‘เดลต้า’ ยึดเมืองกรุงแล้ว เร่งศึกษาฉีดไขว้ชนิดเพิ่มภูมิ

‘เดลต้า’ ยึดเมืองกรุงแล้ว เร่งศึกษาฉีดไขว้ชนิดเพิ่มภูมิ

เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยถึงความคืบหน้าการตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 สายกลายพันธุ์ในประเทศไทย ว่า การจะรบให้ชนะ ต้องรู้เขา รู้เรา การเสนอข้อมูลไวรัสกลายพันธุ์ไม่ได้เพื่อสร้างความตกใจให้ประชาชน ตั้งแต่การระบาดระลอกเดือนเมษายน 2564 เป็นต้นมา ที่มีการระบาดด้วยสายพันธุ์อัลฟ่า (อังกฤษ) กรมวิทยาศาสตร์ฯตรวจไปแล้ว 1.1 หมื่นราย และขณะนี้มีการเพิ่มขึ้นของ สายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย) อย่างรวดเร็ว ภาพรวมขณะนี้ประมาณร้อยละ 16 เป็นสายพันธุ์เดลต้า

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาในภาพรวมประเทศ พบว่าสายพันธุ์เดลต้าเพิ่มขึ้นมาเป็นร้อยละ 32 หากลงรายละเอียด พบว่ากรุงเทพฯมีสายพันธุ์เดลต้ามากกว่าสายพันธุ์อัลฟ่าเดิมแล้ว คืออยู่ที่ร้อยละ 52 เร็วกว่าที่คาดเล็กน้อย ในต่างจังหวัดก็เพิ่มขึ้นเร็วเหมือนกัน

“แผนภูมิพื้นที่กรุงเทพฯ ขณะนี้พบสายพันธุ์เดลต้าร้อยละ 52 กระจายอยู่ในทุกเขต จะเห็นได้ว่าทางตอนเหนือของกรุงเทพฯ จากแคมป์หลักสี่ ไปทางทิศตะวันตกตอนร่าง และกระจายอยู่ทั่วกรุงเทพฯ” นพ.ศุภกิจ กล่าว

Advertisement

นพ.ศุภกิจกล่าวอีกว่า ขณะนี้กรมวิทยาศาสตร์ฯกำลังดำเนินการทดสอบภูมิคุ้มกันหลังได้รับวัคซีนโควิด-19 โดยจะทดสอบทั้งในผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว 8 กลุ่ม โดยเก็บตัวอย่างเลือดกลุ่มละอย่างน้อย 5 ตัวอย่าง คือ 1.ซิโนแวค 2 เข็ม มีแล้ว 12 ตัวอย่าง 2.แอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม มีแล้ว 31 ตัวอย่าง 3.แอสตร้าเซเนก้า 1 เข็ม 4.ซิโนแวคตามด้วยแอสตร้าฯ มีแล้ว 8 ตัวอย่าง 5.ซิโนแวค 2 เข็มตามด้วยแอสตร้าฯ 6.วัคซีน mRNA 2 เข็ม มีแล้ว 20 ตัวอย่างจากผู้ที่เดินทางไปฉีด หรือมาจากต่างประเทศ 7.ซิโนแวค 1 เข็มตามด้วย mRNA และ 8.แอสตร้าฯ 1 เข็ม ตามด้วย mRNA

นพ.ศุภกิจกล่าวว่า ในส่วนที่มีตัวอย่างอยู่แล้วคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์ ส่วนกลุ่มอื่นก็จะทำให้เร็ว เพื่อให้ได้ข้อสรุปถึงโมเดลที่เหมาะสมในการฉีดวัคซีนสำหรับประเทศไทย จะเสนอฝ่ายนโยบายในการพิจารณาต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image