ศบค.อัพเดตสถานการณ์โควิดวันนี้ ‘กทม.’ ป่วย-เสียชีวิตมากสุด พบอีก 6 คลัสเตอร์ใหม่โผล่ 6 จังหวัด

ศบค.อัพเดตสถานการณ์โควิดวันนี้ ‘กทม.’ ป่วย-เสียชีวิตมากสุด พบอีก 6 คลัสเตอร์ใหม่โผล่ 6 จังหวัด

เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) รายงานสถานการณ์ประจำวันยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 76 มียอดติดเชื้อ รวม 4,662 ราย แยกเป็น ติดเชื้อใหม่ 4,652 ราย ในเรือนจำ/ที่ต้องขัง 10 ราย หายป่วยกลับบ้านแล้ว 2,793 ราย มีผู้ป่วยสะสมตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 225,652 ราย เสียชีวิต 36 ราย ตัวเลขรักษาอยู่ในโรงพยาบาลยังน่ากังวล อยู่ที่ 47,481 ราย อยู่ในโรงพยาบาล 20,732 ราย โรงพยาบาลสนาม 26,749 ราย อาการหนักอยู่ที่ 1,846 ราย ยังเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้น ใส่เครื่องช่วยหายใจอยู่ที่ 527 ราย

  • ฉีดวัคซีนแล้วกว่า 9.4 ล้านโดส

ส่วนการฉีดวีคซีนสะสม อยู่ที่ 9,416,972 โดส แยกเป็น เข็มที่ 1 จำนวน 6,721,038 ราย แยกเป็น ซิโนแวค 3,524,749 ราย แอสตร้าเซนเนก้า 3,184,843 ราย ซิโนฟาร์ม 11,446 ราย และเข็มที่ 2 จำนวน 2,695,934 ราย แยกเป็น ซิโนแวค 2,637,383 ราย แอสตร้าเซนเนก้า 58,544 ราย ซิโนฟาร์ม 7 ราย วัคซีนเริ่มได้ฉีดกันเต็มที่ ส่วนที่ว่ามีขาดหายไปบางช่วง มีลักษณะมาเป็นระลอกๆ

สำหรับลักษณะของกลุ่มอายุจะเป็นภาพของกลุ่มอายุ 20-29 ปี และ 30-39 ปี ยังเป็นภาพเดิมตั้งแต่ปีที่แล้วที่เคยรายงานมา เฉพาะฉะนั้น วัยแรงงานช่วงผู้ใหญ่ตอนต้นเป็นกลุ่มคนมีความแอ๊กทีฟออกจากบ้าน จากพื้นที่ เป็นวัยกลุ่มเสี่ยงมีการติดเชื้อสูงที่สุด และต่อเนื่องกันมาตลอด ส่วนผู้สูงอายุยังเป็นกลุ่มน้อย แต่กลายเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงเสียชีวิตมากที่สุด ในตอนนี้วัคซีนที่ได้ให้ขึ้นมาให้กลุ่มผู้สูงอายุได้รับวัคซีนก่อนเพื่อไม่ให้ป่วยหนัก การใช้เตียงจะได้ลดน้อยลง จะปรับยุทธศาสตร์มาด้านนี้ ขณะที่กลุ่มวัยทำงานเป็นกลุ่มที่นำพาเชื้อไปในหลายๆ ที่ได้ จะต้องเป็นกลุ่มที่ถูกควบคุมตามที่มาตรการต่างๆ ออกมา เป็นเรื่องที่กลุ่มผู้ใช้แรงงานทั้งหลายจะอยู่กลุ่มนี้ด้วย

Advertisement

  • เสียชีวิต 36 ราย กทม.มากสุด 19 ราย

ส่วนผู้เสียชีวิต 36 ราย มากสุด กทม. 19 ราย นนทบุรี 7 ราย นครปฐมและเชียงราย จังหวัดละ 2 ราย ที่เหลือจังหวัดละ 1 ราย ได้แก่ สมุทรสาคร สมุทรปราการ ชลบุรี สงขลา ปราจีนบุรี สมุทรสงคราม เป็นชาย 20 ราย หญิง 16 ราย เป็นชาวไทย 35 ราย นิวซีแลนด์ 1 ราย มีค่ากลางอายุ 67.5 ปี ตั้งแต่ 41-93 ปี ค่ากลางเวลาที่ทราบผลติดเชื้อและเสียชีวิตอยู่ที่ 9 วัน นานสุด 52 วัน ตอนนี้วันนอนรักษาลดน้อยลงมาเป็นตัวเลขหลักเดียว จากเดิมนอนกันเป็นเดือนๆ กว่าจะเสียชีวิต

“เรื่องของโรคประจำตัวยังคล้ายเดิม เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคไต โรคปอด โรคหัวใจ อ้วน มะเร็ง หลอดเลือดสมอง โรคเลือด รวมถึงไม่มีโรคประจำตัว ส่วนปัจจัยเสี่ยง ตอนนี้มีการพูดคุยกันหลายครั้งที่เรารายงานว่าเป็นคลัสเตอร์ติดกันในชุมชน ตลาด โรงงาน พอมาดูแล้วในปัจจัยที่เสียชีวิตยังพบว่าครอบครัวยังสูงสุด“

นพ.ทวีศิลป์กล่าวอีกว่า เมื่อดูในเชิงระบาดวิทยา ในกลุ่มคนที่ติดเชื้อก็มาหาสาเหตุกัน พบว่าเมื่อไปดูตัวเลขของการเข้ามาในระบบบริการ หรือค้นหาเชิงรุกกลุ่มเสี่ยง มีการตั้งคำถามว่า มีการติดเชื้อมาจากคลัสเตอร์ต่างๆ ชุมชน โรงงาน กับการติดเชื้อจากรายย่อยๆ คือจากการสัมผัสในครอบครัว การใกล้ชิดกัน ปรากฏว่ามาจากคลัสเตอร์ประมาณ 25% เท่ากับ 1 ใน 4 แต่อีก 3 ใน 4 มาจากรายบุคคล ครอบครัว ข้อมูลจากกรมควบคุมโรคจะยืนยันว่ามาตรการใหญ่ๆ ที่ออกมาจะไปอยู่คลัสเตอร์ใหญ่ๆ จะเป็นการจัดการกลุ่มหนึ่ง แต่มาตรการรายย่อยถึงแม้กลับเข้ามาที่บ้านแล้ว เรื่องของการดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคลก็ต้องดูแลกันอย่างดี

ส่วนผู้ที่มาจากต่างประเทศมี 28 ราย ซาอุดีอาระเบีย 1 ราย แอฟริกาใต้ 1 ราย และกัมพูชา 26 ราย ซึ่งมี 8 ราย มาจากช่องทางธรรมชาติ ขอย้ำว่าให้เดินทางผ่านข้ามแดนถาวรจะดีที่สุด เพื่อจะได้ช่วยดูแลให้ปลอดภัยจากโรคด้วย

  • เปิด 10 จังหวัดป่วยสูงสุด

สำหรับ 10 จังหวัดมีจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่สูงสุด นิวไฮยังคงเป็น กทม.อยู่ที่ 1,692 ราย สมุทรปราการ 647 ราย สมุทรสาคร 293 ราย นนทบุรี 185 ราย สงขลา 182 ราย ปทุมธานี 180 ราย นครปฐม 168 ราย ชลบุรี 146 ราย ปัตตานี 143 ราย และยะลา 89 ราย

ดูแนวโน้มของแต่ละจังหวัด ใน กทม.เส้นจะพุ่งทแยงขึ้น จากเดิมจะทรงๆ ขึ้นๆ ลงๆ ส่วนนนทบุรี ส่วนใหญ่พบในโรงพยาบาล ส่วนตรวจเชิงรุกไม่ค่อยพบ ขออย่าให้เพิ่มสูงขึ้นมาก แต่ก็ยังติด 1 ใน 5 ส่วนปทุมธานี ดูเหมือนป็นภาพที่ยังทรงๆ อยู่ ก็ยังไว้วางใจไม่ได้ ด้านสมุทรปราการพุ่งขึ้นอย่างชัดเจน ขอให้ช่วยกันทั้งผู้ประกอบการ สถานประกอบการ แรงงานที่ทำงานกันอยู่ ถ้ามีไซต์ก่อสร้างขอให้อยู่ในจังหวัดที่ต้องควบคุมดูแลด้วย เช่นเดียวกับสมุทรสาคร จากเดิมที่ตัวเลขลดลง เมื่อเข้าเดือนมิถุนายนพุ่งขึ้นมาตลอด จากโรงงานหลายแห่งใน อ.เมือง อ.กระทุ่มแบน และการรักษาในโรงพยาบาลก็พุ่งด้วยเช่นกัน

  • กทม.คลัสเตอร์เฝ้าระวังเหลือ 106 แห่ง ตลาดเสี่ยงสุด

รายละเอียดตามเขตของ กทม. มีเฝ้าระวัง 106 แห่ง มีหลายแห่งจะเป็นภาพซ้ำจากเมื่อวาน แต่ตัวเลขลดลง จากที่รายงานเมื่อวาน 111 แห่ง มีไม่พบผู้ป่วยรายใหม่ใน 14 วัน จำนวน 10 แห่ง ได้แก่ เขตดอนเมือง แคมป์ก่อสร้าง, เขตลาดพร้าว อพาร์ตเมนต์ ห้างค้าปลีก แคมป์ก่อสร้าง, เขตจตุจักร แคมป์ที่พักคนงาน, เขตห้วยขวาง ชุมชนโรงปูน, เขตหนองจอก ตลาดหนองจอก และโรงงานผลิตอาหาร, เขตสาทร ชุมชนหน้าสมาคมธรรมศาสตร์ และเขตบางรัก ชุมชนบนถนนสีลม

และมีที่ไม่พบผู้ป่วยรายใหม่ใน 28 วัน มี 26 แห่ง เพิ่มขึ้นมา 7 แห่ง ได้แก่ เขตจตุจักร บริษัทรถทัวร์ โรงงานน้ำแข็ง, ลาดพร้าว บริษัทประกันย่านลาดปลาเค้า, หลักสี่ แคมป์ก่อสร้าง, บางซื่อ โกดังสินค้าให้เช่าไม่มีชื่อ, ป้อมปราบศัตรูพ่าย ชุมชนวัดโสมนัส, ราชเทวี บริษัทสินเชื่อ, ดุสิต ไซต์ก่อสร้าง, ประเวศ ร้านเฟอร์นิเจอร์, คลองสามวา ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ, มีนบุรี ตลาดมีนบุรี, ปทุมวัน ชุมชนบ่อนไก่, สาทร บริษัทขายตรงตึกเอมไพร์ และคอนโดฯ, สวนหลวง ชุมชนมโนราวรรณ, วัฒนา แคมป์คนงานก่อสร้าง 2 แห่งและสถานทูต, บางคอแหลม แคมป์ก่อสร้าง 2 แห่ง, คลองเตย ที่พักคนงานก่อสร้าง, ยานนาวา โรงงานเย็บผ้า, ทวีวัฒนา ชุมชนแออัด ซอยสุพจน์อุทิศ, บางพลัด แคมป์ก่อสร้าง, บางแค เนอร์สซิ่งโฮม 3 สาขา, ทุ่งครุ โรงงานตัดเย็บผ้าและโรงงานเย็บผ้า

“ขอให้ทุกแห่งอย่ากลับมาซ้ำเลย ขอให้รักษาความสะอาดของเขตของท่านเอาไว้ ขอขอบคุณชาวกรุงเทพมหานคร”

ทั้งนี้ มีอีกตัวเลขตั้งสมมุติฐานว่า ระหว่างชุมชน ตลาด แคมป์ก่อสร้าง และโรงงาน เมื่อเข้าไปสำรวจแล้ว อะไรที่มีความเสี่ยงสูงสุดจะมีการติดเชื้อได้ จากการสุ่มตรวจพบว่าตลาดมีโอกาสติดเชื้อสูงสุด มีเป้าหมายทั้งหมด 87 แห่ง ตรวจได้ 32 แห่ง พบเชื้อ 6 แห่ง คิดเป็น 18.75% ยังเป็นโจทย์ของชาว กทม. ตลาดยังเป็นแหล่งการติดเชื้อที่คลาสสิกตั้งแต่ไหนแต่ไรมาตลอด แต่ครั้งนี้ไม่ได้ปิด ขอให้รักษาความสะอาด เพราะใกล้ชิดกับประชาชนมาก ส่วนแคมป์ก่อสร้างจากเป้าหมาย 84 แห่ง ตรวจแล้วพบเชื้อ 5 แห่ง คิดเป็น 5.95% ชุมชนเป้าหมาย 44 แห่ง พบติดเชื้อ 1 แห่ง คิดเป็น 12.3% โรงงานเป้าหมาย 21 แห่ง ตรวจแล้ว 13 แห่ง รอผลการสุ่มตรวจ

  • เปิด 6 คลัสเตอร์ใหม่ใน 6 จังหวัด

สำหรับคลัสเตอร์ใหม่วันนี้พบ 6 คลัสเตอร์ ใน 6 จังหวัด รวม 117 ราย ได้แก่ สมุทรสาคร อ.เมืองสมุทรสาคร โรงงานห้องเย็น 9 ราย, ปทุมธานี อ.ลำลูกกา โรงงานทำสบู่ 46 ราย, นครปฐม อ.นครชัยศรี โรงงานยางรถยนต์ 14 ราย, ระยอง อ.ปลวกแดง บริษัทผลิตสายไฟ 12 ราย, พระนครศรีอยุธยา อ.บางปะอิน บริษัทผลิตแผงวงจรไฟฟ้า 11 ราย, เพชรบุรี อ.เขาย้อย บริษัทแห่งหนึ่ง 25 ราย

ส่วนจังหวัดที่ยังมีรายงานผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจากคลัสเตอร์เก่า ได้แก่ สมุทรปราการ อ.บางพลี ชุมชนและตลาดบางพลี ยอดสะสมในคลัสเตอร์ 143 ราย, สงขลา 7 อำเภอ โรงงานอาหารทะเลกระป๋อง รวม 506 ราย, ปทุมธานี อ.คลองหลวง ตลาดไทย รวม 499 ราย, ชลบุรี อ.สัตหีบ ตลาดสัตหีบ รวม 185 ราย, 12 จังหวัดภาคใต้ ยะลา ปัตตานี ภูเก็ต นราธิวาส สงขลา สตูล กระบี่ พัทลุง พังงา นครศรีธรรมราช ตรัง สุราษฎร์ธานี เป็นคลัสเตอร์มัรกัส 4 แห่ง และโรงเรียนปอเนาะ 5 แห่ง รวม 665 ราย, ระนอง อ.เมืองระนอง แพปลา รวม 1,131 ราย, ประจวบคีรีขันธ์ อ.หัวหิน โรงงานสับปะรด รวม 703 ราย, สระบุรี อ.หนองแค บริษัทผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ 76 ราย บริษัทผลิตชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ 145 ราย, ระยอง อ.แกลง ฟาร์มเห็ด 128 ราย

  • ข่าวดีมี 6 จังหวัดผู้ติดเชื้อเป็นศูนย์

“สรุปปิดท้ายภาพแผนที่ประเทศไทยมี 6 จังหวัด ที่รายงานว่าผู้ติดเชื้อเป็นศูนย์ราย ได้แก่ มหาสารคาม ลำพูน ตราด ยโสธร แม่ฮ่องสอน และมุกดาหาร น้อยลงๆ จากเดิมเคยอ่านอยู่ที่ 20 30 จังหวัด ตอนนี้เหลืออยู่แค่ 6 จังหวัด สะท้อนกับภาพที่พบเห็นมีแรงงานย้ายถิ่นกลับไปจังหวัดต่างๆ จริงๆ เป็นลูกหลานของท่านในแต่ละจังหวัด ถ้าท่านกลับบ้าน มีอาการบ่งบอกว่าจะติดเชื้อ ขอให้แสดงตัวต่อสาธารณสุขในพื้นที่เพื่อรับการรักษา ขอให้ทราบว่าโรคนี้รักษาได้ ถ้าไม่ปิดบังตัวอย่างไรจะได้รับการดูแลรักษาอย่างดี ขอให้ร่วมด้วยช่วยกัน ขอให้แต่ละจังหวัดให้การดูแลเขาอย่างดี จะทำให้เราผ่านภาวะยากลำบากนี้ไปด้วยกัน“ นพ.ทวีศิลป์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image