ไฟเขียวทุกประเทศเดินทางเข้าไทย ศบค.จ่อพิจารณาลดกักตัว 15 ม.ค.64
วันนี้(17 ธันวาคม) ที่ ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019(โควิด-19)(ศบค.) แถลงผลการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. เป็นประธานการประชุม
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ที่ประชุม ศบค. มีเรื่องพิจารณามีหลายเรื่อง โดยเรื่องที่ 1 การปรับวันตรวจหาเชื้อโควิด-19 สำหรับผู้เข้ารับการกักตัวในสถานกักกันที่ทางราชการกำหนด(Quarantine) จากเดิมที่มีการตรวจหาเชื้อ 2 ครั้ง โดยครั้งที่ 1 วันที่ 1-3 และ ครั้งที่ 2 วันที่ 11-15 ของการกักตัว เป็นตรวจ 3 ครั้ง คือ ครั้งที่ 1 วันที่ 0 ครั้งที่ 2 วันที่ 9-10 และครั้งที่ 3 วันที่ 13-14 ของการกักตัว และจากที่มีการขอให้ลดจำนวนวันกักตัวลง แต่เนื่องจากข้อมูลตอนนี้ยังไม่ชัดเจน จึงคงให้กักตัวที่ 14 วันเช่นเดิม
“หากเราอยากลดจำนวนกักตัวเหลือ 10 วัน เราต้องดีไซน์การตรวจใหม่เป็นการตรวจ 3 ครั้ง คือวันแรกที่เข้า วันที่ 9-10 ดักหัวกับท้าย จะเจอเชื้อวันที่ 5-8 ก็ไม่เป็นไร และตรวจอีกทีวันที่ 13-14 ของการกักตัว เพื่อจะได้มาซึ่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ ซึ่งได้ดำเนินไปแล้วตั้งแต่วันที่ 1-31 ธันวาคม และจะประเมินผลและวิเคราะห์ในช่วงวันที่ 1-15 มกราคม 2564 เพื่อนำข้อมูลชุดนี้นำไปสู่การพิจารณาว่าจะได้ปรับวันหรือไม่ และมอบหมายให้ สธ. พิจารณาแนวทางลดค่าใช้จ่ายในการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ของรพ.เอกชน ที่เป็นคู่สัญญากับสถานกักกันโรคทางเลือก(Alternatives State Quarantine) เนื่องจากค่าใช้จ่ายมีความแตกต่างกัน ทั้งนี้ให้ สธ. ขอรับการสนับสนุนงบประมาณกลาง” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวต่อว่า เรื่องที่ 2 การปรับหลักเกณฑ์อนุญาตให้เรือยอร์ชเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร ขยายระยะเวลาการอนุญาตวีซ่าในกลุ่มนักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ (Special Tourist Visa :STV) เพิ่มเติมอีก 30 วัน เนื่องจากยังคงใช้การกักตัวที่ 14 วัน จึงมีการยืดระยะเวลาการอนุญาตวีซ่าออกไป และ ยกเลิกหลักเกณฑ์ประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำหรือความเสี่ยงปานกลาง โดยอนุญาตให้เข้ามาได้ทุกประเทศแต่จะต้องได้รับการกักกันตัวอย่างถูกต้อง เรื่องที่ 3 พิจารณาขยายเวลาวันที่กำหนดให้เดินทางเข้าประเทศไทยตาม(Certificate of Entry:CoE) อย่างน้อย 24 ชั่วโมงแต่ไม่เกิน 72 ชั่วโมง เพื่อไม่ต้องไปขอ CoE ใหม่ เพราะบางครั้งเมื่อขอมาแล้วแต่ไม่มีเที่ยวบิน หรือมีปัญหาต่างๆ ทำให้บินเข้าประเทศไม่ทัน จึงมีการขยายระยะเวลาเพิ่มเติม
“โดยเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวได้ไม่เกิน 30 วัน ตามสิทธิ์การยกเว้นการตรวจลงตราประเภท ผ.30 จำนวน 56 ประเทศ/ดินแดน, ประเภท ผผ.30 จำนวน 6 ประเทศ/ดินแดน ได้แก่ ฮ่องกง มาเก๊า มองโกเลีย รัสเซีย ลาวและเวียดนาม, ประเภท ผผ.90 อนุญาตนักท่องเที่ยวเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวได้ไม่เกิน 90 วัน จำนวน 5 ประเทศ/ดินแดน ได้แก่ อาร์เจนตินา บราซิล ชิลี เปรูและเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นความตกลงของทั้งสองฝ่าย” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวต่อว่า กระทรวงมหาดไทยคงมาตรการยกเลิกการอนุญาตให้คนต่างด้าวยื่นขอตรวจลงตราในช่องทางอนุญาตของด่านตรวจคนเข้าเมือง(Visa on Arrival:VOA) ออกไปจนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะคลี่คลายและคงการยกเลิกให้คนต่างด้าวเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว ตามสิทธิ์การยกเว้นการตรวจลงตราได้ไม่เกิน 14 วัน ประเภทผผ.14 สำหรับกัมพูชาและเมียนมา ซึ่งสรุปแล้วคือการเดินทางเข้ามาจะต้องมีการขออนุญาต เรื่องที่ 4 ขยายเวลาการอนุญาตให้พำนักอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพิ่มเติมอีก 15 วันจากเดิม 30 วันที่อนุญาตไปแล้ว ใน 3 ประเภท คือ 1.Transit Visa 2.Tourist Visa และ 3.บุคคลเดินทางเพื่อการประชุมหรือแข่งขันกีฬาระหว่างประเทศ ซึ่งรัฐบาลไทยเป็นเจ้าภาพหรือได้รับความเห็นชอบจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง
“เรื่องที่ 5 อนุญาตให้บริษัทเอกชนนำบุคคลต่างชาติเข้ามาทำงานในราชอาณาจักรโดยได้รับการกักกันในสถานกักกันโรคของหน่วยงาน(Organization Quarantine) บริษัท เอฟพี อินดัสตรี้ จำกัด ขออนุญาตนำช่างชาวเยอรมนี 1-2 ราย เข้ามาทำงานโดยมีการกักกันภายในโรงงานร่วมกับลูกจ้างคนไทยที่ทำงานร่วมกัน 3 รายเป็นเวลา 10 วัน วันละ 6 ชั่วโมง ถือว่า 10 วันนี้เป็นการกักกันโรคไปพร้อมกับทำงาน ซึ่งหากเจอเชื้อในระหว่างนี้จะต้องมีการหยุดงานทันที
และเมื่อช่างต่างชาติกลับไปแล้ว ลูกจ้างคนไทยจะต้องกักตัวเพิ่มอีก 14 วัน เป็นรูปแบบใหม่ของชีวิตวิถีใหม่” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว
ทั้งนี้ นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า เรื่องที่ 6 การจัดแข่งขันกอล์ฟฮอนด้า เอลพีจีเอ ประเทศไทย ระหว่างวันที่ 3-9 พฤษภาคม 2564 ใน จ.ชลบุรี โดยเป็นการกิจกรรมนักกอล์ฟหญิงจากทั่วโลกมาแข่งขันร่วมกัน ทาง ศบค. เห็นชอบในหลักการให้จัดแข่งขันได้ โดยจะต้องจำกัดจำนวนผู้เข้าชมแต่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์การระบาดในช่วงเวลานั้น นอกจากนี้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมได้แจ้งว่า แอพพลิเคชั่นไทยแลนด์พลัส สำหรับเจ้าหน้าที่และผู้เดินทางเข้าประเทศ จะพร้อมใช้ในเดือนมกราคม 2564 รองรับใน 3 ภาษา ไทย จีน และอังกฤษ สามารถเชื่อมโยงข้อมูลกับกำไลข้อมือติดตามตัว และแอพพ์ฯ ไทยชนะ
“ท่านปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้รายงานว่า มีกองทุนจากการบริจาค จำนวน 28 ล้านบาท สำหรับเจ้าหน้าที่ที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติงานด้านโควิด-19 มีการใช้ไปในบุคลากรสาธารณสุขและอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) ไปแล้ว 101 ราย เป็นเงินราว 3 ล้านบาท สำหรับหน้ากากอนามัย ประเทศไทยมี 32 โรงงานที่ผลิตได้และมีกำลังผลิต 4.7 ล้านชิ้นต่อวัน ซึ่งทำให้ภาวะขาดแคลนน้อยลง” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว