เปิดรายละเอียด 6 มาตรการ ศบค. สั่งเคอร์ฟิว 10 จังหวัด เริ่ม 12 ก.ค.

เปิดรายละเอียด 6 มาตรการ ศบค. สั่งเคอร์ฟิว 10 จังหวัด เริ่ม 12 ก.ค.

เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019(โควิด-19)(ศบค.) แถลงผลการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) ว่า ในที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ มีผู้เข้าร่วมประชุมจากหลากหลายทุกกระทรวง อาจารย์แพทย์ โดยมีตัวแทนหลายท่าน เช่น ผศ.นพ.กำธร มาลาธรรม รองผู้อำนวยการโรงพยาบาล (รพ.) รามาธิบดี นายกสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล สมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ พ.ท.นพ.อนุช จิตตินัย ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย วันนี้จึงมีความพยายามตัดสินใจกำหนดมาตรการต่างๆ อย่างรอบคอบ

พญ.อภิสมัย กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ทั้งระดับโลก ประเทศเพื่อนบ้านและประเทศไทยเอง มีแนวโน้มน่าเป็นห่วง รวมถึงมีผู้ป่วยหนักที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ มีแนวโน้มมากขึ้น เช่นเดียวกับผู้ติดเชื้อรายวันก็เพิ่มขึ้น และยังมีการแพร่ระบาดในภูมิภาคที่เป็นเชื้อสายพันธุ์เดลต้า รวมถึงมีการเดินทางกลับภูมิลำเนาของประชาชนกลุ่มแรงงานจากกรุงเทพมหานคร ทำให้กระจายเชื้อหลายจังหวัดทั่วประเทศ เกิดการพิจารณากำหนดมาตรการควบคุมโรคที่เข้มงวดยิ่งขึ้น

“ในที่ประชุมเห็นสมควรให้มีการขยายประกาศระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักรเป็นคราวที่ 13 ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม – วันที่ 30 กันยายน 2564 โดยจะมีการนำเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 13 กรกฎาคมนี้ ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ เพื่อให้พนักงานควบคุมโรคติดต่อสามารถบูรณาการความรับผิดชอบ หน้าที่อำนาจทางการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อเป็นการลดอัตราเสียชีวิต ลดปัญหาขาดแคลนทรัพยากรสาธารณสุข เพื่อการกำกับดูแลกิจการกิจกรรมต่างๆ ในการป้องกันโรคอย่างมีประสิทธิภาพ” พญ.อภิสมัย กล่าวและว่า ด้านการยกระดับมาตรการป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 และการพิจารณาระดับพื้นที่สถานะการย่อยในพื้นที่ทั่วราชอาณาจักรที่เป็นข้อสรุปของ ศบค.ชุดใหญ่ หลักคิดเบื้องต้นที่สำคัญ คือ 1.การจำกัดการเคลื่อนย้าย และการรวมกลุ่มของบุคคลเฉพาะพื้นที่ หลายคนคุ้นเคยกับคำว่า “ล็อกดาวน์” 2.กำหนดเวลาการออกนอกเคหสถาน หรือเคอร์ฟิว 3.การเร่งรัดมาตรการทางการแพทย์และการเยียวยาให้เร็วที่สุด

ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าวว่า มาตรการปรับระดับพื้นที่สถานการณ์ย่อย ในพื้นที่ทั่วราชอาณาจักร มีการแบ่งสีของพื้นที่ คือ พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) 10 จังหวัดเดิม ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นครปฐม นราธิวาส นนทบุรี ปทุมธานี ปัตตานี ยะลา สมุทรปราการ สมุทรสาคร และสงขลา, พื้นที่ควบคุมสูงสุด (สีแดง) จากเดิม 5 จังหวัดปรับขึ้นเป็น 24 จังหวัด, พื้นที่ควบคุม (สีส้ม) จากเดิม 9 จังหวัด ปรับขึ้นเป็น 25 จังหวัด, พื้นที่เฝ้าระวังสูง (สีเหลือง) จากเดิม 53 จังหวัด ลดลงเหลือ 18 จังหวัด และ พื้นที่เฝ้าระวัง (สีเขียว) ตอนนี้ไม่มี ซึ่งมีการประกาศทุกจังหวัดตามสี

Advertisement

พญ.อภิสมัย กล่าวว่า ข้อปฏิบัติ คือ บังคับใช้เฉพาะ 6 จังหวัดพื้นที่สีแดงเข้มข้น อย่างเข้มงวด ได้แก่ กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม สมุทรปราการ และสมุทรสาคร 1.ขอให้มีมาตรการทำงานจากที่บ้าน (work from home) ให้มากที่สุด โดยไม่กระทบต่อการบริหารราชการแผ่นดินที่สำคัญ และการบริการประชาชน 2.ร้านสะดวกซื้อ ตลาดโต้รุ่ง ปิดเวลา 20.00-04.00 น.ของวันรุ่งขึ้น 3.ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ เปิดได้เฉพาะซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหาร และเครื่องดื่ม ธนาคารและสถาบันการเงิน ร้านขายยาและเวชภัณฑ์ ร้านอุปกรณ์เครื่องมือสื่อสาร รวมถึงสถานที่ฉีดวัคซีน ซึ่งสามารถเปิดได้ถึงเวลา 20.00 น. 4.ร้านจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม ห้ามบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้าน อนุญาตให้ซื้อกลับ เปิดได้ถึงเวลา 20.00 น. 5.ปิดสถานที่เสี่ยงต่อการติดโรค ได้แก่ นวดแผนโบราณ สปา สถานเสริมความงาม 6.ระบบขนส่งสาธารณะปิดให้บริการเวลา 21.00 – 04.00 น. 7.สวนสาธารณะ เปิดได้ถึงเวลา 20.00 น. 8.ห้ามรวมกลุ่มทำกิจกรรมทางสังคม ที่ไม่ใช่การปฏิบัติหน้าที่ การประกอบอาชีพ กิจกรรมทางศาสนาหรือกิจกรรมตามประเพณี เช่น งานศพ จัดได้ ที่รวมกันเกิน 5 คนขึ้นไป

 

Advertisement

พญ.อภิสมัย กล่าวว่า ข้อปฏิบัติสำหรับ 10 จังหวัด พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดเพิ่มเติม ได้แก่ 1.สถานศึกษาในพื้นที่สีแดงเข้ม 10 จังหวัด อนุญาตตามข้อกำหนดเดิม โดยให้เรียนออนไลน์เท่านั้น 100% 2.ห้ามการเดินทางที่ไม่จำเป็น และห้ามออกนอกเคหสถานระหว่างเวลา 21.00 – 04.00 น. โดยเฉพาะกรณีจำเป็น เช่น พบแพทย์ ไปโรงพยาบาล บุคลากรแพทย์ที่จะต้องสับเปลี่ยนขึ้นเวร การซ่อมไฟฟ้าประปา

“โดยมาตรการทั้งหมดนี้บังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 12 กรกฎาคมเป็นต้นไป ที่ประชุมขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รับผิดชอบในการกำกับควบคุมมาตรการ โดยฝากไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) ให้ร่วมหารือกับมาตรการที่ประกาศในวันนี้ให้สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ” พญ.อภิสมัย กล่าวและว่า ให้หน่วยงานด้านความมั่นคง ตั้งจุดตรวจ จุดสกัด ชุดลาดตระเวนเพื่อกำกับดูแลการปฏิบัติอย่างเข้มงวด เริ่มวันที่ 10 กรกฎาคม 2564 เวลา 06.00 น.เป็นต้นไป

พญ.อภิสมัย กล่าวว่า ในที่ประชุมมีการสรุปมาตรการด้านการแพทย์และสาธารณสุขในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยมีข้อสรุปที่สำคัญ ได้แก่ 1.ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดให้มีการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงระบบการตรวจหาเชื้ออย่างเพียงพอ เรามีการเพิ่มสถานที่คัดกรอง เร่งเปิดจุดตรวจให้ประชาชนเข้าถึง เพื่อค้นหาผู้ติดเชื้อในชุมชน และแยกประชาชน ที่ติดเชื้อออกจากชุมชนให้เร็วที่สุด 2.กระทรวงสาธารณสุขปรับแผนการกระจายวัคซีน ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เร่งฉีดให้กลุ่มผู้สูงอายุเกิน 60 ปี และผู้มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค/โรคเรื้อรัง โดยจะต้องฉีดให้ได้ 1 ล้านโดส ภายในเวลา 1-2 สัปดาห์

 

“การจัดสรรวัคซีนที่ได้รับการบริจาคจากต่างประเทศ ทั้ง วัคซีนไฟเซอร์ 1.5 ล้านโดส จากสหรัฐอเมริกา และ วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 1.05 ล้านโดส จากประเทศญี่ปุ่น ที่มาถึงในวันนี้ โดยมุ่งเน้นไปยังผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และผู้ป่วย 7 กลุ่มโรค ชาวต่างชาติที่อาศัยในประเทศไทย ที่อายุมากกว่า 60 ปี และมีโรคประจำตัว ผู้จำเป็นที่ต้องเดินทางไปต่างประเทศ ได้แก่ นักเรียน/นักศึกษา นักกีฬา นักการทูต นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีข้อสรุปให้มีการจ่ายวัคซีนไฟเซอร์ เป็น บูสเตอร์ โดส (booster dose) ให้บุคลากรทางการแพทย์ให้เร็วที่สุดด้วย” พญ.อภิสมัย กล่าว

ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ร่วมกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) จังหวัดปริมณฑล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีการเพิ่มความสามารถเพิ่มการรักษาพยาบาลให้เพียงพอ และมีประสิทธิภาพ สร้างไอซียูสนาม โรงพยาบาลสนาม แยกกักในชุมชน (Community isolation) หรือศูนย์พักคอยรอการส่งต่อ รวมถึงการแยกกักที่บ้าน (Home isolation) และการใช้ยาสมุนไพร ฟ้าทะลายโจร ให้ประชาชนขณะแยกกัก

“มาตรการทั้งหมดนี้ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดมาตรการควบคุม เพื่อจำกัดการเดินทางข้ามจังหวัด มาตรการจำกัดการเดินทางนี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 10 กรกฎาคมนี้ ซึ่งรวมๆ มาตรการจะแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ 1.จังหวัดที่มีการควบคุมเข้มงวดสูงสุด 6 จังหวัด จะมีการปิดกิจการ กิจกรรมที่มีความเสี่ยง 2.จังหวัดเข้มงวดสูงสุด 10 จังหวัด จะเพิ่มเรื่องของการเดินทางข้ามพื้นที่ แต่ในส่วนของประชาชนที่เดินทางข้ามจังหวัด ประกาศให้มีการเฝ้าระวังตั้งแต่วันพรุ่งนี้เป็นต้นไป” พญ.อภิสมัย กล่าว

พญ.อภิสมัย กล่าวว่า รายละเอียดทั้งหมดจะลงไว้ในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้ประชาชนเข้าไปศึกษาได้ โดยจะออกให้เร็วที่สุด ซึ่งต้องขอบคุณประชาชน ทุกฝ่ายทั้งภาครัฐ เอกชนและประชาชนที่เข้าใจและให้ความร่วมมือมาตลอด และขออภัยกับการติดขัดที่ทำให้การดำเนินชีวิตของประชาชนในพื้นที่ควบคุมสูงสุด มีความยากลำบาก แต่ทั้งหมดเพื่อให้การควบคุมโรค เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และประเทศไทยต้องชนะไปด้วยกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image