สธ. แนะ ปชช. เช็กมาตรการปลายทางก่อนไป เตรียมฮอสปิเทล-รพ.สนาม

สธ. แนะ ปชช. เช็กมาตรการปลายทางก่อนไป เตรียมฮอสปิเทล-รพ.สนาม

วันที่ 10 เมษายน ที่ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ช่วงสงกรานต์ที่มีการเดินทางกลับบ้าน ขอความร่วมมือตรวจสอบประวัติเสี่ยงของตัวเอง หากเป็นนักเที่ยวมีประวัติไปสถานบันเทิง หากมีไข้ไอเจ็บคอ น้ำมูก ไปตรวจที่สถานพยาบาลรัฐใกล้บ้าน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ส่วน โรงพยาบาล (รพ.) เอกชน ถ้าอยู่ร่วมโครงการของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ก็ตรวจฟรี ซึ่งรัฐบาลให้งบสนับสนุนไป 3 พันล้านบาท งบถือว่าเพียงพอ

นพ.โอภาส กล่าวว่า หากจำเป็นต้องเดินทางข้ามจังหวัดขอให้ตรวจสอบมาตรการจังหวัดปลายทาง เพราะแม้ ศบค. จะไม่ห้ามการเดินทาง ไม่ต้องกักตัว แต่จังหวัดสามารถออกมาตรการเข้มกว่าได้ เพราะสถานการณ์แต่ละจังหวัดไม่เหมือนกัน มีจำนวนผู้ติดเชื้อและทรัพยากรดูแลการระบาดไม่เหมือนกัน

จากการตรวจสอบกับเว็บไซต์กระทรวงมหาดไทยหลายจังหวัดมีประกาศให้คนเดินทางจากพื้นที่เสี่ยงกักตัว 29 จังหวัด ได้แก่ กำแพงเพชร เชียงใหม่ ตาก น่าน พะเยา เพชรบูรณ์ ลำพูน อุทัยธานี ชัยภูมิ นครพนม บึงกาฬ บุรีรัมย์ มหาสารคาม มุกดาหาร ยโสธร เลย สกลนคร หนองคาย หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ ชัยนาท สระบุรี ชุมพร ตรัง นราธิวาส ปัตตานี พังงา และสงขลา

“ก่อนเดินทางไปจังหวัดไหนตรวจสอบข้อมูลรายละเอียดอีกครั้ง เพราะการออกคำสั่งอาจเปลี่ยนแปลงได้ และย้ำว่าการเดินทางขอให้ใส่หน้ากากตลอดเวลาเมื่ออยู่ในที่สาธารณะ หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ชุมชน และเน้นมาตรการเว้นระยะห่าง ใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ และขอความร่วมมือช่วยกันลดการระบาดโรคในวงกว้าง โดยเฉพาะช่วงสงกรานต์ ตอนนี้ปิดผับบาร์คาราโอเกะเยอะแล้ว ขอให้หลีกเลี่ยงจุดเสี่ยง มีสถานที่แออัด ระบบระบายอากาศไม่ดี คนยัดเยียดข้างใน ไม่มีการใส่หน้ากากอนามัย มีการดื่มแอลกอฮอล์ ถ้าไม่จำเป็นอย่าไป จะปลอดภัยทั้งตัวเอง ครอบครัว ชุมชนและประเทศไทย” นพ.โอภาสกล่าว

Advertisement

เมื่อถามถึงกรณี ไปตรวจ รพ.เอกชน แจ้งว่าเตียงเต็ม ให้ไปกักตัวเองที่บ้าน 14 วัน นพ.โอภาส กล่าวว่า ประเทศไทยมีนโยบายว่าผู้ติดเชื้อในไทยทุกคนเข้ารับการรักษาใน รพ.ไม่เอาอย่างต่างประเทศที่ติดเชื้อให้ไปกักตัวที่บ้าน แต่ รพ.เอกชนหลายแห่งมีการตรวจเยอะ ผู้ติดเชื้อมาก รพ.ไม่ใหญ่ก็เจอปัญหาเตียงเต็ม จาการหารือวันที่ 9 เม.ย. ชัดเจนว่าจะมีระบบส่งต่อใน รพ.เอกชนด้วยกัน หากส่งต่อไม่ได้ให้โทรไปยังศูนย์ส่งต่อกรมการแพทย์ 1668 เป็นจุดรับจัดการส่งต่อระหว่าง รพ.กับ รพ.

“ผู้ป่วยส่วนใหญ่ระลอกนี้อาการน้อยจึงจะใช้ระบบเหมือนครั้งก่อน โดยปรับระบบโรงแรมเป็นกึ่ง รพ. คือ ฮอสปิเทล(Hospitel) มีความสะดวกสบายระดับหนึ่ง มีระบบดูแลการแพทย์และสาธารณสุข หากอาการรุนแรงขึ้นมีการส่งต่อ ตอนนี้มีหลายพันห้องรองรับได้ ถ้าผู้ป่วยมากจริงๆ ก็มีการจัดเตรียม รพ.สนามใน กทม.ขึ้น แต่ผู้ป่วยขณะนี้ยังรองรับได้ ถ้าจำเป็นจะจัดตั้ง รพ.สนามเพิ่มเติม อย่างมหาชัยที่เคยตั้ง รพ.สนามก็ดูแลผู้ติดเชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ ย้ำว่าผู้ติดเชื้อไม่มีนโยบายอยู่ที่บ้าน” นพ.โอภาสกล่าว

 

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image