สธ.ครบรอบ 1 ปี เจอโควิดรายแรกของไทย ชี้ระบาดในที่ทำงาน กำชับฝ่ายบุคคลเข้มกักตัวกลุ่มเสี่ยง

สธ. ครบรอบ 1 ปี เจอโควิดรายแรกของไทย ชี้ระบาดในที่ทำงาน กำชับฝ่ายบุคคลเข้มกักตัวกลุ่มเสี่ยง

เมื่อวันที่ 13 มกราคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา พร้อมด้วย นพ.วิชาญ ปาวัน ผู้อำนวยการสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือวิด-19 ในประเทศไทย

นพ.จักรรัฐกล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลก พบผู้ป่วยรายใหม่ 6.6 แสนราย รวมสะสม 92 ล้านราย ซึ่งใกล้จะถึง 100 ล้านรายเข้าไปทุกที ส่วนผู้เสียชีวิตรายใหม่ 1.5 หมื่นราย สะสมใกล้จะถึง 2 ล้านรายเช่นกัน โดย 5 ประเทศแรกยังเป็นสหรัฐอเมริกา อินเดีย บลาซิล รัสเซีย และสหราชอาณาจักร ส่วนรอบบ้านเราในทวีปเอเซียมีหลายประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น เช่น ญี่ปุ่น มีผู้ป่วยเพิ่มรายใหม่กว่า 5,000 ราย และมีข่าวเพิ่มเติมในประเทศจีน เริ่มฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ไปเมื่อปลายปี 2563 ในกลุ่มผู้เสี่ยงติดเชื้อสูง จำนวน 1.6 ล้านโดส เพิ่มเติมในบุคลากรทางการแพทย์ และกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางเข้าประเทศ อาทิ สินค้านำเข้า ศุลกากร ขนส่งสาธารณะ อีก 7.5 ล้านโดส และเราคงรอผลว่าทางประเทศจีนจะมีผลข้างเคียงจากวัคซีนในช่วงถัดไป

นพ.จักรรัฐกล่าวว่า ส่วนผู้ป่วยรายใหม่ในรอบใหม่ของไทย เพิ่มขึ้น 157 ราย ติดเชื้อในประเทศ 90 ราย คัดกรองเชิงรุก 42 ราย และผู้เดินทางจากต่างประเทศ 25 ราย ซึ่งเป็นคนไทยที่เดินทางกลับจากเมียวดี เมียนมา ที่ไปทำงานในสถานบันเทิงและบ่อนคาสิโน ยอดรวมผู้ป่วยยืนยันสะสม 6,754 ราย ส่วนใหญ่ไม่มีอาการหรืออาการน้อย มีอาการหนัก ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ 13 ราย ผู้ที่รักษาหายเพิ่ม 211 ราย รวมสะสม 3,003 ราย และผู้เสียชีวิตคงที่ 7 ราย จำแนกผู้ป่วย เป็นคนไทยร้อยละ 47 เมียนมาร้อยละ 40 กัมพูชาร้อยละ 2 และอื่นๆ ในสถานกักกันโรค (Quarantine) ร้อยละ 10 ขณะที่สัดส่วนเพศชายต่อหญิงใกล้เคียงกันที่ 1 : 1.38

Advertisement

นพ.จักรรัฐกล่าวว่า กราฟผู้ป่วยรายใหม่เริ่มลดลง และต้องติดตามต่อไปในสัปดาห์หน้าว่าแนวโน้มการระบาดจะมีตัวเลขอย่างไร แม้ว่าตัวเลขผู้ป่วยยืนยันจะพุ่งขึ้นแต่ไม่ชัดมากเหมือนช่วงปลายปีที่ผ่านมา แต่ยังนิ่งนอนใจไม่ได้เพราะวันนี้เพิ่งลดลงวันแรก และการจำแนกผู้ป่วยในพื้นที่ตามสัญชาติ พบว่า กรุงเทพมหานคร (กทม.) ส่วนใหญ่เป็นคนไทย ภาคกลางตอนล่าง เช่น ลพบุรี อ่างทอง สระบุรี คนไทยจะลดลง และมีคนต่างชาติเพิ่มขึ้น ส่วนทางภาคตะวันออก เช่น ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด มากกว่าร้อยละ 70 จะเป็นคนไทย และสมุทรสาคร จุดเริ่มต้นระบาด ส่วนใหญ่จะเป็นแรงงานเมียนมา

“กราฟแท่งของการค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน เพราะหากตรวจพบเยอะ แสดงว่าอาจมีที่อยู่ในชุมชนแล้วยังไม่ออกมารับการรักษาหรืออาจไม่มีอาการ ดังนั้น กราฟสูงในชุมชนจะมีผู้ป่วยมาก แต่ทั้งนี้หากตรวจเยอะและเจอน้อย กราฟก็จะไม่สูง ต้องใช้ข้อมูลหลายส่วนประกอบกัน เพื่อดูว่ากราฟเส้นลดแล้วหรือยัง” นพ.จักรรัฐ กล่าว

นพ.จักรรัฐกล่าวอีกว่า ภาพรวมพบผู้ติดเชื้อสะสมใน 60 จังหวัด และมีประมาณ 20 จังหวัดเริ่มเป็นสีเขียวเพราะไม่พบผู้ป่วยในรอบ 7 วันที่ผ่านมา เป็นสัญญาณที่ดี ยิ่งหากมีจังหวัดสีเขียวมาก ก็ยิ่งเห็นภาพชัดเจนขึ้นว่าเราเริ่มควบคุมโรคในส่วนพื้นที่จำนวนผู้ป่วยไม่มากและไม่มีผู้ป่วยมานานได้เรียบร้อยแล้ว ส่วนในโซนสีแดงจังหวัดที่พบผู้ป่วยมากกว่า 50 ราย มี 10 จังหวัด และจำแนกรายจังหวัด พบว่า ในวันนี้ จ.สมุทรสาคร น้อยกว่าเมื่อวาน (12 มกราคม) แต่พรุ่งนี้อาจจะเพิ่มขึ้นจากการค้นหาเชิงรุกในโรงงาน รวมถึงใน กทม.ก็พบผู้ป่วยลดลงเล็กน้อย และมีบางจังหวัดที่ไม่พบผู้ป่วยมาหลายวันและเพิ่งมาพบ เช่น หนองคาย ไม่พบตั้งแต่วันที่ 7 มกราคม เป็นการติดเชื้อในครอบครัว ตรัง เป็นผู้ป่วยรายใหม่ มีประวัติเดินทางไปหลายที่ และต้องติดตามไทม์ไลน์ค้นหาความเสี่ยงรับและแพร่เชื้อ

Advertisement

“มีหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งเป็นการระบาดในสถานประกอบการ หรือพบผู้ป่วยในพื้นที่/จังหวัดที่มีผู้ป่วยน้อยในสัปดาห์ที่ผ่านมา สาเหตุจากพนักงานที่เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงอยู่ในระหว่างรอผลตรวจ ก็เดินทางออกไปในที่ชุมชน ออกนอกบ้าน ไม่กักตัว เป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะกลายเป็นซุปเปอร์สเปรดเดอร์ (Super Spreader) ดังนั้น จะต้องช่วยกันใน 3 มาตรการ คือ ผู้ประกอบการ เน้นป้องกันโรคเว้นระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ สุ่มคัดกรองพนักงานทุกวัน” นพ.จักรรัฐกล่าว

อย่างไรก็ตาม นพ.จักรรัฐกล่าวว่า กรณีที่สถานประกอบกาพบพนักงานติดโควิด-19 จะต้องให้เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยดูแลและฝ่ายบุคคล กำกับการกักตัวของกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ให้ครบทุกคนอย่างน้อย 14 วัน รวมถึงอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) ก็มีบทบาทสำคัญในการติดตามผู้สัมผัสเสี่ยงสูงในขณะรอผลตรวจ หากผลลบ ก็สามารถสบายใจได้ว่าอาจยังไม่ติดเชื้อ แต่ต้องรอให้กักตัวครบ 14 วัน และผลตรวจครั้งสุดท้ายไม่มีเชื้อบวกแล้ว ก็ถือว่าปลอดภัย และจะมีการปรับมาตรการให้ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงได้รับการตรวจหาเชื้อวันแรกที่พบ

“วันนี้ครบรอบ 1 ปี ของการพบผู้ป่วยรายแรกที่ สธ.ได้แถลงข่าวไปเมื่อปี 2563 เป็นอาม่า ผู้ป่วยหญิงมาจากอู่ฮั่น วันนี้ครบรอบ 1 ปีพอดีด้วยสถานการณ์ที่เราพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นนิดหน่อยในวันนี้ เป็นสัญญาณที่ดีที่เราต้องไปต่อ วันนี้หักหัวลงนิดนึง ถ้าไปต่อและลงเรื่อยๆ เราก็จะปลอดภัยมากขึ้น” นพ.จักรรัฐกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image