ศบค.แจงแล้ว มือถือรองรับ จงใจไม่โหลด ‘หมอชนะ’ พบติดเชื้อ เข้าข่ายปกปิด

แฟ้มภาพ

จากการที่ประชาชนทดลองประเมินสุขภาพตนเองในแอพพลิเคชั่นหมอชนะ โดยประเมินความเสี่ยงในการติดโควิด-19 สูงสุด แต่ปรากฏว่าแอพพ์แจ้งว่า ไม่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ

เมื่อวันที่ 8 มกราคม ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า หมอชนะเป็นเครื่องมือติดตามตัวเพื่อให้ง่ายต่อการสอบสวนโรค คล้ายเป็นพาสปอร์ตผ่านพื้นที่ง่ายขึ้น สร้างความมั่นใจมากขึ้นว่าเป็นการแสดงตัวตน กรณีข้อสังเกตทั้งการเก็บข้อมูลว่ามีความลับหรือไม่ จะเปิดเผยอย่างไร ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือกระทรวงดิจิทัลฯ เป็นผู้อธิบายรายละเอียดของแอพพ์

นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ทั้งนี้ ตนสามารถพูดในหลักการได้ว่า ในข้อกำหนดของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฉบับที่ 16 สาระสำคัญในข้อ 6 คือให้ประชาชนงด และชะลอการเดินทางข้ามจังหวัด เว้นแต่เหตุจำเป็น ต้องแสดงหลักฐานต่อเจ้าหน้าที่ ดังนั้น สิ่งที่จะเป็นหลักฐานจึงมีความจำเป็นออกข้อกำหนดฉบับที่ 17 ออกมา ที่กล่าวถึงการยกระดับพื้นที่ พร้อมมีการใช้แอพพ์หมอชนะ ใช้คัดกรองผู้เดินทางและแสดงเหตุผลการเดินทาง

อ่านข่าว : มีผลวันนี้! ฝ่าฝืนปรับ 4 หมื่น-จำคุก 2 ปี ยกระดับคุมเข้มสูงสุด 5 จังหวัด
‘พุทธิพงษ์’ ยัน ไม่โหลดหมอชนะ ไม่ผิดกม. ยันคนใช้ได้ประโยชน์ ไม่มีเก็บข้อมูลส่วนตัว

Advertisement

“เมื่อวานนี้มีความคลาดเคลื่อนทางการสื่อสาร วันนี้ก็จะสร้างความชัดเจน คือเรื่องของโทษในข้อที่ 4 ในฉบับที่ 17 คือ 1.ติดเชื้อ 2.ปกปิดข้อมูล หากมีผู้ติดเชื้อ แต่เราเห็นว่ามีหมอชนะอยู่ ก็สามารถเข้าไปค้นดูข้อมูลได้ ซึ่งก็ไม่เป็นความผิด แต่หากติดเชื้อมาแล้วแต่จงใจปิดข้อมูล ขอเปิดดูและไม่มีหมอชนะ แต่เจ้าหน้าที่เห็นว่าอยู่ในวิสัยที่ตนเองมีโทรศัพท์ เช่นนี้ก็เป็นอุปสรรคในการสอบสวนโรค อาจเข้าข่ายฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ซึ่งเป็นความผิดใน พ.ร.บ.โรคติดต่อ” นพ.ทวีศิลป์กล่าว

นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ตนพยายามสื่อสาร อยากเชิญชวนทุกท่านเข้ามาโดยไม่ต้องบังคับ โดยวันนี้มียอดดาวโหลดแอพพ์หมอชนะมากกว่า 2 ล้านครั้ง จึงอยากขอบคุณประชาชนที่เข้าใจและปฏิบัติตามในช่วงวิกฤตเช่นนี้ ทำไมถึงอยากให้ใช้หมอชนะ เพราะเกิดเหตุแต่ผู้ติดเชื้อไม่บอกข้อมูล ขณะที่หมอชนะช่วยเก็บข้อมูลการเดินทาง ช่วยหมอทำงาน ลดเวลาทำงาน และไม่โหลดไม่ผิด แต่จะเสียเวลาในการสอบสวนโรค แต่หากปกปิดข้อมูลและให้ข้อมูลเท็จก็จะมีความผิด

“ต้องขออภัย ขอโทษ ในเรื่องที่ตนได้สื่อสารไปในหลายเรื่อง สำหรับเรื่องของแอพพลิเคชั่นหมอชนะ เป็นเรื่องที่ต้องการความร่วมมือจากประชาชนอย่างมากในการปกป้องตนเองสังคม คนไทยทั้งหมดหรือรวมถึงคนที่อยู่ในประเทศไทยด้วย กรณีที่ผู้ป่วยปกปิดข้อมูล และพบว่าไม่มีหมอชนะ หรือจงใจไม่โหลด คนเหล่านี้ต้องได้รับการกำหนดโทษ แต่จะต้องประกอบด้วยหลายปัจจัย ไม่ใช่แค่ว่าคนไทยต้องมีหมอชนะ ไม่มีถือว่าผิด

Advertisement

“ถ้าป่วยและปกปิดข้อมูล พบว่าไม่มีหมอชนะ เท่ากับว่าเราจะต้องใช้เวลาในการสอบสวนมากมาย ดังนั้นกฎหมายออกมาเพื่อคุ้มครองคนส่วนใหญ่ สิ่งต่างๆ ไม่ได้ต้องการให้ข่าวนี้สร้างความตระหนกตกใจหรือความรู้สึกบังคับ” นพ.ทวีศิลป์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image