ผู้ป่วยโควิด-19 อายุ 68 ปี ปอดบวม แพทย์สิชลแจงยิบ ชี้ดูอาการวันต่อวัน

ผู้ป่วยโควิด-19 อายุ 68 ปี ปอดบวม แพทย์สิชลแจงยิบ ชี้ดูอาการวันต่อวัน

วันที่ 28 เมษายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงาน สถานการณ์ การรักษาผู้ป่วยโควิด-19 จากโรงพยาบาลสิชล โดยนายแพทย์อารักษ์ วงษ์วรชาติ ผอ.รพ.สิชล เปิดเผยว่า เป็นอีกคืนที่ยุ่งเหยิงของทีมแพทย์ พยาบาล และพนักงานลำเลียงผู้ป่วย

เมื่อพยาบาลในหอผู้ป่วยโควิดรายงาน แพทย์ประจำหอผู้ป่วยโควิด ว่ามีผู้ป่วยอายุ 68 ปี รับไว้นอนในโรงพยาบาลเป็นวันที่ 8 แล้ว แพทย์วินิจฉัยว่า มีภาวะปอดบวมตั้งแต่วันแรกรับ ได้ขอยาต้านเชื้อมาให้ทันที ค่าอ๊อกซิเจนในเลือด 98 % สัญญาณชีพปกติ ชีพจร 85 ไม่มีไข้ ผู้ป่วยรู้สึกสบายดี ไม่เหนื่อย ไม่หอบ ได้เอกซเรย์ปอดเป็นระยะในวันที่ 1,3,5 และวันที่ 8 ปวดบวมจากเอกซเรย์เปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นไม่มาก แต่ค่าอ๊อกซิเจนในเลือดเริ่มลดลง จึงให้ย้ายผู้ป่วยเมื่อประมาณเที่ยงคืนลงมาไว้ห้องแรงดันลบเพื่อสะดวกในการปฏิบัติการกู้ชีพ

หลังจากนั้นได้ติดตามค่าออกซิเจนในเลือด ลดเหลือ 96-95-93% ทีมแพทย์จึงตัดสินใจ ใส่ท่อช่วยหายใจ โดยใช้ทีมวิสัญญีแพทย์ วิสัญญีพยาบาล ที่มีความชำนาญ สวมชุดป้องกันสูงสุด PAPR ที่มีระบบดูดอากาศผ่านตัวกรอง มาที่ชุดคลุมศีรษะ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ ในระหว่างปฏิบัติการ ใช้เครื่องมือส่องใส่ท่อช่วยหายใจชนิดพิเศษ พร้อมให้ยาระงับความรู้สึก ลดการต่อต้านเมื่อใส่ท่อ เนื่องจากอาจทำให้ผู้ป่วย ไอหรือจาม ทำให้เชื้อฟุ้งกระจาย ได้ หลังจากนั้นใช้เครื่องช่วยหายใจควบคุมด้วยปริมาตรและความดัน อัตโนมัติเพื่อพยุงการหายใจ ปรับตั้งค่า ให้ผู้ป่วยไม่รู้สึกต้านเครื่อง

หัวหน้าทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่อำนวยการอยู่ด้านนอก ได้ตัดสินใจสวมชุด PPE เข้าไปประเมินอาการ สัญญาณชีพ ผู้ป่วยด้วยตนเอง พร้อมปรับการตั้งค่าเครื่องช่วยหายใจให้เหมาะกับสภาพร่างกายผู้ป่วย และได้เอกซเรย์ปอดอีกครั้ง วันที่ 11 พบว่าภาพทางรังสี มีรอยโรคแย่ลงไปกว่าเดิมมาก หลังใช้เครื่องช่วยหายใจ ได้ตั้งค่าปรับเพิ่มอัตราการไหลของออกซิเจนให้สูงขึ้น ค่าออกซิเจนในเลือดปรับตัวสูงขึ้น 99% ประเมินอาการโดยรวมเช้าวันนี้ น่าพอใจ ผู้ป่วยรู้สึกตัวดี สัญญาณชีพคงที่ ถามว่าเหนื่อยมั้ย โยกหัวเพื่อบอกว่าไม่เหนื่อย มีกำลังใจดี ยังสู้ไหว

Advertisement

ทีมแพทย์ได้ปรับการให้ยาใหม่อีกครั้ง โดยให้ยาต้านไวรัสต่อเนื่องไปอีก ให้ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ปรับยาต้านการอักเสบ จัดทีมพยาบาลเสริมกำลังในการเฝ้าดูแลติดตามผู้ป่วย ใกล้ชิด

ในผู้ป่วยสูงอายุจึงเป็นความเสี่ยงอย่างมาก ที่ไม่อาจไว้วางใจ แม้ในช่วง 5-8 วันแรกจะรู้สึกสบายดี แต่อาการและพยาธิสภาพในปอดเปลี่ยนแปลงได้รวดเร็วมาก หากอยู่ในสถานที่ไม่พร้อม จะทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตในเวลาอันรวดเร็ว เพราะร่างกายขาดอ๊อกซิเจน

ถึงวันนี้ก็ไม่อาจวางใจ อยู่ที่สภาพร่างกายและการฟื้นตัวของปอดของผู้ป่วยเอง ได้มากน้อยแค่ไหน แต่ทีมบุคลากรทางการแพทย์สู้เต็มที่กับผู้ป่วยทุกราย

Advertisement

“อีกมุมหนึ่งของทีมแพทย์ในการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 จึงขอส่งกำลังใจให้กับทุกท่าน อยู่บ้าน อดทนกันอีกหน่อย ไม่นานก็ผ่านไปได้” นพ.อารักษ์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image