อธิบดีกรมควบคุมโรค คาดฉีดวัคซีนไขว้ ใช้แอสตร้าฯ 8 ล้านโดส ใน 2 เดือน จุดบริการเริ่มทันที!

อธิบดีกรมควบคุมโรค คาดฉีดวัคซีนไขว้ ใช้แอสตร้าฯ 8 ล้านโดส ใน 2 เดือน จุดบริการเริ่มทันที!

ตามที่คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 7/2564 ที่มีมติให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 สลับชนิด ซึ่งจะฉีดวัคซีนซิโนแวค เป็นเข็มที่ 1 และฉีดเข็มที่ 2 เป็นวัคซีนแอสตร้าเซเนก้า ห่างกัน 3-4 สัปดาห์ โดยมีข้อมูลการศึกษารองรับว่ามีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย) ได้และมีระดับภูมิคุ้มกันมากกว่าการฉีดซิโนแวค 2 เข็มถึง 8 เท่า อีกทั้ง องค์การอนามัยโลก ระบุว่า การฉีดวัคซีนสลับชนิด หน่วยงานสาธารณสุขของแต่ละประเทศสามารถดำเนินการได้ แต่ด้วยสัดส่วนวัคซีนแอสตร้าฯ ที่ประเทศไทยได้รับในแต่ละเดือน ตามที่ นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ระบุว่า จำนวนวัคซีนที่ไทยจะได้รับ เป็นสัดส่วน 1 ใน 3 ของกำลังการผลิตของโรงงานในไทย ทำให้ประชาชนมีความกังวลว่า จำนวนวัคซีนแอสตร้าฯ ที่ประเทศไทยจะได้รับจากผู้ผลิตจะไม่เพียงพอต่อการฉีด เพราะจะต้องนำวัคซีนเร่งมาฉีดยาเข็มที่ 2 ในระยะเวลาเพียง 4 สัปดาห์นั้น

เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์ว่า จากการประเมินคาดว่าวัคซีนมีความเพียงพอ แต่ขอให้ทุกคนทำตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กำหนด อย่าเลือกวัคซีนเอง จากการคำนวณคาดว่า ในเดือน ก.ค.-ส.ค. จะใช้วัคซีนแอสตร้าฯ ในภาพรวมของประเทศประมาณ 8 ล้านโดส โดยพื้นที่กรุงเทพมหานคร ได้ฉีดวัคซีนให้ผู้สูงอายุมากกว่า 50% แล้ว นอกจากนั้น สัปดาห์นี้ก็ได้ทุ่มวัคซีนลงไปเพิ่มอีก 1 ล้านโดส ฉะนั้น กรุงเทพฯ จะได้รับวัคซีนมากแล้ว ต่อไปก็จะเป็นปริมณฑลและได้ต่างจังหวัด

นพ.โอภาส กล่าวว่า กรมควบคุมโรค และสถาบันวัคซีนฯ กำลังเจรจากับผู้ผลิตในการกำหนดสัดส่วนวัคซีนที่มากขึ้น เนื่องจากวัคซีนไม่ใช่ของที่ผลิตไว้อยู่แล้ว แต่เป็นการผลิตไปส่งไป

Advertisement

ผู้สื่อข่าวถามว่า บริษัทวัคซีนฯ จะต้องหาจากแหล่งผลิตอื่นส่งมาให้เราแทนหรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า ขณะนี้ความต้องการของวัคซีนมีสูงมาก ช๊อตทั่วโลก เพราะต่างยังต้องใช้วัคซีนในปริมาณมาก ก็อาจเป็นเรื่องที่ทำได้ยากเช่นกัน

เมื่อถามว่าหลังจากนี้การฉีดวัคซีนตามจุดฉีดต่างๆ จะยังมีการใช้วัคซีนซิโนแวค 2 เข็มหรือไม่ หรือให้สลับชนิดทุกแห่ง นพ.โอภาส กล่าวว่า หากทุกคนเห็นพ้องกัน ก็จะปรับ และจะไม่ฉีดซิโนแวค 2 เข็ม ยกเว้นมีความจำเป็นอย่างเช่น นักเรียนที่จะต้องบินไปประเทศจีน ก็จะต้องฉีดวัคซีนซิโนแวค ตามข้อกำหนดของประเทศปลายทาง

เมื่อถามต่อไปว่า หาการฉีดสลับชนิด ซิโนแวค และ แอสตร้าฯ จะถือว่าเราได้รับวัคซีนอะไร นพ.โอภาส กล่าวว่า ในการบันทึกประวัติการฉีดจะเป็นเข็ม 1 ซิโนแวค และเข็ม 2 แอสตร้าฯ ซึ่งไม่มีปัญหาอะไร เพราะเป็นการรับรองของประเทศ และกฎสากลยังไม่มีว่าจะต้องฉีดวัคซีนยี่ห้อใด

Advertisement

“ส่วนการจะเดินทางไปต่างประเทศ ก็จะขึ้นอยู่กับการกำหนดกฎเกณฑ์ของประเทศปลายทาง ซึ่งขณะนี้ก็ยังไม่มี อย่างเช่นบางประเทศฉีดวัคซีน 1 เข็ม ก็สามารถเดินทางได้แล้ว ซึ่งเขาก็อาจดูการระบาดจากประเทศต้นทางด้วย” นพ.โอภาส กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image