ปลัดสธ. เผย ระบาดรอบนี้ คุมยาก-จับไม่อยู่ ปลวกแตกรัง คาดใช้เวลาคุม 2 เดือนขึ้นไป

ปลัดสธ. เผย ระบาดรอบนี้ คุมยาก-จับไม่อยู่ ปลวกแตกรัง คาดใช้เวลาคุม 2 เดือนขึ้นไป

เมื่อวันที่ 8 เมษายน ที่ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดสธ. พร้อมด้วย นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) และ นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ แถลงข่าวประเด็นวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในประเทศไทย

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า ขณะนี้มีการระบาดที่มีสาเหตุมาจากสถานบันเทิง แพร่กระจายไปหลายจังหวัด โดย สธ. คาดว่าจะใช้เวลาอีกระยะหนึ่งในการควบคุมโรค พร้อมทั้ง ใกล้ช่วงเทศกาลสงกรานต์ก็ขอให้ทุกคนระวังอุบัติเหตุและการแพร่เชื้อของโควิด-19 โดยปีนี้ประเทศไทย อนุญาตให้มีการเคลื่อนที่ของคนจำนวนมาก

ซึ่งนักวิชาการก็คาดว่าอาจจะมีการแพร่เชื้อขึ้นมาได้ โดยตั้งสมมติฐานไว้หลายสมมติฐานว่า จะพบผู้ป่วยในหลักหมื่น ซึ่ง สธ. ไม่ได้อยากเห็นตัวเลขนั้น จึงต้องออกมาตรการต่างๆ ขอความร่วมมือประชาชนทุกคนร่วมกันรณรงค์ป้องกันโควิด

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า กิจกรรมที่สามารถทำได้ภายใต้มาตรการป้องกันตัวเอง สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง และล้างมือ คือ 1.การสรงน้ำพระกิจกรรมศาสนาอื่นๆ 2.การรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ และ 3.การเดินทางข้ามจังหวัดเพื่อไปท่องเที่ยว ซึ่งขอให้งดการเล่นน้ำ ประแป้ง เลี่ยงการไปในพื้นที่แออัด

Advertisement

โดยหากมีอาการป่วยหรือสงสัยว่าตัวเองเป็นกลุ่มเสี่ยง ให้รีบเข้าไปตรวจหาเชื้อโควิด-19 ได้ในสถานพยาบาลใกล้บ้าน นอกจากนี้ คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดจะต้องจัดระบบเฝ้าระวัง โดยจะต้องมีศูนย์ปฏิบัติการจังหวัดขึ้นมากำกับ เฝ้าระวังผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง สามารถตั้งด่านสัญจรในพื้นที่ ตรวจสอบสถานที่เสี่ยง อย่างเช่น สถานบันเทิง ร้านอาหาร ตลาด สนามมวย เป็นต้น รวมถึงพิจารณาการจัดกิจกรรมของชุมชนให้เหมาะสม

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า เนื่องจากมีการระบาดจากสถานบันเทิง ผับบาร์ คาราโอเกะ สถานอาบอบนวด ทั้งนี้ สธ. จึงได้เสนอต่อ ศบค. ในการปิดสถานบริการ สถานประกอบการที่ลักษณะคล้ายสถานบริการ สถานบันเทิง ผับบาร์ คาราโอเกะและสถานประกอบกิจการอาบอบนวด จำนวน 41 จังหวัดเป็นเวลาอย่างน้อย 14 วัน กิจกรรมอื่น เช่น ร้านอาหารและเครื่องดื่ม ร้านนวดเพื่อสุขภาพผ่อนคลาย ยังสามารถดำเนินการได้ แต่ต้องมีมาตรการป้องกันโควิด-19 โดยหากพบการติดเชื้อในสถานที่ใด สามารถสั่งปิดสถานที่นั้นได้อย่างน้อย 14 วัน แต่หากพบในหลายแห่งอาจพิจารณาปิดทั้งจังหวัดได้

“ขอให้ทุกจังหวัดระมัดระวัง อย่างเข้มงวด ให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) ร่วมกับฝ่ายปกครอง เฝ้าระวังผู้เดินทางจากพื้นที่เสี่ยง เคาะประตูบ้านให้คำแนะนำ โดยเพื่อความปลอดภัยของประชาชน ขอให้ประชาชนเรื่องการอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่ม ขอให้ฉลองเทศกาลอยู่ที่บ้าน รวมถึงขอความร่วมมือในการงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากจะทำให้เกิดอุบัติเหตุ ครองสติไม่ได้ ซึ่งเป็นความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว

Advertisement

เมื่อถามว่าการระบาดรอบนี้หนักสุดในประเทศไทยหรือไม่ นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า หากถามว่าหนักสุดหรือไม่ ก็เกิดขึ้นคนละแบบ การระบาดครั้งแรกสุดในช่วงต้นของปี2563 เราพบผู้ติดเชื้อจำนวนน้อย ต่อมาการระบาดในจ.สมุทรสาคร เมื่อปลายปี 2563 เกิดขึ้นในรูปแบบรังปลวก สามารถเข้าไปควบคุมใช้มาตรการบับเบิ้ลแอนด์ซีลได้

แต่ครั้งนี้ที่เกิดขึ้นในเดือน มี.ค.-เม.ย. เป็นการระบาดแบบปลวกกระจาย ซึ่งถือว่าควบคุมยากที่สุดเพราะว่าจับไม่อยู่ ตนเชื่อว่าในรายจังหวัดสามารถควบคุมได้ อาจจะต้องใช้เวลาประมาณ 1-2 เดือน

ที่น่าเป็นห่วงคือในกรุงเทพมหานคร(กทม.) และป่าล้อมเมือง คาดว่าจะใช้ระยะเวลาควบคุมนานขึ้นสักเล็กน้อย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับมาตรการที่ใช้ว่าจะใช้ไม้แข็งในการควบคุมหรือไม่ เบื้องต้นก็จึงต้องแนะนำประชากรที่อยู่ในพื้นที่กทม. ให้ปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคอย่างเข้มข้นทั้งการสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะ ห่างล้างมือบ่อยๆ

เมื่อถามต่อว่าขณะนี้มีการปกปิดข้อมูลหรือบอกข้อมูลไม่หมดจำนวนมากจะทำให้เสียโอกาสในการควบคุมโรคช้าลงหรือไม่ นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า ในการควบคุมโรคนั้นเราไม่ได้รอประวัติหรือไทมไลน์ จากผู้ติดเชื้ออย่างเดียว แต่ในทุกครั้งที่พบการติดเชื้อเราจะตีกรอบและเข้าไปควบคุม ตามข้อมูลอื่นๆ ที่มีการสอบสวนโรคพบอยู่แล้ว แต่การให้ข้อมูลจากผู้ติดเชื้อก็จะทำให้การสอบสวนโรคทำได้ง่ายขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image