สธ.ปรับสูตรฉีดวัคซีนโควิด สร้างภูมิสูง-สู้กลายพันธุ์

สธ.ปรับสูตรฉีดวัคซีนโควิด สร้างภูมิสูง-สู้กลายพันธุ์

เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงชี้แจงกรณีการปรับแผนการให้วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ว่าขณะนี้ประเทศไทยมีปัญหาโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าเข้ามาแพร่ระบาดในกรุงเทพมหานครเกือบร้อยละ 50 แล้ว จึงจำเป็นต้องเพิ่มประสิทธิภาพของวัคซีนให้ต่อสู้กับไวรัสกลายพันธุ์ได้ ซึ่งคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติมีมติให้ใช้วัคซีนที่เป็นบูสเตอร์ โดสแก่บุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเสี่ยงสูง โดยหลังจากรับวัคซีนเข็มที่ 2 หรือเข็มที่ 1 มาแล้ว จำเป็นต้องได้รับเข็มที่ 2 หรือเข็มที่ 3 เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกัน อาจเป็นวัคซีนไวรัลแว็กเตอร์ เป็นวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า หรือวัคซีนชนิด mRNA เป็นวัคซีนไฟเซอร์ โดยหลักการคือต้องต่างชนิดกัน

“นอกจากนี้ เรื่องวิธีการฉีดวัคซีนเราพบว่าร้อยละ 70-80 ที่เสียชีวิตเป็นผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปี และปัจจัยโรคร่วม เช่น อ้วน โรคเรื้อรังต่างๆ สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้คนไข้มีอาการหนัก จึงต้องฉีดวัคซีนให้กลุ่มนี้เป็นหลัก รวมทั้งหญิงตั้งครรภ์ด้วย จึงมีนโยบายให้ดำเนินการโดยเร็ว และอย่างน้อยร้อยละ 80 สำหรับคนกลุ่มนี้ เพื่อไม่ให้เกิดการป่วยหนักจนเสี่ยงเสียชีวิต เพื่อให้ระบบการสาธารณสุขดูแลได้ต่อไป ไม่มีผู้ป่วยเหนือกำลัง เพราะขณะนี้เรามีปัญหาผู้ป่วยอาการกลุ่มสีเหลืองและสีแดง ซึ่งหากเราฉีดกลุ่มนี้จะลดอาการรุนแรงได้ เรามีประสบการณ์จากประเทศในแถบยุโรป มีการฉีดในผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง แม้อัตราการติดเชื้อยังมาก แต่อัตราการเสียชีวิตลดลง” นพ.เกียรติภูมิกล่าว

ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติมีมติให้วัคซีนโควิด-19 สลับชนิดกันเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันได้สูง ซึ่งมีผลศึกษายืนยันแล้ว และเชื่อว่าจะสามารถต่อสู้กับเชื้อกลายพันธุ์ โดยเฉพาะสายพันธุ์เดลต้าได้ โดยการศึกษาพบว่าเมื่อฉีดเข็มแรกเป็นซิโนแวค อีก 3-4 สัปดาห์ ฉีดเข็ม 2 เป็นแอสตร้าฯ จะกระตุ้นภูมิคุ้มกันสูงขึ้นโดยขณะนี้จะใช้แอสตร้าฯ ในบุคลากรด่านหน้าเมื่อมีความพร้อมทันที ส่วนประชาชนที่ฉีดครบ 2 เข็มแล้วการฉีดบูสเตอร์ก็จะดำเนินการต่อไป

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image