โควิดไทยวันนี้ ป่วยสะสม 2.6 แสนราย อันดับ 65 ของโลก คลัสเตอร์ใหม่โผล่ไม่หยุด ‘กทม.’ ป่วยเสียชีวิตทั้ง 50 เขต

โควิดไทยวันนี้ ป่วยสะสม 2.6 แสนราย อันดับ 65 ของโลก คลัสเตอร์ใหม่โผล่ไม่หยุด ‘กทม.’ ป่วยเสียชีวิตทั้ง 50 เขต

วันที่ 5 กรกฎาคม 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 (โควิด-19) (ศบค.) รายงานสถานการณ์โควิด-19 วันนี้ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 65 ของโลก มียอดติดเชื้อรวม 6,166 ราย แยกเป็นติดเชื้อใหม่ 6,082 ราย ติดเชื้อภายในเรือนจำ/ที่ต้องขัง 84 ราย หายป่วยกลับบ้าน 2,534 ราย ป่วยสะสม 260,370 ราย เสียชีวิต 50 ราย รวมเสียชีวิตสะสม 2,276 ราย รักษาอยู่ในโรงพยาบาล 63,520 ราย อยู่ในโรงพยาบาล 32,060 ราย โรงพยาบาลสนาม 31,460 ราย อาการหนัก 2,199 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 603 ราย

  • เผยอังกฤษเตรียมฉีดเข็ม 3 กลุ่มสูงวัย-เปราะบาง

“วันนี้ทั่วโลกป่วยโควิดกว่า 184.5 ล้านราย เพิ่มขึ้น 327,857 ราย ยังมีความรุนแรงในหลายประเทศ โดยเฉพาะฝั่งของประเทศในแถบยุโรป เราจะได้เรียนรู้ด้วยกันในกรณีของอังกฤษวันนี้เเพิ่มขึ้น 24,248 ราย ซึ่งประเทศเขากับเราใกล้เคียงกัน แต่ว่าประเทศเขามีประชากร 60 กว่าล้านคน แต่ได้รับวัคซีนมาแล้วในช่วงหนึ่ง ปรากฏการณ์ที่เห็นคนที่ฉีดแล้วทำไมยังมีอยู่ สิ่งที่เราต้องเรียนรู้คือ วัคซีนป้องกันการเสียชีวิต ป่วยหนักได้ แต่ว่าไม่ได้ทำให้การป้องกันการติดเชื้อ”

นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า แต่สิ่งที่อังฤกษทำได้ดี คือ อัตราการเสียชีวิตน้อย หมายความว่าถ้าได้รับวัคซีนแล้ว การติดเชื้อจะเหมือนไข้หวัดใหญ่ เสียชีวิตจะน้อยลง สิ่งที่เราเรียนรู้จากต่างประเทศจะกำลังเกิดขึ้นในประเทศไทยเรา ถ้าเราได้มีการปรับการฉีดวัคซีน ซึ่งอังกฤกษวันก่อนมีการออกข่าวจะระดมฉีดวัคซีนเพิ่มเติมในเดือนกันยายนในกลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่มเปราะบางในเข็มที่ 3 หลังผ่านเข็มแรกและเข็มที่ 2 ไปแล้ว

Advertisement

“ยอดอาการหนักกับใส่เครื่องช่วยหายใจยังสูง แสดงถึงความรุนแรงของโรค และพึ่งพาเตียงที่อยู่ในโรงพยาบาล ซึ่งวันนี้ที่ประชุมคณะกรรมการ EOC ของกระทรวงสาธารณสุข ได้พูดคุยถึงมาตรการที่จะปรับเปลี่ยนในการที่จะมาดูผู้ป่วยสีแดง สีเหลือง ที่เพิ่มขึ้น”

  • ฉีดวัคซีนแล้ว 10.77 ล้านโดส

ส่วนการฉีดวัคซีนใน 77 จังหวัด สะสมวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ถึง 4 กรกฎาคม ฉีดแล้ว 10,777,748 โดส เข็มที่1 สะสม 7,804,654 ราย เข็มที่2 สะสม 2,973,094 ราย และยอดสะสมตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายน รวม 6,677,227 โดส เข็มที่1 สะสม 5,034,407 ราย เข็มที่ 2 สะสม 1,642,820 ราย

Advertisement

สำหรับการเสียชีวิต 50 ราย กระจาย 14 จังหวัด กทม.สูงสุด 17 ราย นนทบุรี 9 ราย สมุทรปราการ 6 ราย ฉะเชิงเทรา 3 ราย นครปฐม 2 ราย นราธิวาส 2 ราย ปัตตานี 2 ราย สงขลา 2 ราย สมุทรสาคร 2 ราย จันทบุรี 1 ราย นครนายก 1 ราย นครสวรรค์ 1 ราย ระยอง 1 ราย สุพรรณบุรี 1 ราย ค่ากลางอยู่ที่ 69 ปี ชาย 34 ราย หญิง 16 ราย ปัจจัยเสี่ยง ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง โรคไต โรคปอด โรคหัวใจ โรคอ้วย หลอดเลือดสมอง มะเร็ง ส่วนปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อส่วนใหญ่เดินทางไปในพื้นที่ระบาด ติดจากคนในครอบครัว

“วิเคราะห์การเสียชีวิตใน กทม. จากยอดผู้เสียชีวิต 1,069 คน จะเป็นช่วงอายุ 61-70 ปี ผู้ชายมากกว่าผู้หญิง 56 ต่อ 43 มีโรคประจำตัว 81.77% ส่วนใหญ่เป็นความดัน เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง”

  • กทม.ป่วยตายทั้ง 50 เขต ‘จตุจักร-คลองเตย’ สูงสุด

เมื่อจำแนกเป็นรายเขต พบว่ามีติดเชื้อและเสียชิวิตสะสมทั้ง 50 เขต โดย 10 เขตมียอดสะสมสูงสุด ได้แก่ จตุจักร 52 ราย คลองเตย 52 ราย จอมทอง 37 ราย ดินแดง 32 ราย คลองสามวา 30 ราย ธนบุรี 30 ราย ป้อมปราบศัตรูพ่าย 29 ราย บางกะปิ 28 ราย ลาดพร้าว 27 ราย บางเขน 27 ราย

ส่วน 40 เขตที่เหลือ ได้แก่ บางแค 26 ราย หลักสี่ 25 ราย บางซื่อ 25 ราย สวนหลวง 22 ราย สายไหม 21 ราย ราชเทวี 21 ราย บางรัก 21 ราย ปทุมวัน 21 ราย ภาษีเจริญ 20 ราย บางคอแหลม 20 ราย บางนา 18 ราย มีนบุรี 18 ราย คลองสาน 18 ราย ประเวศ 17 ราย ยานนาวา 17 ราย สาทร 16 ราย บางขุนเทียน 16 ราย พญาไท 15 ราย ห้วยขวาง 15 ราย ดุสิต 15 ราย ลาดกระบัง 15 ราย บางกอกน้อย 14 ราย ดอนเมือง 13 ราย บางกอกใหญ่ 13 ราย ราษฎร์บูรณะ 13 ราย สัมพันธวงศ 13 ราย ทุ่งครุ 13 ราย บางพลัด 12 ราย พระนคร 12 ราย วังทองหลาง 12 ราย พระโขนง 11 ราย หนองแขม 11 ราย วัฒนา 10 ราย หนองจอก 10 ราย บึงกุ่ม 10 ราย บางบอน 9 ราย คันนายาว 8 ราย ตลิ่งชัน 7 ราย สะพานสูง 7 รายและทวีวัฒนา 4 ราย

ด้านสถานการณ์ทั่วไปการเดินทางกลับจากต่างประเทศ มี 12 ราย จากเมียนมา 2 ราย และกัมพูชา 10 ราย ผ่านช่องทางธรรมชาติ และด่านข้ามแดนถาวร

  • จับตา ‘ปากน้ำ-สมุทรสาคร-ปทุม’

สำหรับ 10 อันดับพบติดเชื้อรายใหม่สูงสุด กทม.มากสุด 1,729 ราย สมุทปราการ 411 ราย สมุทรสาคร 389 ราย ปทุมธานี 352 ราย สงขลา 318 ราย ชลบุรี 279 ราย นนทบุรี 270 ราย พระนครศรีอยุธยา 212 ราย นครปฐม 143 ราย ปัตตานี 133 ราย

นพ.ทวีศิลป์กล่าวอีกว่า หลังจากให้มีการปิดแคมป์คนงาน จะเห็นภาพการเคลื่อนย้ายแรงงาน ตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน-5 กรกฎาคม จะเห็นว่าปริมาณผู้ติดเชื้อที่เดินทางกลับจากกรุงเทพฯและปริมณฑลไปต่างจังหวัด จะกระจายตัวอยู่ภาคอีสานเป็นหลักมากที่สุดวันที่ 4 กรกฎาคมที่ผ่านมา

“ทำให้เห็นภาพต้อนรับแรงงานกลับบ้านในจังหวัดต่างๆ และรับการรักษาที่โรงพยาบาล ไม่กี่วันที่ผ่านมา เตียงมีอยู่ 100% ใช้ไป 60-70% แต่พี่น้องสาธารณสุขต่างจังหวัด ก็มีกำลังใจเต็มที่ นอกจากมาช่วยกรุงเทพฯ ยังช่วยเหลือคนในจังหวัดของเขาด้วย ขอให้ส่งแรงกาย แรงใจไปให้พวกเขาด้วย เห็นความเหนื่อยยาก ลำบากตรงนี้ของคนทุกๆ คนที่อยู่ในประเทศไททย เราก็เป็นคนไทยด้วยกัน ขอบพระคุณเป็นอย่างสูงที่ดูแลคนไทยทุกๆ ที่ และไม่ใช่คนไทยด้วย เป็นต่างชาติที่เข้าไปรักษาการรักษาก็เข้าไปดูแลให้”

  • พบ 7 คลัสเตอร์ใหม่ โผล่ 5 จังหวัด

นพ.ทวีศิลป์กล่าวถึงสถานการณ์การระบาดในคลัสเตอร์ ใน กทม.ยังต้องเผ้าระวัง 117 แห่ง ในพื้นที่ 46 เขต มี 17 แห่ง ไม่พบผู้ป่วยรายใหม่ใน 14 วัน ได้แก่ เขตลาดพร้าว จตุจักร บางซื่อ ดินแดง ห้วยขวาง หนองจอก บางกะปิ สาทร บางรัก วัฒนา ยานนาวา บางแค

ส่วนต่างจังหวัดพบ 7 คลัสเตอร์ใหม่ ใน 5 จังหวัด รวมยอดผู้ติดเชื้อ 324 ราย ได้แก่ สมุทรสาคร อ.เมืองสมุทรสาคร เป็นโรงงานอาหารกระป๋อง 2 แห่ง รวม 27 ราย อ้อมน้อย โรงงานเสื้อผ้า 53 ราย, ชลบุรี อ.ศรีราชา บริษัทโลจิสติกส์ 12 ราย, พระนครศรีอยุธยา อ.วังน้อย ตลาดใหญ่วังน้อย 181 ราย, ตาก อ.แม่สอด โรงงานเสื้อผ้า 33 ราย, ฉะเชิงเทรา แคมป์ก่อสร้าง 18 ราย

“มีของเก่าแต่ยังกลับมาใหม่ได้ ต้องช่วยกันดูด้วย เรื่องมาตรการการรักษาความสะอาดของแต่ละตลาดเป็นอย่างไร เรื่องตลาด จะเน้นย้ำว่ายังวนกลับไปกลับมาได้ อีกสักพักหนึ่งทางคณะกรรมการวิชาการ หรือทางประเทศสิงคโปร์ที่ออกมาพูดว่าเป็นโรคประจำถิ่นไปแล้ว จะให้ผู้ติดเชื้อเป็นศูนย์คงเป็นไปได้ยาก แต่เมื่อเจอแล้ว ควรจะจัดการให้โรคอยู่ในพื้นที่จำเพาะ พื้นที่จำกัดนั้นอย่างไร เป็นสิ่งที่เราต้องร่วมด้วยช่วยกัน เป็นปรากฏการณ์นอกจากแรงงานแล้ว ในตลาดก็ยังกลับมาอีก”

  • คลัสเตอร์เก่ายังพบติดเชื้อต่อเนื่อง

ส่วนคลัสเตอร์เก่าที่ยังพบติดเชื้อต่อเนื่อง ได้แก่ สมุทรปราการ อ.บางบ่อ โรงงานผลิตภัณฑ์อาหาร รวม 138 ราย,สมุทรสาคร อ.เมืองสมุทรสาคร บริษัทผลิตภัณฑ์พลาสติก รวม 42 ราย ,ปทุมธานี อ.คลองหลวง ตลาดไท รวม 1,722 ราย, สงขลา ในพื้นที่ 7 อำเภอ โรงงานอาหารทะเลกระป๋อง รวม 1,012 ราย, 12 จังหวัดภาคใต้ ยะลา ปัตตานี ภูเก็ต นราธิวาส สงขลา สตูล กระบี่ พัทลุง พังงา สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และตรัง คลัสเตอร์มัรกัล ดะวะห์ โรงเรียนปอเนาะ รวม 868 ราย, ชลบุรี อ.บางละมุง โรงงานน้ำแข็ง รวม 79 ราย อ.ศรีราชา แคมป์ก่อสร้าง 2 แห่ง รวม 439 ราย

สุราษฎร์ธานี อ.เมือง ศูนย์ฝึกตำรวจภูธร รวม 36 ราย, สระบุรี อ.หนองแค บริษัทผลิตชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ รวม 346 ราย, ลพบุรี อ.เมืองลพบุรี โรงงานผลิตจอโทรศัพท์ รวม 54 ราย อ.พัฒนานิคม โรงงานแปรรูปเนื้อสัตว์ รวม 68 ราย, ตาก อ.แม่สอด โรงงานเสื้อผ้า 188 ราย, กระบี่ โรงเรียนที่คลองท่อม รวม 19 ราย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image