิดถ้าสามารถผลิตในไทยตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยไม่ต้องพึ่งพิงต่างชาติก็น่าจะเป็นหลักประกันทางสุขภาพให้กับประเทศเราได้ ยิ่งผมเชื่อว่านักวิจัย แพทย์ นักวิทยาศาสตร์บ้านเราของสถาบันวิจัยหรือมหาวิทยาลัยใหญ่ๆ ของเราไม่ว่าจะเป็นจุฬา มหิดล ฯลฯ เก่งไม่แพ้ชาติอื่นนะครับ อุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือก็พร้อม และเรามีงานวิจัยที่ประสบความสำเร็จเป็นคนแรกๆ ของโลกไม่น้อย

เหตุผลที่ผมบอกว่าเราควรฝากความหวังกับวัคซีนที่เราผลิตเอง เพราะเราไม่มีทางรู้หรอกครับว่าเจ้าโควิด-19 นี้มันจะกลายพันธ์เป็นสายพันธ์ 20 หรือ 21 หรือ 22 ได้หรือไม่ได้เมื่อไหร่ ถ้าเกิดแบบนั้นขึ้นมารับรองได้ว่าการยืมจมูกคนอื่นหายใจต่อไปเรื่อยๆ รับมือไม่ทันแน่นอน แต่ถ้าเรามีศูนย์ผลิตวัคซีนของเราเองที่ประสบความสำเร็จในสูตรแรก เชื่อได้ว่าเวลาในการพัฒนาวัคซีนสู้กับการกลายพันธุ์ก็จะถูกย่นลงเยอะ

“ดังนั้นสำหรับเรื่องของวัคซีน ผมอยากสนับสนุนให้คนไทยคิดวัคซีนเองได้ เราทุกคนควรช่วยกันสนับสนุน โดยปัญหาอย่างหนึ่งที่ผมคิดว่าสำคัญก็คือเรื่องของการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่จะใช้ในการวิจัย ผมไม่รู้ว่าเงินที่ภาครัฐสนับสนุนหรือแต่ละสถาบันมีมากน้อยแค่ไหน แต่ถ้ามีตัวช่วยอย่างการระดมทุนเพิ่มเติม ผมว่าจะเป็นเรื่องดีมากๆ”

Advertisement

ส่วนอีกเรื่องที่อยากชี้ให้เห็นก็คือ แม้เราจะสามารถระดมทุนและผลิตวัคซีนเพื่อป้องกันโควิด 19 หรือ 20 หรือ 21 ได้แล้วก็ตาม ยังเร็วเกินไปที่เราจะสามารถบอกผลกระทบทางสุขภาพระยะยาวของวัคซีนเพราะระยะเวลาในการทดสอบทดลองก็สั้นมาก ทุกคนทุกค่ายต่างก็เร่งกันค้นคว้าและผลิตออกมา ผลของวัคซีนล็อตแรกที่บอกว่าได้ผลที่ 95% ก็ยังไม่เป็นอะไรที่การันตีว่าจะขจัดไวรัสตัวนี้ได้หมด เพราะขึ้นอยู่กับโครโมโซมของผู้รับวัคซีนแต่ละคนอีก อีกทั้งเชื้อตัวแรกนี้ยังป้องกันไม่ได้ 100% เกิดกลายพันธุ์ขึ้นมาเป็นสายพันธุ์ใหม่อาจเหลือได้ผลแค่ 60% ก็ได้ใครจะรู้ ผมว่าก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ ดังนั้นสำหรับรัฐบาลแล้ว วัคซีน อาจไม่ใช่คำตอบสุดท้ายที่มองหา

การปรับตัว ปรับมาตรการต่างๆ แบบควบคุมความเสี่ยงต่างหากที่รัฐบาลควรรีบลงมือครับ อย่างการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวเข้ามา ถกเถียงกันไปมาแต่ไม่ลงมือทำ ผมว่าเราทำได้แบบมีการเซ็ตตัวเลขเป้าหมายที่ชัดเจน เช่นสัดส่วนนักท่องเที่ยวที่เข้ามากับจำนวนคนติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นในระยะเวลาหนึ่ง และต้องมาพร้อมกับมาตรการจัดการที่เป็นรูปธรรม เช่นมีนักท่องเที่ยวเข้ามา 1 แสนคน ในระยะเวลา 1 เดือนหากตัวเลขคนติดเชื้อในประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 100 คนมีมาตรการบางอย่างในการตรวจสอบเพิ่มเติมเพื่อควบคุม หรือถ้าตัวเลขคนติดเชื้อเกินไปเป็น 300 คนก็ปิดประเทศใหม่พร้อมจัดการลดจำนวนคนติดเชื้อลงให้ได้ก่อนก็ค่อยเปิดใหม่ ต้องลองอย่างรัดกุมครับ

ส่วนตัวเองผมเชื่อว่าสถานการณ์ของโควิดนี้เป็นอะไรที่เราต้องอยู่กับมันไปอีกนาน แม้เรามีวัคซีนเป็นของตัวเองก็ต้องมีการวิจัยเพิ่มเติม วิเคราะห์ผลกระทบระยะยาว ปรับปรุงสูตร อันนี้ก็ต้องช่วยกันลุ้นให้เกิดขึ้นให้ได้ เป็นเหมือนการเดินระยะยาว ดังนั้นภาครัฐนั้นมีหน้าที่ที่จะบริหารประเทศ และหานโยบายที่จะเริ่มปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์แบบนี้ไปพร้อมๆ กัน อย่านิ่งเฉยหวังวัคซีนมากู้โลกมันเป็นไปได้ยากครับ เพราะผมเชื่อว่าธรรมชาติยังมีอะไรที่ทำให้เราแปลกใจได้อีกเยอะ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image