อดีตผู้สื่อข่าวไทย แชร์เรื่องแผนจัดการวัคซีนที่ ‘เนเธอร์แลนด์’ 

(Photo by ALEJANDRO PAGNI / AFP)

อดีตผู้สื่อข่าวไทย แชร์เรื่องแผนจัดการวัคซีนที่ ‘เนเธอร์แลนด์’

เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม ผู้ใช้เฟซบุ๊กว่า Sirilak Cool อดีตผู้สื่อข่าวไทยที่ได้ย้ายไปอาศัยอยู่ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้โพสต์เฟซบุ๊ก เล่าเรื่องแผนบริหารจัดการวัคซีนโควิด-19 ในประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่ถือว่าเป็นแผนที่ดี ยุติธรรมและเป็นเหตุผลดี

โดยระบุว่า

ไม่ทราบนะว่าทางเมืองไทยบริหารจัดการในการฉีดวัคซีนกันแบบไหน แต่อยากเล่าสั้นๆของแผนการฉีดวัคซีนของประเทศเนเธอร์แลนด์ให้อ่านกันคร่าวๆนะคะ ก็ถือว่าเป็นแผนที่ดี ยุติธรรมและเป็นเหตุเป็นผลดีค่ะ

-แน่นอนค่ะเหมือนเช่นทุกๆประเทศ กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ได้รับวัคซีนก่อน
-ฉีดวัคซีนก่อน-หลังตามปีเกิด
-กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง ผู้มีโรคประจำตัวค่ะ

Advertisement

ไล่จากผู้สูงอายุเรียงลงมายังผู้ที่อ่อนกว่า เพราะทราบกันดีว่าโควิดโจมตีและเป็นอันตรายแก่ผู้สูงวัยได้ง่ายกว่าผู้ที่อายุยังน้อย

เช่นกำหนดว่าผู้ที่เกิดช่วงปี ค.ศ.1952-1955 จะได้รับวัคซีนภายในเดือนนั้นๆ

ค.ศ. 1956-1957 …..เดือนถัดมา

Advertisement

ไล่มาเรื่อยๆ
———-
จนปัจจุบัน

ค.ศ.1961-1970 เป็นช่วงเดือนนี้ที่จะได้รับวัคซีน

ค.ศ. 1972-1981 ตามแผนต้องเริ่มได้ฉีดภายในเดือนหน้า

ค.ศ.1982-1991 ก็อันดับถัดไป

ค.ศ. 1992-2003 ตามแผนก็จะเร่งฉีดวัคซีนให้ได้ตั้งแต่กลางเดือนมิ.ย.จนถึงเดือนก.ค. ให้หมด

โดยกำหนดฉีดวัคซีนให้พลเมืองในประเทศต่ำสุดที่อายุ 18 ปี

อย่างไรก็ตาม กรมควบคุมโรคติดต่อได้ทำงานประสานกับหมอบ้าน(คลีนิคหมอประจำตัวของแต่ละคน) โดยมีการแทรกการฉีดวัคซีนให้กับผู้ที่มีโรคประจำตัวซึ่งมีความเสี่ยงในการได้รับเชื้อและอาจมีอาการรุนแรงได้ง่ายกว่า ให้ได้รับวัคซีนก่อนที่จะถึงกำหนดของปีเกิดด้วย เช่นเราที่ได้รับเรียกให้ไปรับวัคซีนได้ก่อนกำหนดแล้วเช่นกัน เพราะอยู่ในกลุ่มเสี่ยง มีโรคประจำตัวนิดหน่อย

โรคประจำตัว ก็เช่นโรคความดันโลหิต โรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคอ้วน เป็นต้น

นอกจากนี้ ช่วงเดือนนี้ รัฐได้มีแผนการติดตามตัวและไล่ฉีดวัคซีนให้กับคนไร้บ้านในประเทศซึ่งมีอยู่ประมาณ 60,000 คนให้ได้รับวัคซีนให้ทั่วถึงเช่นกัน

ส่วนภาคปฏิบัติอย่างที่บอกคือ เมื่อถึงเวลาจะมีจดหมายเชิญมาที่บ้านเอง บางคนก็ได้รับจดหมายเชิญจากกรมควบคุมโรคติดต่อ บางคนก็ได้รับจดหมายเชิญจากคลีนิคหมอบ้านประจำตัว โดยจดหมายจะระบุว่าถ้าคุณต้องการรับวัคซีนให้เข้าไปลงทะเบียนและเลือกวัน-เวลา-สถานที่ ที่จะเข้ารับวัคซีนได้แล้วในเวปไซต์ที่ระบุ เมื่อเราเลือกวันนัดฉีดวัคซีนได้แล้ว ในระบบจะขึ้นวันนัดเข็มที่สองให้เราเองอัตโนมัติทันที โดยประมาณห่างกันไม่ต่ำกว่า 4 วีค (กรณีได้รับวัคซีนชนิดต้องฉีด 2 เข็ม) เมื่อลงทะเบียนเสร็จก็รอวันไปตามนัดหมาย

ส่วนวัคซีนอะไรที่คนที่นี่ได้รับ ที่ผ่านมาเนเธอร์แลนด์ก็ฉีดแอสตร้า เซนิกา ให้ผู้สูงอายุนะคะ เพราะการระบาดช่วงนั้นรอไม่ได้แล้ว วัคซีนที่มาก่อนก็ต้องใช้ก่อน แต่ก็มีหยุดใช้แอสตร้าเซนิกาอยู่ช่วงนึง ที่มีข่าวว่าเกิดผลข้างเคียงเรื่องลิ่มเลือดอุดตันในผู้ได้รับวัคซีนบางราย แต่ต่อมารัฐก็สั่งให้ใช้ได้อีกครั้งเพราะผลวิจัยและการศึกษาพบว่าการที่ผู้สูงอายุไม่ได้รับวัคซีนจะยิ่งอันตรายมากกว่าการใช้วัคซีน และวัคซีนตัวนี้ส่วนใหญ่จะไม่มีผลข้างเคียงในผู้สูงอายุ อย่างไรก็ตามวัคซีนตัวนี้จะฉีดให้เฉพาะผู้สูงอายุเท่านั้น

นอกจากนี้ก็มีวัคซีนอื่นๆที่ใช้ที่นี่เช่น โมเดอร์น่า , ไฟเซอร์ (เราได้ตัวนี้) , จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (ที่นี่เรียก Janssen ฉีดเข็มเดียว คนที่จะฉีดช่วงปลายเดือนนี้ คือพวกปีเกิดช่วง ค.ศ.1967-1968 จะได้รับตัวนี้) ทุกคนที่นี่มีสิทธิ์เท่าเทียมกัน ไม่มีสิทธิ์เลือกชนิดวัคซีนเอง แล้วแต่ว่าช่วงไหนเค้าใช้วัคซีนตัวไหนมาฉีดให้เรา ซึ่งหน่วยงานรัฐคงวางแผนและกำหนดมาดีแล้วว่าวัคซีนตัวไหนเหมาะกับพลเมืองกลุ่มไหน

ก็เล่าให้ฟังเฉยๆค่ะ ก็ไม่ต้องเอาไปเปรียบเทียบกันหรอกนะคะ เพราะบางทีต้นทุนของแต่ละประเทศก็ไม่เหมือนกัน เราไม่ได้หมายความถึงเฉพาะต้นทุนในเรื่องเศรษฐกิจหรือความร่ำรวยของแต่ละประเทศ แต่เรารวมถึงต้นทุนของระบบ ระบอบ ความคิด การบริหารจัดการประเทศและพลเมืองมาตั้งแต่ในอดีต ประเทศไทยยังไม่เคยมีการจัดการระบบข้อมูลด้านสุขภาพของประชาชนไว้ในฐานข้อมูลเดียวกัน ไม่มีลิงค์ศูนย์กลางที่เข้าถึงกันได้ น่าจะต้องถึงเวลที่ต้องปฏิรูปครั้งใหญ่ในเรื่องนี้กันแล้วนะคะ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image