สธ.ตั้งทีมสอบปม ‘วีไอพี’ ลัดคิวฉีดวัคซีน เผย ผจว.เชียงใหม่จ่อแจงข้อเท็จจริง

สธ.ตั้งทีมสอบปม ‘วีไอพี’ ลัดคิวฉีดวัคซีน เผย ผจว.เชียงใหม่จ่อแจงข้อเท็จจริง

เมื่อวันที่ 2 มีนาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงแผนการกระจายวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในระยะแรกของประเทศไทย ว่าขณะนี้กระจายวัคซีนไปใน 13 จังหวัดทั่วประเทศแล้ว หลายจังหวัดราบรื่นดีและบางจังหวัดติดขัดบ้าง

ข้อมูลการฉีดวัคซีนระหว่างวันที่ 28 ก.พ.-1 มี.ค. จำนวนวัคซีนที่จัดส่งไป สะสมรวม 116,520 โดส ได้แก่ เชียงใหม่ 3,520 โดส ตาก 5,000 โดส นครปฐม 3,560 โดส นนทบุรี 6,000 โดส ปทุมธานี 8,000 โดส กรุงเทพมหานคร (กทม.) 33,600 โดส ชลบุรี 4,720 โดส สมุทรปราการ 6,000 โดส สมุทรสาคร 35,080 โดส สมุทรสงคราม 2,000 โดส ราชบุรี 2,520 โดส สุราษฎร์ธานี 2,520 โดส และภูเก็ต 4,000 โดส ซึ่งเป็นการทยอยจัดส่งเข้าไปเพื่อไม่ให้เป็นภาระของโรงพยาบาล (รพ.) ในการจัดเก็บ

เมื่อจังหวัดได้รับวัคซีนแล้วคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดจะประชุมเพื่อหาจำนวนตามกลุ่มเป้าหมายในภาคปฏิบัติจริงและนัดหมายการฉีดวัคซีนที่ รพ. ซึ่งในระยะนี้จะไม่ให้จองฉีดวัคซีนหรือการเดินเข้ามาขอฉีด แต่เป็นการเรียกมาฉีดตามรายชื่อที่แต่ละจังหวัดมีเพื่อให้เกิดความชัดเจนในการฉีด

นพ.โอภาสกล่าวว่า ข้อมูลการฉีดวัคซีนในวันที่ 1 มี.ค. มีผู้ได้รับการฉีดแล้ว 2,767 ราย ข้อมูลสะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.-1 มี.ค. รวมสะสม 3,021 ราย แบ่งเป็น บุคลากรสาธารณสุข อาสาสมัครประจำหมู่บ้าน (อสม.) 2,781 ราย เจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ติดเชื้อ 133 ราย ผู้ที่มีโรคประจำตัว 21 ราย และประชาชนในพื้นที่เสี่ยง 86 ราย จำนวนมีผู้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ 5 ราย พบในสมุทรปราการ 4 ราย และเกาะสมุย 1 ราย โดยมีอาการบวม แดงบริเวณที่ฉีด 4 ราย และอีก 1 ราย เป็นแพทย์มีอาการคลื่นไส้ ทั้งนี้ เป็นอาการข้างเคียงที่พบได้หลังจากการฉีดวัคซีน จึงขอให้ประชาชนเชื่อมั่นว่าวัคซีนมีความปลอดภัย

Advertisement

นพ.โอภาสกล่าวว่า ส่วนกรณีที่หลายคนสอบถามรวมถึงสื่อออนไลน์เกี่ยวกับ จ.เชียงใหม่ ที่นำวัคซีนไปฉีดให้กับกลุ่มพิเศษ หรือ VIP ขอชี้แจงว่า ทาง จ.เชียงใหม่ ได้วัคซีนรวม 3,520 โดส กำหนดกลุ่มเป้าหมายในการฉีดที่ได้ระบุรายชื่อและนัดวันฉีดวัคซีน จำนวน 1,450 ราย โดยวันแรกเริ่มฉีดในวันที่ 1 มี.ค. แบ่งเป็น บุคลากรสาธารณสุข 73 ราย เจ้าหน้าที่อื่นๆ อีก 300 ราย

ปรากฏว่าในช่วงแรกระบบการลงทะเบียนขัดข้องและเจ้าหน้าที่บางคนยังไม่มั่นใจ จึงมีจำนวนผู้ที่แสดงความจำนงน้อย แต่เมื่อวันที่ 28 ก.พ. ที่เริ่มมีการฉีดให้กับผู้บริหาร สธ. ทำให้หลายคนเกิดความมั่นใจ เมื่อถึงวันที่ฉีดจริงก็มีผู้เข้ามาติดต่อขอฉีดมากขึ้น ทำให้เกิดความขรุขระ ภาพรวมการฉีดวัคซีนวันแรกของ จ.เชียงใหม่ จึงฉีดไป 140 ราย เป็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุข 73 ราย เจ้าหน้าที่อื่นๆ ที่ปฏิบัติหน้าที่ 67 ราย

Advertisement

“เจ้าหน้าที่อื่นๆ มีคนสอบถามว่าเป็นวีไอพีหรือเปล่า ขอนำเรียนว่าวัคซีนที่ฉีด จะฉีดในกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเจ้าหน้าที่อื่นๆ ที่ทำหน้าที่ควบคุมโควิด มีโอกาสสัมผัสผู้ติดเชื้อ ไม่ว่าจะเป็นหัวหน้าส่วนราชการ ฝ่ายปกครอง ทหาร ตำรวจ เช่น ทหารก็จะมีนายทหารยศสัญญาบัตรมาฉีดด้วย ฉะนั้น ที่บอกว่าเป็นวีไอพี ก็คงไม่ตรงตามข้อเท็จจริงทั้งหมดทีเดียว เพราะมีบุคลากรอื่นๆ มาฉีดด้วย ซึ่งการดำเนินการต่างๆ เป็นไปตามเป้าหมายที่ สธ.และ ศบค.กำหนด โดยทางผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่จะแถลงในรายละเอียดที่ครบถ้วนอีกครั้ง” นพ.โอภาสกล่าว

นพ.โอภาสกล่าวว่า อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้อยู่ในความสนใจของประชาชน ทาง นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. จึงตั้งคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงในรายละเอียดเรื่องนี้ เพื่อให้ประชาชนมั่นใจว่า สธ.ดำเนินการตามระบบของวิชาการทางการแพทย์การสาธารณสุข และทางระบาดวิทยา ไม่มีการปกปิดข้อมูล

อ่านข่าว – เพจดัง! ข้องใจ มีVIPไม่ใช่บุคลากรการแพทย์ เป็นแขกVIPจังหวัด ได้สิทธิฉีดวัคซีนก่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image