เปิดวิธีปฏิบัติ โฮม ไอโซเลชั่น รักษาโควิดที่บ้าน

เปิดวิธีปฏิบัติ โฮม ไอโซเลชั่น รักษาโควิดที่บ้าน

ใครจะไปคาดคิดว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ที่ยืดเยื้อมานานกว่า 1 ปี จะส่งผลให้ขณะนี้ระบบการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศไทยกำลังเข้าสู่ภาวะวิกฤต อันเนื่องมาจากมีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นวันละหลักพันคน ที่อาการหนักต้องอยู่ใกล้แพทย์ ใกล้พยาบาล เพิ่มขึ้นจนไม่แทบไม่มีเตียงรักษารองรับในโรงพยาบาล (รพ.) สภาพที่ต้องรอเตียงวันละ 400-500 ราย และตกค้างอีกเกือบ 1,000 ราย จึงผุดขึ้นในหลายพื้นที่โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

ล่าสุด กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้อง คิดใหม่ ทำใหม่ ด้วยการออกแนวทางให้ผู้ป่วยติดเชื้อกลุ่มที่ไม่มีอาการสามารถแยกกักตัวเองอยู่ที่บ้าน หรือโฮม ไอโซเลชั่น (Home Isolation)

ทั้งนี้ นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ บอกว่า แนวทางผู้ป่วยแยกกักตัวเองที่บ้าน หากไม่จำเป็น ก็ไม่อยากใช้ เพราะเกรงว่าหากไม่มีแพทย์ พยาบาล ดูแลผู้ป่วยติดเชื้อใกล้ชิด ในภาวะที่ผู้ป่วยเกิดภาวะวิกฤตอาจส่งต่อให้ถึงมือแพทย์ไม่ทันการณ์ ที่สำคัญหากระบบกักตัวเองที่บ้านไม่ดีพอ อาจมีความเสี่ยงแพร่เชื้อไปสู่สมาชิกในครอบครัวได้ แต่ทว่า ในสถานการณ์ของประเทศขณะนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้แนวทางดังกล่าวกับผู้ป่วยติดเชื้อกลุ่มอาการที่ไม่มีอาการ หรืออาการไม่รุนแรง และกลุ่มที่กำลังจะหายดี เพื่อบริหารจัดการเตียงใน รพ.ให้สามารถหมุนเวียนบริการผู้ป่วยที่มีอาการน่าเป็นห่วงมากกว่า จะใช้แนวทางนี้

Advertisement

สำหรับผู้ป่วยระหว่างรอเตียงเพื่อการรักษา หรือผู้ป่วยที่รักษาใน รพ. แต่อาการเริ่มดีขึ้นในช่วง 10 วัน ก็จะมีแนวทางให้กลับออกไปแยกกักตัวต่อที่บ้านอีก 4 วัน และจะไม่ใช้กับผู้ป่วยทุกราย เพราะต้องดูสภาพร่างกายและความสมัครใจของผู้ป่วย ควบคู่กับบริบทสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก นพ.สมศักดิ์กล่าว สำหรับผู้ป่วยติดเชื้อที่สมัครในการเลือกรักษาแบบโฮม ไอโซเลชั่น ต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้

ต้องมีอายุน้อยกว่า 60 ปี ป่วยไม่มีอาการ สุขภาพแข็งแรง อยู่คนเดียว หรือมีผู้อยู่ร่วมที่พักไม่เกิน 1 คน ไม่มีภาวะอ้วน คือดัชนีมวลกายมากกว่า 30 กก./ม.2 หรือน้ำหนักตัวมากกว่า 90 กก. และที่สำคัญที่สุด ไม่ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) โรคไตเรื้อรัง (CKD) โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ และโรคอื่นๆ ตามดุลพินิจของแพทย์

โดยขณะอยู่ที่บ้านต้อง 1.วัดระดับออกซิเจนวันละ 2 ครั้ง 2.รายงานแพทย์ผ่านระบบวิดีโอคอลวันละ 1-2 ครั้ง ซึ่งมีการคัดกรองเบื้องต้นง่ายๆ ทำได้ทุกวัน ด้วยการให้ ผู้ป่วยวัดระดับออกซิเจนในเลือดก่อนและ หลังออกกำลังกาย เพื่อดูว่าค่าลดหรือเพิ่มอย่างไร และหากจำเป็นต้องใช้เครื่องเอกซเรย์ จะมีรถพยาบาลไปรับที่บ้าน ส่วนแนวทางปฏิบัติอื่นๆ ได้แก่ 1.ห้าม ผู้ใดเข้าไปเยี่ยมบ้าน 2.ไม่เข้าใกล้หรือสัมผัสกับผู้สูงอายุหรือเด็กอย่างเด็ดขาด 3.แยกห้องพัก ของใช้ส่วนตัวกับผู้อื่น หากแยกห้องไม่ได้ ควรแยกบริเวณที่นอนให้ห่างจากคนอื่นมากที่สุด และเปิดหน้าต่างให้อากาศถ่ายเท ไม่ควรนอนร่วมกันในห้องปิดที่ใช้เครื่องปรับอากาศ

Advertisement

4.รับประทานในห้องของตนเอง 5.สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลา ที่จะออกมาจากห้องที่พักอาศัย 6.ล้างมือ ด้วยสบู่หรือทำความสะอาดมือด้วยแอลกอ ฮอล์ เจล ทุกครั้งที่จำเป็นจะต้องสัมผัสกับผู้อื่นหรือหยิบจับของที่จะต้องใช้ร่วมกับผู้อื่น 7.แยกซักเสื้อผ้า ผ้าขนหนู และเครื่องนอน ด้วยน้ำและสบู่หรือผงซักฟอก ควรใช้ห้องน้ำแยกจากผู้อื่น หากเลี่ยงไม่ได้ ให้ใช้คนสุดท้าย ปิดฝาชักโครกก่อนกดน้ำและหมั่นทำความสะอาดอยู่เสมอ

ในการดำเนินการตามแนวทางนี้ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้อนุมัติวงเงินสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ได้แก่ ค่าอุปกรณ์วัดไข้ เครื่องวัดระดับออกซิเจนในเลือดสำหรับให้ผู้ป่วยไปใช้ที่บ้าน 1,100 บาท พร้อมค่าอาหาร 3 มื้อ ไม่เกิน 1,000 บาทต่อวัน โดยจ่ายให้ รพ.ที่ดูแลผู้ป่วยรายนั้นเป็นเวลา 14 วัน และให้ รพ.พิจารณาว่าจะซื้อเหมารายหัวจากร้านอาหาร หรือปรุงออกไปจากโรงครัว มีการให้ยาฟาวิพิราเวียร์ หรือยาฟ้าทะลายโจร มีระบบการดูแลผู้ป่วยทางไกล (Tele Net)

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ระบบโฮม ไอโซเลชั่น ของไทยจะต่างจากของต่างประเทศ ซึ่งต่างประเทศจะให้คนไข้ดูแลตัวเองทุกอย่าง แต่ระบบของไทยจะยังอยู่ในการดูแลของ รพ. มีการให้อุปกรณ์วัดไข้ เครื่องวัดระดับออกซิเจนในเลือดไปที่บ้าน เพื่อวัดค่าต่างๆ มีแพทย์โทรศัพท์ หรือวิดีโอคอล ตรวจสอบอาการทุกวัน มีการส่งอาหารและน้ำให้วันละ 3 มื้อ หากอาการทรุดลงก็จะส่งยาฟ้าทะลายโจร และยาฟาวิพิราเวียร์ไปให้ที่บ้าน หรือส่งรถไปรับเพื่อนำเข้ารักษาใน รพ. ดังนั้น ระบบของไทยจึงไม่ใช่การผลักผู้ป่วยให้ไปเผชิญชะตากรรมเดียวดายอยู่ที่บ้าน

แต่ดูแลเหมือนอยู่ใน รพ. เพียงแต่เปลี่ยนสถานที่เป็นที่บ้าน ซึ่งคนไข้ที่จะทำแบบนี้ก็ไม่ได้ทำกับผู้ป่วยทั้งหมด แต่ขึ้นอยู่กับการประเมินของแพทย์และลักษณะบ้านว่ามีความเหมาะสมที่จะกักตัวได้หรือไม่ ทั้งนี้ นอกจากการทำโฮม ไอโซเลชั่นแล้ว ในบางสถานที่ที่มีผู้ติดเชื้อหลายคน ก็อาจทำเป็นลักษณะคอมมูนิตี้ ไอโซเลชั่น (Community isolation) ก็ได้ คือนำผู้ป่วยหลายๆ คน ไปดูแลในสถานที่ที่จัดไว้เป็นการเฉพาะในชุมชน เช่น โรงงาน วัด เป็นต้น มีรถเอกซเรย์ ห้องปฏิบัติการ (แล็บ) เคลื่อนที่ ไปตรวจเชื้อ มีแพทย์ใช้ระบบเทเลคอนเฟอเรนซ์ ดูแลสอบถามอาการทุกวัน ซึ่ง สปสช.ก็จะสนับสนุนค่าใช้จ่ายให้เช่นเดียวกัน

ถึงเวลาแล้วที่ทุกคนต้องร่วมมือกัน เพื่อลดอัตราการติดเชื้อให้มากที่สุด!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image