ทบทวนกลุ่มเป้าหมาย ‘ฉีดวัคซีน’ อีกครั้ง ปลัด สธ.ย้ำยังไม่มีข้อมูลฉีด 2 เข็มสลับยี่ห้อ แนะใช้แบบเดียวกัน

เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิธีรับวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) จากสาธารณรัฐประชาชนจีน “วัคซีนโควิด-19 คืนรอยยิ้มประเทศไทย” โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมคณะข้าราชการระดับสูงในกระทรวงสาธารณสุข และ MR.YANG XIN (นายหยาง ซิน) อุปทูตสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ร่วมพิธี

นายอนุทินกล่าวว่า วัคซีนโควิด-19 ของซิโนแวคที่ได้รับในวันนี้เป็นงวดแรก จำนวน 200,000 โดส เมื่อผ่านการตรวจสอบโดยกรมศุลกากร เจ้าหน้าที่ อย. และเจ้าหน้าที่ขององค์การเภสัชกรรมแล้ว จะขนส่งไปยังคลังสำรองวัคซีนโควิด-19 ที่ศูนย์กระจายสินค้าของบริษัท ดีเคเอสเอช (ประเทศไทย) จากนั้น องค์การเภสัชกรรม จะดำเนินการตรวจรับและกระจายให้กับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจสอบคุณภาพอีกครั้ง เมื่อผ่านทุกขั้นตอนแล้ว จะจัดส่งกระจายให้กับหน่วยบริการสถานพยาบาลให้เร็วที่สุด

นายอนุทินกล่าวว่า สำหรับวัคซีนงวด 2 จำนวน 800,000 โดส จะส่งมอบในเดือน มี.ค. และงวด 3 จำนวน 1 ล้านโดส ในเดือน เม.ย.2564  รวมทั้งสิ้น 2 ล้านโดส โดยองค์การเภสัชกรรม ร่วมมือกับบริษัท ดีเคเอสเอช(ประเทศไทย) จำกัด ดำเนินการจัดเก็บวัคซีนทั้ง 2 ล้านโดส ภายในห้องจัดเก็บความเย็น และจัดส่งกระจายภายใต้มาตรฐานสากล ควบคุมอุณหภูมิไม่เกิน 2-8 องศาเซลเซียส ไปยังโรงพยาบาลตามแผนการฉีดให้กับประชาชน ตามที่ได้กำหนดไว้ ซึ่งบริษัท ดีเคเอสเอช (ประเทศไทย) จำกัด ได้ให้การสนับสนุนแก่รัฐบาลไทย โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

สำหรับ เป้าหมายการฉีดวัคซีน ระยะแรก เดือน มีนาคม-พฤษภาคม จำนวน 2 ล้านโดส จะฉีดให้กลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด พื้นที่ควบคุมสูงสุด พื้นที่ควบคุม พื้นที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมใน 18 จังหวัด ได้แก่ จ.สมุทรสาคร กรุงเทพมหานคร (ฝั่งตะวันตก) ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ ตาก (อ.แม่สอด) นครปฐม สมุทรสงคราม ราชบุรี ชลบุรี ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย) เชียงใหม่ กระบี่ ระยอง จันทรบุรี ตราด และเพชรบุรี

Advertisement

โดยฉีดให้กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ บุคลากรทางการแพทย์ และสาธารณสุขด่านหน้า อสม. บุคลากรด่านหน้า เจ้าหน้าที่ที่สัมผัสผู้ป่วย ประชาชนทั่วไป และแรงงานที่มีอายุ 18-59 ปี เน้นผู้มีโรคประจำตัว ได้แก่ ทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง มะเร็ง เบาหวาน และโรคอ้วน โดยให้แพทย์ประเมินและคัดเลือกจากฐานข้อมูลการเข้ารักษาในโรงพยาบาล


ด้าน นพ.เกียรติภูมิกล่าวว่า วัคซีนผลิตโดยบริษัทซิโนแวค ซึ่งเชี่ยวชาญการวิจัยพัฒนา ผลและจำหน่วยวัคซีนป้องกันโรคระบาด ที่ผ่านมาผลิตวัคซีนหลายตัว เช่น วัคซีนไวรัสตับอักเสบเอ วัคซีนไวรัสตับอักเสบบี วัคซีนไข้หวัดใหญ่ วัคซีนป้องกันโรคมือเท้าปาก สำหรับวัคซีนโควิด-19 เป็นวัคซีนเชื้อตายที่มีชื่อว่า โคโรนาแวค (CoronaVac) ทำงานโดยการเหนี่ยวนำระบบภูมิคุ้มกันร่างกายมนุษย์ให้สร้างแอนติบอดีต้านโควิด-19  โดยแอนติบอดีจะไปยึดติดกับโปรตีนบางส่วน ของไวรัสไม่ให้เข้าสู่เซลล์ร่างกาย

นพ.เกียรติภูมิกล่าวว่า วัคซีนเชื้อตายเป็นเทคโนโลยีดั้งเดิมที่ประสบความสำเร็จในการป้องกันโรค และสามารถเก็บในตู้เย็นที่อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส โดยมีการศึกษาในคนระที่ 1-2-3 และในประเทศบราซิล ตุรกี อินโดนีเซีย และชิลีแล้ว มีรายงานว่ามีความปลอดภัย และมีประสิทธิภาพป้องกันการเกิดโควิด-19 ทำให้ปัจจุบันได้รับการรับรองให้ใช้ในประเทศจีนแล้ว

Advertisement

“การฉีดวัคซีนโควิด-19 CoronaVac อนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค มีข้อแนะนำว่า กระทรวงสาธารณสุข กำหนดให้ฉีดในประชาชนอายุ 18-59 ปี จำนวน 2 เข็ม ห่างกัน 2-4 สัปดาห์ และมีการติดตามเฝ้าระวังอาการภายหลังได้รับวัคซีนเป็นระยะเวลา 30 วันหลังฉีด

“ในพื้นที่มีการระบาดรุนแรง แนะนำให้ฉีดห่างกัน 2 สัปดาห์ ห้ามฉีดให้กับผู้ป่วยเรื้อรังที่อยู่ในภาวะควบคุมไม่ได้ ผู้ที่มีภาวะทางระบบประสาทอย่างรุนแรง หญิงตั้งครรภ์ และควรจะวังในการฉีดในกลุ่มหญิงให้นมบุตร ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง

“นอกจากนี้ สามารถให้โควิด-19 ร่วมกับวัคซีนป้องกันโรคชนิดอื่นได้ โดยเว้นระยะห่างกันอย่างน้อย 14 วัน และขณะนี้ ยังไม่มีข้อมูลการฉีดวัคซีนโควิด-19 สลับชนิดกัน ดังนั้น การฉีดวัคซีนทั้ง 2 เข็มควรจะเป็นวัคซีนยี่ห้อเดียวกัน” นพ.เกียรติภูมิกล่าว

ด้าน พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน ประธานในที่ประชุมคณะผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า  เที่ยวบินขนส่งสินค้าของการบินไทย เดินทางมาจากสาธารณรัฐประชาชนจีน เที่ยวบินขนส่งสินค้า TG 675 เส้นทางปักกิ่ง-กรุงเทพมหานคร ณ เขตปลอดอากรและคลังสินค้า ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ  หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของสาธารณรัฐประชาชนจีนอำนวยความสะดวกให้เที่ยวบินนี้เดินทางมาถึงประเทศไทยเร็วกว่าที่กำหนด เพื่อรักษาคุณภาพของวัคซีน และสามารถจัดส่งไปยังคลังโดยเร็วที่สุด มีการขนส่งด้วยตู้คอนเทนเนอร์ ชนิดปรับควบคุมอุณหภูมิได้ ระหว่าง -20 องศาเซลเซียส ถึง +20 องศาเซลเซียส รวมถึงอุปกรณ์ภาคพื้นดิน และรถ Truck Cold Room  เพื่อรักษาอุณหภูมิ พร้อมเจ้าหน้าที่เชี่ยวชาญการขนส่งสินค้าประเภทต้องควบคุมอุณหภูมิ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image