ศบค.ยกคลัสเตอร์โรงงานขนม ติดเชื้อ 17 ราย ย้ำผู้ประกอบการทุกส่วน ทบทวนมาตรการป้องกันโรค

ศบค.ยกคลัสเตอร์โรงงานขนม ติดเชื้อ 17 ราย ย้ำผู้ประกอบการทุกส่วน ทบทวนมาตรการป้องกันโรค พร้อมเปิดเผยวัคซีนโควิด-19 อีก 8 แสนโดส กระจาย 22 จว.

เมื่อวันที่ 24 มีนาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. กล่าวว่า กรณีการพบผู้ติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อนใน โรงงานทำขนม เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร (กทม.) ข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 23 มี.ค.พบผู้ติดเชื้อโควิดแล้ว 17 ราย เพศชาย 3 ราย เพศหญิง 14 ราย เป็นชาวไทย 3 ราย เมียนมา 14 ราย

พญ.อภิสมัยกล่าวว่า กรมควบคุมโรคลงไปสอบสวนโรคและกักกันผู้ติดเชื้อจนถึงวันที่ 2 เม.ย. ตามมาตรฐานการป้องกันโรค ทั้งนี้ ผู้ติดเชื้อรายแรกของคลัสเตอร์ดังกล่าวเป็นผู้ที่เข้ารับการตรวจสุขภาพเพื่อขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว ตามมาตรการของกระทรวงแรงงาน เดิมมีแรงงานต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนอยู่ในระบบประกันสังคม ประมาณ 1.1 ล้านราย ซึ่งในช่วงเดือน ม.ค.-มี.ค. มีผู้มาขอขึ้นทะเบียนเพิ่มอีก 6 แสนราย อย่างไรก็ตาม หลังจากพบผู้ติดเชื้อรายแรก ทีมสอบสวนโรคจึงลงพื้นที่ไปคัดกรองผู้ติดเชื้อเชิงรุกในที่ทำงานและที่พัก จึงพบผู้ติดเชื้อในโรงงานดังกล่าว

พญ.อภิสมัยกล่าวอีกว่า สิ่งที่น่าสนใจที่ต้องเรียนรู้ พบว่า ลักษณะโรงงานขนม ส่วนแรกเป็นหน้าร้านซึ่งมีคนเข้าออกตลอดเวลา ส่วนที่ 2 เป็นโรงงานที่แบ่งเป็นแผนก ดำเนินมาตรการป้องกันโรคตามมาตรฐานแต่ไม่ครบถ้วน คือทำบ้าง แต่อาจมีการหละหลวม และส่วนที่ 3 บ้านพักคนงานที่อาศัยรวมกันในอาคารพาณิชย์แห่งนี้กว่า 70 ราย และมีการแบ่งเป็นห้องเช่า โดยไม่มาตรการป้องกันโรค ดังนั้น หากมีผู้ติดเชื้อก็สามารถแพร่ไปหาคนอื่นได้ง่าย ซึ่งเป็นสิ่งที่เราเน้นย้ำเสมอและขอให้ผู้ประกอบการได้ทบทวนสถานประกอบการของตัวเอง

Advertisement

พญ.อภิสมัยกล่าวว่า การกระจายวัคซีนป้องกันโควิด-19 จำนวน 800,000 โดส กระจายไปใน 22 จังหวัด โดยกระจายตามเป้าหมายเพื่อการควบคุมการระบาดของโรคใน 6 จังหวัด จำนวน 300,000 โดส ได้แก่ สมุทรสาคร 100,000 โดส กรุงเทพมหานคร (กทม.) 50,000 โดส อ.แม่สอด จ.ตาก 75,000 โดส ปทุมธานี 25,000 โดส สมุทรปราการ 25,000 โดส นนทบุรี 25,000 โดส

“เป้าหมายเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจใน 8 จังหวัดท่องเที่ยว จำนวน 240,000 โดส ได้แก่ พัทยา จ.ชลบุรี 20,000 โดส ระยอง 20,000 โดส เชียงใหม่ 20,000 โดส ขอนแก่น 10,000 โดส กระบี่ 10,000 โดส พังงา 10,000 โดส อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี 50,000 โดส ภูเก็ต 100,000 โดส

Advertisement

“เป้าหมายเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจชายแดน 8 จังหวัด จำนวน 50,000 โดส ได้แก่ สงขลา 10,000 โดส สระแก้ว 10,000 โดส และเชียงราย มุกดาหาร นราธิวาส ระนอง หนองคาย จันทบุรี จังหวัดละ 5,000 โดส” พญ.อภิสมัยกล่าว

เมื่อถามว่า หากได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 แล้วจะสามารถผ่อนคลายมาตรการป้องกันตัวเองได้หรือไม่ พญ.อภิสมัยกล่าวว่า ขณะนี้ทั่วโลกฉีดวัคซีนป้องกันโควิดมากกว่า 300 ล้านโดส บางประเทศมีประชากรได้รับวัคซีนครบถ้วนแล้ว แต่จะพบว่าสถานการณ์ผู้ติดเชื้อทั่วโลกไม่ได้ลดลงเท่าไหร่นัก ซึ่งกรมควบคุมโรคตั้งข้อสันนิษฐานว่าต่างประเทศผ่อนคลายมาตรการเร็วเกินไป ในบางประเทศไม่จำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ เมื่อเกิดการติดเชื้อมากขึ้นจึงเริ่มกำหนดมาตรการ เช่น รัสเซีย สหรัฐอเมริกา และสิ่งสำคัญคือ ประชาชนในบางประเทศเข้าไม่ถึงระบบสาธารณสุข หรือระบบที่มีอยู่ไม่พร้อมรองรับการระบาดใหญ่ที่แพร่กระจายทั่วโลก

“บ้านเรามีระบบสาธารณสุขสำคัญ เช่น อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่เดินถึงบ้าน กรมควบคุมโรคทำงานเหน็ดเหนื่อย ดังนั้น หากเราเรียนรู้จากประเทศต่างๆ ที่ฉีดวัคซีนแล้ว ก็ต้องกลับมาตอบคำถามด้วยตัวท่านเองว่า การฉีดแล้วเราจะดำเนินชีวิตแบบนิวนอร์มอล สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ เว้นระยะห่าง ไม่สัมผัสผู้มีความเสี่ยง ซึ่งเป็นสิ่งที่เราเน้นย้ำมาเสมอ

“ต้องฝากไปยังสถานประกอบการ นายจ้าง แพทย์ บุคลากรสาธารณสุข หมอฟัน เภสัชกร เนื่องจากมีการรายงานชัดเจนว่าการที่บุคลากรเหล่านี้ให้ความสำคัญ เตือนประชาชนเรื่องการป้องกันตัว ก็จะทำให้ประชาชน เกิดความตระหนัก และการย้ำเตือนบ่อยๆ ก็จะไม่เผลอ ไม่ลืม การเรียนรู้จากต่างประเทศ เราก็จะไม่ซ้ำรอยของเขา” พญ.อภิสมัยกล่าว

เมื่อถามถึงเหตุผลการต่อพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน อีก 2 เดือน พญ.อภิสมัย กล่าวว่า หลายครั้ง ศบค.ย้ำเสมอว่า เราอยากเห็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตได้ปกติ แต่สิ่งสำคัญคือหลักฐานวิทยาศาสตร์ ข้อมูลที่มีการนำมาประชุมร่วมกัน เมื่อมีการระบาดในกลุ่มก้อน มีสะเก็ดไฟแพร่กระจาย ทำให้ ศบค.มีความเป็นห่วงประชาชน และบุคลากรด่านหน้า โดย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อประโยชน์เพียงอย่างเดียวคือทำให้เกิดการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ

“ตัวอย่างของสมุทรสาครที่ต้องตรวจหาเชื้อในโรงงาน พื้นที่ชุมชน หากเราไม่มีการบังคับใช้มาตรการ อาจไม่เกิดความร่วมมือจากประชาชนมากขนาดนี้ ดังนั้น ต้องเรียนว่า ศบค.ไม่ได้ออกมาตรการจาก ศบค.เอง แต่เกิดจากการนำเสนอจากบุคลากรผู้ทำงานในพื้นที่แต่ละจังหวัดว่าขอให้คงมาตรการ ยังมี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อการบริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพ” พญ.อภิสมัยกล่าว

อ่านข่าว : ยืดอีก! ครม.เห็นชอบต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ตั้งแต่ 1 เม.ย.-31 พ.ค.

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image