ศปค.สธ. ขอความร่วมมือ 8 จังหวัด-กทม. ปิดผับ-ร้านอาหาร ให้ซื้อกลับบ้าน

ศปค.สธ. ขอความร่วมมือ 8 จังหวัด-กทม. ปิดสถานบันเทิง-ร้านอาหาร บริการให้ซื้อกลับบ้าน

เมื่อวันที่ 1 มกราคม ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. กล่าวว่า เช้าวันนี้ในการประชุมศูนย์ปฏิบัติการสถานการณ์ฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขกรณีโรคโควิด-19 (ศปค.สธ.) โดย นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. ได้นำเสนอข้อมูลและรับฟังมาตรการต่างๆ ทั้งเรื่องการระบาด การรองรับ การดูแล การทำรายงานผลรวมถึงห้องปฏิบัติการ (แล็บ)

นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า สิ่งที่ได้พูดคุยกันคือ ตอนนี้น่าจะมีการขอความร่วมมือกับทางจังหวัด โดยนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) รับคำสั่งจากปลัด สธ. เพื่อไปสื่อสารกับจังหวัดดำเนินการมาตรการเข้มในพื้นที่ 9 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (กทม.) สมุทรสาคร สมุทรปราการ สมุทรสงคราม นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี ชลบุรี และระยอง

ใน 8 จังหวัดบวก กทม. ขอให้มีการปิดสถานบันเทิง ร้านอาหาร ขอให้ซื้ออาหารและนำกลับไปรับประทานที่บ้าน เนื่องมีการพบปะกัน ละอองฝอยน้ำลายทำให้ติดเชื้อ จึงลดการพบปะกันให้มากที่สุด และให้ทุกจังหวัดเฝ้าระวังเชิงรุกในกลุ่มของผู้เดินทางมาจากพื้นที่ระบาด ไม่ว่าจะเป็นสมุทรสาคร ชลบุรี จันทบุรี ระยอง กทม.และปริมณฑล รวมทั้งตรวจค้นหากลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสติดเชื้อได้ในทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดที่มีนักท่องเที่ยวไปจำนวนมากในช่วงปีใหม่ พร้อมกำชับนายจ้างที่มีแรงงานต่างชาติ ให้ลดการเคลื่อนย้ายให้มากที่สุด” นพ.ทวีศิลป์กล่าว

นพ.ทวีศิลป์กล่าวอีกว่า ในข่าวร้ายก็มีข่าวดีเรื่องวัคซีน ที่มีข่าวว่าจะเข้ามาในประเทศไทยเร็วขึ้น ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ เป็นสิ่งที่รัฐบาลพยายามอย่างเต็มที่ ขณะที่การประเมินตัวเลขผู้ป่วยหลังปีใหม่ เมื่อมีกราฟที่พุ่งขึ้นไปจะต้องใช้เวลา ดังนั้น หากพรุ่งนี้อาจจะลดลง แต่วันต่อไปอาจเพิ่มขึ้นได้ จากที่เรียนรู้กันร่วมปีว่าอย่าเพิ่งคิดว่ามันจะลดลงเร็วขึ้น ให้วางไว้ที่ 1-2 สัปดาห์ ตามที่นักวิชาการบอกว่ากลางเดือนมกราคมนี้ เพียงแต่ว่าจะพุ่งชันหรือเอียงลง ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของประชาชน

Advertisement

“วันนี้เราทำความสะอาด จะส่งผลความดีอยู่ที่กลางเดือนหน้า ส่วนระบบการรายงานผู้ป่วยที่ยังรออยู่นั้น ปลัด สธ. ได้พูดถึงการสอบสวนโรค คงต้องเป็นบทบาทหน้าที่ที่ออกแบบไว้อยู่ที่จังหวัด ต้องเร่งมือ ตั้งทีมลงไปสอบสวนโรค แต่มีข้อจำกัดเรื่องความเชี่ยวชาญ และความร่วมมือของประชาชนที่ติดเชื้อ ต้องบอกรายละเอียด เพื่อให้ใช้เวลาสั้นลง ดังนั้น 2 อย่างนี้มีความสำคัญกับไทมิ่งด้วย” นพ.ทวีศิลป์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image