ศบค.เตรียมระดม แพทย์จบใหม่ ดูแลผู้ป่วยโควิด ‘กทม.’ เร่งหารือ มาตรการป่วยสีเขียว รักษาตัวเองที่บ้าน

ศบค.เตรียมระดม แพทย์จบใหม่ ดูแลผู้ป่วยโควิด ‘กทม.’ เร่งหารือ มาตรการป่วยสีเขียว รักษาตัวเองที่บ้าน

เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน ที่ ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019(โควิด-19)(ศบค.) กล่าวว่า การบริหารจัดการเตียงในกรุงเทพมหานคร(กทม.) และปริมณฑล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศบค. มีความเป็นห่วงและกำกับเน้นย้ำหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้พยายามช่วยเหลือ กทม.และปริมณฑล เพิ่มศักยภาพขยายเตียง โดยเฉพาะข้อจำกัดที่เป็นห่วง คือ เตียงรองรับผู้ป่วยกลุ่มสีเหลือง และสีแดงที่มีอาการรุนแรง

ทั้งนี้ ในที่ประชุมอีโอซี ที่มี ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร ที่ปรึกษาศูนย์บูรณาการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล หารือกันในข้อเสนอแนะ 3 ประการ ส่วนหนึ่งเป็นการเพิ่มเตียงสีแดง ได้พูดถึงการยกระดับ รพ.บางขุนเทียน และ รพ.ราชพิพัฒน์ และจะหารือกับ รพ.เอกชน ขณะที่ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข มอบทุกภาคส่วนของกระทรวงฯ ระดมสรรพกำลัง เพิ่มประสิทธิภาพให้กทม.และปริมณฑล โดยหารือกับ รพ.มงกุฎวัฒนะ และ รพ.ธนบุรี เพื่อปรับพื้นที่ รพ. รองรับผู้ป่วยอาการรุนแรงให้มากขึ้น รวมถึง รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และวชิระพยาบาล ใน 3 ส่วนนี้จะมีการระดมบุคลากรเพื่อเปิดเตียงรองรับอีกกว่า 50 เตียงในเดือนมิ.ย.

“ส่วนข้อจำกัดเรื่องบุคลากร มีการพูดคุยกันระดมจากทุกภาคส่วนทั้งทหาร หรือบุคลากรสาธารณสุขจากต่างจังหวัด รวมถึงแพทย์จบใหม่ที่สอบเสร็จแล้ว ระดมมาดูแลในกทม.และปริมณฑล สิ่งสำคัญคือ นอกจากระดมบุคลากรทางการแพทย์เพิ่มประสิทธิภาพเตียงให้มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มอาการรุนแรง ก็พูดถึงการเพิ่มทีมสอบสวนโรคด้วย เพราะเป็นกลไกสำคัญในการแยกผู้ป่วยและป้องกันระบาดวงกว้าง” พญ.อภิสมัย กล่าว

Advertisement

นอกจากนั้น ที่ประชุมหารือกันถึงมาตรการอนุญาตให้ผู้ป่วยสามารถเลือกดูแลตัวเองที่บ้าน (Home isolation) ซึ่งมีรายละเอียดมาก จึงยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน เนื่องจากมีความเสี่ยงที่ต้องพิจารณาหลายจุด อย่างแรกคือ ต้องมีการประเมินอาการที่แม่นยำ เพราะกลุ่มสีเหลืองและแดง ไม่สามารถดูแลตัวเองที่บ้านได้ ต้องเป็นกลุ่มสีเขียวเท่านั้น และในแง่การปฏิบัติตัว ต้องผ่านการประเมินว่าสามารถปฏิบัติได้อย่างปลอดภัย ภายใต้การประเมินของบุคลากรแพทย์

พญ.อภิสมัย กล่าวว่า มีการประชุมทางไกลจากผู้ว่าฯ ในเขตปริมณฑล คือ นครปฐม รายงานสถานการณ์ที่เราติดตามคือการแพร่ระบาดกระจายในสถานที่ชำแหละสัตว์จากที่หนึ่งไปอีกหลายที่ พบว่ามาจากการเคลื่อนย้ายแรงงาน และมีปัญหาในพื้นที่แรงงานต่างด้าว ตอนนี้จังหวัดพยายามระดมบูรณาการทุกภาคส่วนจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ หารือผู้ประกอบการหารือกำชับมาตรการ ตระเตรียมสถานที่ รพ.สนามแห่งที่ 4 เอ่ยถึงการกระจายวัคซีนของนครปฐม ซึ่ง ศบค.ชุดเล็ก สธ.ก็รับข้อเสนอ ตอนนี้อาจมีการติติงหลายภาคส่วน เรามีวัคซีนค่อนข้างจำกัด กระจายไม่ทั่วถึงล่าช้า แต่ สธ.พยายามรับไปและปรับให้เร็วขึ้น กระจายมากขึ้น ทุกจังหวัดตอนนี้กระจายวัคซีนจะเป็นอย่างมากขึ้นใน ก.ค.นี้ เพราะมีวัคซีนมากขึ้น ฝากทุกจังหวัด ศบค.ไม่ได้เทอดทิ้งจังหวัดใดจังหวัดหนึ่ง ให้ความสำคัญทุกพื้นที่ กระจายติดตามพื้นที่เสี่ยงสูงเป็นหลักด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image