รพ.ศิริราช ร่วมวิจัยวัคซีนไขว้ในไทย ชี้ผลศึกษา ตปท.ปลอดภัย-ประสิทธิภาพดี

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา /แฟ้มภาพ

รพ.ศิริราช ร่วมวิจัยวัคซีนไขว้ในไทย ชี้ผลศึกษา ตปท.ปลอดภัย-ประสิทธิภาพดี วอนเร่งเข็มแรกทุกคน ส่วนบูสเตอร์โดสให้กลุ่มเสี่ยงก่อน

เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ตอบคำถามผู้สื่อข่าวประเด็นบุคลากรแพทย์ฉีดวัคซีนซิโนแวคแล้วยังติดเชื้อโควิด-19 เสียชีวิต จะมีแนวทางอย่างไรในเรื่องการฉีดวัคซีน ว่าประเด็นนี้ต้องดูปัจจัยยอดการฉีดวัคซีน อย่างเช่นเดือน มิ.ย. กรณีอินโดนีเซียรายงานว่ามีคนฉีดวัคซีนแล้วติดเชื้อประมาณ 300 กว่าราย แต่เมื่อดูข้อมูลทั้งหมดพบว่าอินโดนีเซียมีแพทย์เสียชีวิตเพราะโควิด-19 กว่า 401 ราย แต่มี 14 รายเท่านั้นที่ฉีดวัคซีนครบตามกำหนด แสดงว่าอีก 300 กว่าราย ยังไม่ได้รับวัคซีนหรือยังฉีดไม่ครบ ดังนั้น ข้อมูลที่เรามีวัคซีนลดอัตราเสียชีวิต แต่อาจไม่ดีเท่าการศึกษาในคนระยะที่ 3 ที่เป็นการศึกษากับไวรัสสายพันธุ์ดังเดิม ที่ลดอัตราเสียชีวิตได้เกือบ 100% แต่ระยะหลังพบว่าวัคซีนแต่ละตัวลดอาการรุนแรงและเสียชีวิตเหลือประมาณ 90%

นพ.ประสิทธิ์กล่าวว่า เราต้องดูว่ามีปัจจัยอื่นเป็นองค์ประกอบหรือไม่ แต่หากดูบุคลากรการแพทย์ทั้งหมดที่ฉีดวัคซีนกว่า 700,000 คน ต้องดูว่ามีคนที่ติดเชื้อแล้วอาการรุนแรง มีเสียชีวิตกี่เปอร์เซ็นต์แล้วนำมาเทียบกับคนทั่วไปที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน ต้องเอาตัวเลขเหล่านี้มาดู อย่าดูเฉพาะจุดใดจุดหนึ่ง หรือดูเฉพาะข้อมูลย้อนหลัง เพราะขณะนั้นเกิดคนละสายพันธุ์กัน มีข้อมูลหลายอย่างในไทยที่พูดกันแต่ตอนนั้นยังไม่มีสายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย) ฉะนั้น ตอนนี้ต้องเฝ้าติดตามดูและตามนโยบายคือ ลดความเสี่ยงให้บุคลากรแพทย์ อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการติดเชื้อขึ้นต้องย้ำในข้อมูลว่าอัตราเสียชีวิตของประเทศใดประเทศหนึ่งไม่ได้ขึ้นกับไวรัสอย่างเดียว แต่หากติดเชื้อเกินศักยภาพระบบบริการสุขภาพเมื่อไหร่อัตราเสียชีวิตก็เยอะ

“บุคลากรด้านสุขภาพก็เป็นหนึ่งในระบบบริการสุขภาพ หากคนป่วยเยอะและบุคลากรด้านสุขภาพติดเชื้อ หรือต้องกักตัว คนดูแลก็จะน้อยลง เรื่องนี้สำคัญ เราก็ไม่อยากเสี่ยง เราจึงต้องเร่งฉีดเข็มที่ 3 เพื่อเสริมภูมิคุ้มกัน และลดอัตราความรุนแรงให้มากขึ้นไปอีก และเริ่มมีข้อมูลว่าเดลต้าจะเพิ่มความรุนแรงด้วย ดังนั้น ต้องเร่งบริหารจัดการวัคซีน ฉีดให้เยอะและเร็ว” นพ.ประสิทธิ์กล่าว

นพ.ประสิทธิ์กล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ข้อมูลในสหรัฐอเมริกาพบว่า บริษัทไฟเซอร์ออกมารณรงค์กับรัฐบาลว่าอยากให้ประชาชนฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ปรากฏว่าหลังจากที่รัฐบาลดูข้อมูลแล้วก็ยังไม่ให้มีการฉีดเข็ม 3 เพราะคนในประเทศอีก 40 กว่าล้านคน ยังไม่ได้รับเข็มแรก หลักการเดียวกันในไทย ตนมีความเห็นว่าต้องบริหารจัดการ 2 อย่างนี้คู่ขนานกันไป เพราะบุคลากรในระบบบริการสุขภาพที่มีความเสี่ยงก็มีความจำเป็นเพราะมีความเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของผู้ป่วยด้วย แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีคนที่ยังไม่ได้รับวัคซีนเข็มแรก

Advertisement

“ส่วนจะใช้วัคซีนคู่ผสมใดก็ต้องดู 1.ข้อมูลวิชาการ 2.ในสต๊อกวัคซีนเรามีตัวไหนที่จัดการได้มากน้อยแค่ไหน แต่วัคซีนอย่างเดียวไม่ได้ เพราะ 3 องค์ประกอบที่คู่กันคือ วัคซีน มาตรการการปกครอง และมาตรการสังคมก็ต้องทำ เราทำอย่างเดียวไม่มีทางสำเร็จ เช่น เราฉีดวัคซีนแต่คนไปที่ไหนก็ได้ มันก็เป็นไปไม่ได้ และตอนนี้เราก็เริ่มดำเนินมาตรการ 3 อย่างแล้ว และพบว่าข้อมูลคนไทยการ์ดยังดีอยู่ แต่การฉีดวัคซีนต้องบริหารให้เร็ว ฉีดให้ทัน และผมเห็นด้วยตั้งแต่ต้นกับการมีวัคซีนทางเลือก เพราะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้มีวัคซีนเข้ามาเติมให้เร็วและทันกับเวลา” นพ.ประสิทธิ์กล่าว

เมื่อถามกรณีบุคลากรทางการแพทย์ อยากบูสเตอร์โดสด้วยวัคซีนทางเลือก ทั้งไฟเซอร์และโมเดอร์นา จำเป็นหรือไม่ นพ.ประสิทธิ์กล่าวว่า ต้องดูข้อมูลทางวิชาการพิจารณา หากพูดถึงเข็ม 3 ก็ต้องมุ่งเป้าไปที่วัคซีนที่กระตุ้นทีเซลล์ (T cell) หรือกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ซึ่งตอนนี้กลุ่มวัคซีนชนิดไวรัลแว็กเตอร์ทำงานได้ดีมาก และชนิด mRNA ก็กระตุ้นดีเช่นกัน ประสิทธิภาพใกล้เคียง ส่วนตัวคิดว่าไม่ได้แตกต่างกันมาก ซึ่งขณะนี้เรากำลังจะมีไฟเซอร์ และภาคเอกชนจะมีโมเดอร์นา ขณะเดียวกันเราก็มีแอสตร้าเซนเนก้า จริงๆ ไม่ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งหรอก ขอให้อยู่ในกลุ่มพวกนี้ อันนี้เฉพาะการฉีดกระตุ้นของเข็มที่ 3 เท่านั้น

ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีการศึกษาวัคซีนไขว้แบบชนิดเชื้อตาย กับชนิด mRNA มีความปลอดภัยหรือไม่ นพ.ประสิทธิ์กล่าวว่า จริงๆ ก็มี แต่ละประเทศก็จะจับ 2 จุดว่าเมื่อไขว้แล้วประสิทธิภาพดีหรือไม่ และปลอดภัยหรือไม่ ซึ่งแนวโน้มออกมาแนวเดียวกัน คือมีแนวโน้มระบบภูมิคุ้มกันดีขึ้นและปลอดภัย ข้อมูลตอนนี้มีเท่านี้ โดยการศึกษาเป็นหลัก 100 คน บางงานไม่ถึงด้วยซ้ำ โดยรวมจึงเป็นเหตุผลที่องค์การอนามัยโลกยังไม่ประกาศรับรองให้ไขว้ อยู่ที่ประเทศพิจารณาความจำเป็นและข้อมูลที่มีอยู่

Advertisement

เมื่อถามถึงกรณีคนที่รับวัคซีนเข็มแรกเป็นซิโนแวค และรอเข็มที่ 2 เป็นวัคซีนทางเลือกโมเดอร์นา นพ.ประสิทธิ์กล่าวว่า การฉีดซิโนแวคเข็มเดียวภูมิคุ้มกันไม่พอ ช่วงที่รอวัคซีนทางเลือกก็มีความเสี่ยง เพราะหากถูกจู่โจมด้วยเดลต้าก็อาจไม่ทัน

“ขณะนี้เรามีการศึกษาอย่างน้อย 4 โรงเรียนแพทย์ ทำงานวิจัยเรื่องนี้อยู่ รพ.ศิริราช ก็ไขว้กันหลายคู่ อยู่ๆ เราจะไม่แนะนำเลย หากไม่มีงานวิจัยรองรับ เพราะไม่เหมาะสม ตอนนี้ตอบก่อนงานวิจัยไม่ได้ แต่หากผลออกมาคล้ายคลึงกัน เหมือนกับในต่างประเทศ อันนี้ก็จะมารองรับกับนโยบายการฉีดวัคซีนเพื่อให้มีการประกาศออกไป ซึ่งผลวิจัยดังกล่าวก็จะออกมาเร็วๆ นี้” นพ.ประสิทธิ์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image