หมอธีระชี้ ไม่ล็อกดาวน์ทั้งประเทศ สถานการณ์หนักเท่าญี่ปุ่น ‘หมอโอภาส’ ย้ำ โควิดรอบนี้ไม่เหมือนเดิม

หมอธีระชี้ ไม่ล็อกดาวน์ทั้งประเทศ สถานการณ์หนักเท่าญี่ปุ่น ‘หมอโอภาส’ ย้ำ โควิดรอบนี้ไม่เหมือนเดิม ติงคนไข้ไม่บอกประวัติเสี่ยง

เมื่อวันที่ 3 มกราคม รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ในปัจจุบันว่า ถ้าไม่ล็อกดาวน์ทั้งประเทศภายในสัปดาห์หน้า ลำบากระยะยาว คงต้องเลือกเอาว่าจะทน 4 สัปดาห์ หรือจะเป็นแบบญี่ปุ่น

อย่างไรก็ตาม รศ.นพ.ธีระได้อธิบายถึงสถานการณ์ในปะเทศญี่ปุ่นว่า ญี่ปุ่นเผชิญการระบาดระลอกสามด้วยการมียอดติดเชื้อสูงสุดต่อวันมากกว่าระลอกแรกถึง 8 เท่า โดยถือว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยของการระบาดซ้ำของทั่วโลก ปัจจัยที่มีอิทธิพลมากคือเรื่องการดำเนินมาตรการเข้มข้นที่ไม่เพียงพอและไม่ทันเวลา ตอนนี้อัตราตายเฉลี่ย 1.5% สูงกว่าไทยราว 1.6 เท่า

ด้าน ผศ.นพ.โอภาส พุทธเจริญ หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ทางคลินิก รพ.จุฬาลงกรณ์ ระบุว่า โควิด-19 รอบนี้ไม่เหมือนเดิม พร้อมอธิบายว่าา Walking spreader รอบนี้คนไข้ไม่เหมือนเดิม 1.เชื้อแบ่งตัวได้ดีในจมูกและทางเดินหายใจ คนไม่มีอาการจะมีเชื้อในจมูกเยอะมากพร้อมที่จะแพร่กระจายเป็นวงกว้างเวลาไอ จาม หรือพูด ในรูปภาพซ้าย ภาพถ่ายปอดผู้ที่ติดเชื้อที่ไม่มีอาการเลย เดินไปเดินมา ใช้ชีวิตเหมือนคนปกติ แต่เชื้อในจมูกค่า CT (cycle threshold) จากเครื่อง PCR บอกว่ามีปริมาณเชื้อในจมูกสูงมากเมื่อเทียบกับคนไข้ที่เคยเห็นในระลอกแรก ดังนั้น ถ้าไม่ได้มาตรวจก็แพร่กระจายเชื้อสู่คนอื่นได้อีกมาก

Advertisement

ผศ.นพ.โอภาสกล่าวว่า 2.รูปขวา-เราเริ่มเห็นคนมีอาการไข้หวัดหรือปอดอักเสบมาที่โรงพยาบาล แต่ไม่ยอมบอกประวัติความเสี่ยง เพื่อปกปิดการเดินทาง แพทย์อาจไม่ได้ส่งตรวจหาโควิด เพราะคิดว่าเป็นปอดอักเสบจากเชื้ออื่นที่พบได้บ่อยกว่า ดังนั้น ถ้ามีประวัติไปที่เสี่ยงต้องแจ้งแพทย์เสมอ เพื่อแยกออกไปจากคนไข้คนอื่นที่มีโอกาสติดแล้วมีอาการรุนแรง หรืออาจติดต่อไปยังหมอและพยาบาล

“เมื่อวานมีคนไข้เป็นปอดอักเสบมาตรวจ แต่ไม่ยอมบอกประวัติความเสี่ยง แต่แพทย์เห็นฟิล์มผิดปกติเหมือนปอดอักเสบจากไวรัสเลยส่งตรวจโควิดและตรวจเจอเชื้อ พอเค้นซักประวัติอีกรอบถึงยอมรับว่าไปบ่อนมา ซึ่งเป็นบ่อนในกรุงเทพฯนี่เอง โชคดีที่ดักเคสนี้ได้เร็ว วินิจฉัยได้เร็ว การไม่บอกประวัติเสี่ยงอาจทำให้บุคลากรทางการแพทย์อาจติดโควิด เพราะในบางครั้งถ้าการดูแลรักษาอาจต้องใช้การพ่นยาการใช้ออกซิเจนทำให้เชื้อกระจายฟุ้งในโรงพยาบาล โรงพยาบาลอาจจะขาดกำลังแพทย์พยาบาลเพื่อรักษาคนไข้อื่น” ผศ.นพ.โอภาสกล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image