เชียงใหม่มีผู้เสียชีวิตจากโควิดอีก 2 ราย เป็นผู้สูงอายุ-มีโรคประจำตัว

เชียงใหม่รักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 หายแล้ว 90% เสียชีวิตอีก 2 ราย ผู้สูงอายุ-มีโรคประจำตัว

วันที่ 20 พฤษภาคม 2564 ที่ศูนย์บัญชาการสถานการณ์การระบาดโรค Covid-19 จังหวัดเชียงใหม่ นายกนก ศรีวิชัยนันท์ ปลัดจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วย ดร.ทรงยศ คำชัย หัวหน้ากลุ่มงานควบคุมโรคติดต่อ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ และ ผศ.นพ.นเรนทร์ โชติรสนิรมิต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ร่วมกันแถลงสถานการณ์การระบาดของโรค Covid-19 ระลอกเดือนเมษายนจังหวัดเชียงใหม่ประจำวัน

ดร.ทรงยศ กล่าวว่า วันนี้จังหวัดเชียงใหม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย จำนวน 8 ราย ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 4,033 ราย รักษาหายแล้ว 3,619 ราย คิดเป็น 90% ของผู้ป่วยทั้งหมด ยังคงมีผู้รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลทุกประเภท จำนวน 396 ราย และมีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 2 ราย ซึ่งรายล่าสุดได้เสียชีวิตลงเมื่อเวลา 02.45 น. ของวันนี้ โดยเป็นตัวเลขที่จะรายงานในวันพรุ่งนี้ ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตสะสมของจังหวัดเชียงใหม่จนถึงขณะนี้อยู่ที่ 19 ราย

ขณะที่กลุ่มผู้ติดเชื้อที่ยังรักษาตัวอยู่นั้น แยกเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรืออาการเล็กน้อย (สีเขียว) 300 ราย อาการปานกลาง (สีเหลือง) 70 ราย อาการค่อนข้างหนัก (สีส้ม) 18 ราย และผู้ป่วยอาการหนัก (สีแดง) 8 ราย

“สำหรับการตรวจกลุ่มเสี่ยงและผู้สัมผัสเมื่อวานนี้ (19 พ.ค.64) ได้ทำการตรวจหาเชื้อไปทั้งหมด 1,321 ราย พบผู้มีผลบวกเพียง 0.91% และเมื่อแยกตามหน่วยตรวจแล้ว พบว่าโรงพยาบาลเอกชนมีการตรวจพบผู้มีผลบวกสูงสุด 8.13% ส่วนโรงพยาบาลของรัฐ พบผู้มีผลบวกรองลงมา 7.97% ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงหลักในระยะหลังพบว่าเป็นการสัมผัสในครอบครัวและในสถานที่ทำงาน ส่วนการคัดกรองเชิงรุกในพื้นที่เสี่ยง เมื่อวานนี้ได้ตรวจในบริษัทขนส่งนิ่มซี่เส็งที่มีการเกิดคลัสเตอร์ ซึ่งเป็นการสุ่มตรวจครั้งที่ 2 พบผู้มีผลบวก 2 ราย ส่วนทีมคัดกรองของสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1 จังหวัดเชียงใหม่ ได้ลงพื้นที่คัดกรองในสถานพินิจเด็กและเยาวชนอำเภอแม่ริม และศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 7 จำนวน 496 คน ซึ่งทั้งหมดไม่พบเชื้อ”

Advertisement

ดร.ทรงยศกล่าวว่า วันนี้ไม่มีคลัสเตอร์ใหม่เกิดขึ้น แต่ยังคงพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ใน 2 คลัสเตอร์ คือคลัสเตอร์บริษัทขนส่ง พบผู้ติดเชื้อเพิ่มอีก 2 ราย จากการตรวจเชิงรุก เป็นพนักงานขับรถส่งของกรุงเทพ-เชียงใหม่ และเป็นแม่ค้าขายอาหาร ส่วนคลัสเตอร์ข่วงเปา จอมทอง ซึ่งเป็นเพื่อนกับผู้ติดเชื้อรายเดิมที่ไปร่วมงานศพที่ตำบลข่วงเปา อำเภอจอมทองและมีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่อำเภอเมืองเชียงใหม่ จึงขอให้ประชาชนยังคงรักษามาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด และเข้ารับการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุม 70% ของประชากรทั้งหมด โดยยอดการจองวัคซีนของชาวเชียงใหม่ขณะนี้อยู่ที่ 128,835 ราย ซึ่งได้ลงทะเบียนผ่านระบบหมอพร้อมและผ่านเจ้าหน้าที่สาธารณสุข จึงขอเชิญชวนประชาชนลงทะเบียนรับวัคซีนโควิด-19 เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ในพื้นที่

ด้าน ผศ.นพ.นเรนทร์ กล่าวชี้แจง กรณีมีผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่อีก 2 รายว่า สำหรับ ผู้เสียชีวิตรายแรกเป็นหญิงไทยอายุ 61 ปี มีโรคประจำตัวเป็นโรคความดันโลหิต ไขมันสูงและไตวายเรื้อรัง มีปัจจัยเสี่ยงสัมผัสผู้ป่วยในงานที่มีผู้ร่วมงานจำนวนมาก วันที่ 9 พฤษภาคม มีอาการหายใจเหนื่อย เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลอมก๋อย แพทย์โรงพยาบาลอมก๋อยได้ใส่ท่อช่วยหายใจ จากนั้นถูกส่งต่อไปยังโรงพยาบาลจอมทอง ตรวจหาเชื้อโควิด-19 พบผลเป็นบวก จึงส่งตัวเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ และจากภาพถ่ายทางรังสีพบว่ามีปอดอักเสบทั้งสองข้าง มีระดับออกซิเจนในเลือดต่ำมากเพียง 60% แพทย์จึงให้การรักษาด้วยยาต้านไวรัสชนิดฉีด ยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรียและยาระงับการอักเสบของปอดในทันที วันที่ 14 พฤษภาคม ผู้ป่วยมีอาการทรุดลงไม่สามารถประคับประคองการหายใจได้ ทำให้หัวใจไม่สามารถทำงานได้ปกติ นอกจากนี้ยังพบว่ามีภาวะสมองบวมอย่างรุนแรงจากการขาดอากาศ และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสมองได้ตรวจสอบการทำงานของสมองพบว่าผู้ป่วยมีภาวะสมองตาย กระทั่งเสียชีวิตลงในวันที่ 19 พฤษภาคม

ส่วน ผู้เสียชีวิตรายที่ 2 เป็นชายไทยอายุ 76 ปี มีโรคประจำตัวคือโรคความดันโลหิตสูงและไตวายเรื้อรัง มีปัจจัยเสี่ยงจากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 วันที่ 28 เมษายน มีอาการถ่ายเหลว วันที่ 1 พฤษภาคม มีอาการหายใจหอบเหนื่อย และได้เข้ารับการตรวจที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ มีไข้สูง หายใจหอบมาก ระดับออกซิเจนในเลือดต่ำลง แพทย์จึงได้ทำการใส่ท่อช่วยหายใจ ภาพถ่ายทางรังสีพบว่ามีภาวะปอดอักเสบทั้งสองข้าง และผลการตรวจเชื้อโควิด-19 เป็นบวก จึงเริ่มยาต้านไวรัสชนิดรับประทาน ระหว่างเข้ารับการรักษาผู้ป่วยมีภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อแบคทีเรียในปอด มีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากเชื้อไวรัสและหัวใจเต้นผิดจังหวะ นอกจากนี้ยังมีการตรวจพบการติดเชื้อราในปอด ผู้ป่วยมีอาการทรุดลง และพบว่าภาวะปอดอักเสบรุนแรงมากขึ้น กระทั่งมีภาวะหัวใจหยุดเต้นและเสียชีวิตลงในเวลา 02.45 น. ของวันนี้ (20 พ.ค. 64) ซึ่งถือเป็นผู้เสียชีวิตรายที่ 19 ของจังหวัดเชียงใหม่

นายกนก กล่าวถึงการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของจังหวัดเชียงใหม่ว่า จังหวัดเชียงใหม่มีกลุ่มเป้าหมายการฉีดวัคซีนอยู่ที่ 1,612,394 คน โดยแบ่งออกเป็น 5 กลุ่มคือ กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขส่วนหน้า จำนวน 47,892 คน กลุ่มเจ้าหน้าที่อื่น ๆ ที่มีโอกาสสัมผัสกับผู้ติดเชื้อ จำนวน 44,284 คน กลุ่มอาชีพเสี่ยง จำนวน 209,062 คน กลุ่มผู้สูงอายุและผู้ป่วยเรื้อรัง 7 โรค จำนวน 559,304 คน และกลุ่มประชาชนทั่วไป จำนวน 751,852 คน ทั้งนี้จังหวัดเชียงใหม่ได้มีการเตรียมสถานที่ฉีดวัคซีนไว้แล้วจำนวน 46 แห่ง เพื่อรองรับการฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนจำนวน 1,585,501 คน

“คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ ออกประกาศฉบับที่ 11 เรื่องการกำหนดวิธีการเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดจากเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในกลุ่มพนักงานขับรถโดยสารสาธารณะ/ขนส่งสินค้า เนื่องจากยังคงพบผู้ติดเชื้อในกลุ่มดังกล่าว โดยกำหนดให้พนักงานขับรถโดยสารสาธารณะ/ขนส่งสินค้า ผู้ขับรถส่งสินค้าทางการเกษตรและผู้ขับรถขนส่งสินค้าประเภทอาหารทะเลหรือผลไม้ ที่มีการเดินทางเข้า-ออกจังหวัดที่เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด เข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ทุก 7 วัน ที่โรงพยาบาลของรัฐ โรงพยาบาลเอกชน จุดตรวจเฉพาะกิจของกระทรวงสาธารณสุข หรือศูนย์วัณโรคเขต 10 เชียงใหม่ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และขอให้กลุ่มดังกล่าว ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคส่วนบุคคล D-M-H-T-T-A อย่างเคร่งครัด และแสดงผลการตรวจต่อเจ้าหน้าที่ ณ ด่านตรวจหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งเข้าตรวจสอบในที่ทำงาน หรือสำนักงาน” นายกนก กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image