‘อนุทิน’ พร้อมหนุนวัคซีน ‘โมเดอร์นา’ ขายให้เอกชนผ่าน ‘องค์การเภสัชฯ’

‘อนุทิน’ พร้อมหนุนวัคซีน ‘โมเดอร์นา’ ขายให้เอกชนผ่าน ‘องค์การเภสัชฯ’

เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังการหารือร่วมกับผู้แทนบริษัทนำเข้าวัคซีนโมเดอร์นา โดยบริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด ที่กระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 3 พ.ค.ที่ผ่านมา ว่าจากการหารือมีความเข้าใจกันอย่างดี กระทรวงพร้อมสนับสนุนการขึ้นทะเบียนของโมเดอร์นา แต่ผู้ผลิตต้องส่งเอกสารตามที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กำหนดเพื่อการพิจารณา

นายอนุทินกล่าวว่า ยืนยันว่ารัฐบาล กระทรวงสาธารณสุขไม่ได้มีการกีดกันวัคซีนใดๆ เข้ามาเป็นวัคซีนทางเลือก วัตถุประสงค์เขามาขึ้นทะเบียนเพื่อจะขายให้ภาคเอกชน โรงพยาบาล (รพ.) เอกชน มีวัคซีนสำหรับผู้จะรับการฉีดวัคซีนนอกระบบ รพ.รัฐ อย่างไรก็ตาม ยังไม่ได้มีการเจรจาในสัดส่วนของภาครัฐ

นายอนุทินกล่าวว่า สิ่งสำคัญคือเขาบอกว่าโมเดอร์นาต้องขายผ่านรัฐบาล หรือหน่วยงานที่อยู่ภายใต้การกำกับของรัฐบาลเท่านั้น พูดง่ายๆ เขาไม่ขายให้เอกชนโดยตรง ทุกบริษัทพูดเช่นนี้หมด จะต้องขายผ่านรัฐบาล ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุขเลยให้คำยืนยันกับโมเดอร์นาว่าเมื่อเอกชนไม่สามารถซื้อได้ เพราะติดเงื่อนไขจากทางบริษัทผู้ผลิต กระทรวงสาธารณสุขก็พร้อมให้องค์การเภสัชกรรม (อภ.) เป็นผู้นำเข้าวัคซีน

Advertisement

นายอนุทินกล่าวว่า ภาคเอกชนต้องคอนเฟิร์มยอดการซื้อมาให้ อภ. เพราะ อภ.ไม่สามารถซื้อมาสต๊อกเพื่อรอให้เอกชนมาซื้อต่อได้อีกทอดหนึ่งได้ เอกชนสามารถซื้อวัคซีนขึ้นทะเบียนในประเทศไทยได้ ตอนนี้มีแอสตร้าเซนเนก้า ซิโนแวค จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ส่วนรอขึ้นทะเบียนอยู่มีไฟเซอร์ โมเดอร์นา สปุตนิกไฟว์ ถ้าเอกชนติดต่อซื้อตรงได้ก็ดี ถ้าซื้อยังไม่ได้ก็ซื้อผ่าน อภ.

“ตอนนี้วัคซีนที่ใช้ทั่วโลกตอนนี้อยู่ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน ผู้ผลิตเขาขึ้นทะเบียนออกตัวว่านี่เป็นสถานการณ์ฉุกเฉิน ไม่สามารถเรียกร้องการชดใช้อะไรได้ เพราะฉะนั้นผู้นำวัคซีนไปใช้ต่างรับสภาพอยู่แล้วว่านี่คือสถานการณ์ฉุกเฉิน ดังนั้น การสั่งผ่าน อภ. ทาง อภ.จะมีบันทึกข้อตกลงไว้ว่า อภ.เป็นผู้นำเข้าเท่านั้น

“หากการนำไปใช้เกิดผลข้างเคียง หรืออาการไม่พึงประสงค์ อภ.ไม่ได้เป็นผู้รับผิดชอบ เอกชนนำไปใช้ต้องแจ้งต่อผู้มารับการฉีดวัคซีนให้ทราบ ในส่วนของภาครัฐจะมีมาตรา 41 ของ สปสช.ดูแลอยู่ แต่ไม่รู้ว่าครอบคลุมถึงเอกชนหรือไม่ แต่เอกชนต้องมีมาตรการดูแลตรงนี้ด้วย” นายอนุทินกล่าว

Advertisement

นายอนุทินกล่าวอีกว่า สำหรับกรณีฉีดวัคซีนให้กับประชากรในประเทศไทยขณะนี้ ไม่มีความขัดแย้งอะไร จริงๆ ไม่ได้มีกฎหมายบังคับให้ฉีด ตรงนี้เป็นสิทธิของประชาชน หากประสงค์รับวัคซีน รัฐก็มีวัคซีนให้ ชนิดวัคซีนก็อยู่กับจังหวะและวัตถุประสงค์นำเข้ามา เช่น ไฟเซอร์ เจรจานำเข้าเพราะครอบคลุมไปถึงเด็กอายุ 12-18 ปี ดังนั้น เด็กอายุ 12-18 ปี ก็ต้องได้รับการพิจารณาก่อน หากของไฟเซอร์มีมากพอก็พิจารณาให้กับกลุ่มอื่นได้ ส่วนซิโนแวคก็มีคุณสมบัติในเรื่องระยะห่างระหว่างเข็ม 1-2 ได้เร็ว ดังนั้น บุคลากรการแพทย์ คนทำงานหน้าด่านที่อายุต่ำกว่า 60 ปี ก็ได้รับวัคซีนนี้ก่อน

นายอนุทินกล่าวว่า ส่วนแอสตร้าเซนเนก้าก็สามารถรับได้ตั้งแต่อายุ 18 ปี ไปจนถึงสูงอายุ ซึ่งช่วงที่จำนวนยังมีจำกัดคนที่อายุยังไม่เยอะก็ต้องขอให้ฉีดซิโนแวคก่อน ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ แต่ถ้าวันที่มีวัคซีนทั้งหลายเข้ามาจำนวนมากแล้ว อยากทำอะไรก็พยายามอำนวยความสะดวกให้ แต่ ณ วันนี้ไฟเซอร์ก็ยังไม่เข้ามา เดือนหน้าก็มีแต่แอสตร้าฯ กับซิโนแวค ก็ต้องดูสถานการณ์ ดูความเหมาะสม

เมื่อถามว่าประชาชนมองว่าทำไมไม่ให้สิทธิประชาชนเลือกชนิดวัคซีนเอง นายอนุทินกล่าวว่า เราไม่ได้สั่งวัคซีนทุกชนิดเท่ากันหมด ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ตอนไม่มีก็ถามว่าทำไมไม่มีวัคซีน พอมีแล้วทำไมถึงไม่มียี่ห้อนี้ เพราะฉะนั้น เมื่อมีความต้องการหลากหลายรัฐก็ต้องเป็นผู้กำหนด

เมื่อถามย้ำว่าขณะนี้มีกลุ่มบุคลากรการแพทย์เรียกร้องอยากฉีดของแอสตร้าฯ เพราะมั่นใจชนิดนี้มากกว่า นายอนุทินกล่าวว่า ตอนนี้บุคลากรฉีดวัคซีนไปแล้วกว่า 90% ส่วนใหญ่ฉีดซิโนแวค ที่มีการปลุกระดมในโซเชียลมีเดียนั้นก็ทำไป

ด้าน นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการ อย. กล่าวว่า ตอนนี้บริษัทวัคซีนโมเดอร์นา โดยบริษัทซิลลิคยื่นเอกสารเข้ามาตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว ครบ 100% คาดว่าจะพิจารณาขึ้นทะเบียนได้ในเดือน พ.ค. นอกจากนี้ยังมีบริษัท บารัต ไบโอเทค เทคโนโลยี และสปุตนิกไฟว์ โดย บริษัท คินเจน ไบโอเทค จำกัด ยื่นเอกสารเข้ามา แต่ยังส่งมาไม่ครบ การที่ อย.ต้องพิจารณาเรื่องการนำเข้าวัคซีน แม้ว่าวัคซีนตัวนั้นๆ จะขึ้นทะเบียนในต่างประเทศแล้วก็เพื่อเป็นการคุ้มครองประชาชน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image