อธิบดีกรมแพทย์ ยันตรวจเอทีเค ไร้อาการ แยกกักที่บ้าน ไม่ต้องซ้ำ RT-PCR เร่งเคลียร์ปมเตียงโควิดไม่พอ

อธิบดีกรมแพทย์ ยันตรวจเอทีเค ไร้อาการ แยกกักที่บ้าน ไม่ต้องซ้ำ RT-PCR เร่งเคลียร์ปมเตียงโควิดไม่พอ

เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถีงกรณีที่เสียงเรียกร้องถึงระบบบริการสาธารณสุขว่าไม่ควรเรียกหาผลตรวจโควิด-19 ด้วยวิธีการตรวจอาร์ที-พีซีอาร์ (RT-PCR) หากมีการตรวจโควิด-19 โดยชุดตรวจแอนติเจน เทสต์ คิท (ATK) แล้วผลเป็นบวก ว่า กรณีที่มีการตรวจด้วยชุดตรวจเอทีเค แล้วผลเป็นบวก หากไม่มีอาการหรืออาการสีเขียว ก็ให้แยกกักที่บ้าน (Home Isolation)โดยไม่ต้องมีการตรวจซ้ำด้วยอาร์ที-พีซีอาร์ แต่กรณีที่ไม่สามารถดูแลตัวเองที่บ้านได้ ต้องเข้าไปทำการดูแลรักษาในระบบชุมชน(Community Isolation) หรือกรณีจะต้องเข้ารับการรักษาใน รพ.ก็ยังจำเป็นต้องทำการตรวจซ้ำด้วยวิธีมาตรฐาน เพราะต้องไม่ลืมว่าชุดตรวจเอทีเค นั้น ยังมีการให้ผลบวกลวงด้วย จึงต้องตรวจซ้ำเพื่อป้องกันไม่ให้นำคนที่อาจจะไม่ได้ติดเชื้อจริงๆ มาอยู่รวมกับคนที่ติดเชื้อ

“คนที่ทำโฮม ไอโซเลชั่น ไม่ต้องตรวจอาร์ที-พีซีอาร์ ซ้ำ แต่คนที่อยู่บ้านไม่ได้ก็ต้องไปอยู่คอมมูนิตี้ ไอโซเลชั่น ก็ต้องทำอาร์ที-พีซีอาร์ ปัญหาคือ หาที่ไม่ได้ ตอนนี้เราทำอยู่ที่อาคารนิมิบุตร ทั้งทำอาร์ที-พีซีอาร์ ทั้งแรกรับและส่งต่อ แต่เราอยากเปิดแบบนี้มากขึ้น โดยอยากเปิดเพิ่มที่ รพ.บางขุนเทียน จริงๆ เรื่องนี้มีมติกันตั้งแต่เดือน พ.ค.แล้ว แต่ทางกรุงเทพมหานคร (กทม.) บอกว่าไม่พร้อม ถ้า กทม.พร้อมทำตรงนี้ เราจะมีจุดเพิ่มและรับคนไข้ได้มากขึ้น ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กทม.เสนอว่า ให้เอาศูนย์พักคอยมาทำอาร์ที-พีซีอาร์ ได้หรือไม่ แต่มันยังไม่ค่อยพร้อม เพราะทำโดยชุมชน ถ้ามีการเปิดที่ รพ.บางขุนเทียน ก่อน แล้วจากนี้ศูนย์พักคอยที่ไหนจะยกระดับก็ค่อยว่ากัน” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้มีภาพผู้ป่วยเสียชีวิตตามบ้าน จึงมีผู้กังวลว่าการให้ผู้ป่วยรักษาตัวเองที่บ้านนั้นมีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ขอแสดงความเสียใจกับผู้ที่เสียชีวิต แต่ก็ต้องเรียนตรงๆ ว่า คนกลุ่มนี้ยังไม่ได้มีการเข้าสู่ระบบการดูแลตัวเองที่บ้าน และไม่พบว่ามีการเข้าสู่ระบบอย่างไรบ้าง วันนี้ จากการติดตามระบบการประสานงานของสายด่วน 1668 สามารถเคลียร์ผู้ป่วยได้วันต่อวันแล้ว จึงยังไม่ทราบว่าผู้ป่วยเหล่านี้มีการประสานไปจุดใด อย่างไร ดังนั้น หากผู้ป่วยที่มีปัญหา ขอให้โทรไปที่ 1330, 1668, หรือกรอกข้อมูลได้ที่ไลน์ @1668.reg แล้วกรอกข้อมูลไว้ ตอนนี้เท่าที่รายงานมา เราตั้ง รพ.เสมือนจริง (Virtual Hospital) ไว้ที่กรมการแพทย์ มีทีมงาน ร่วมกับภาคประชาสังคม เพื่อรองรับเคสที่มีปัญหาเรื่องเตียงรองรับ

Advertisement

“ตอนนี้ อย่างที่มีการชี้แจงไปแล้วว่า เตียงไอซียูไม่เพียงพอ ผู้ป่วยใหม่มีความต้องการใช้เตียงไอซียูประมาณร้อยละ 3 และ 1 คน นอนไอซียูใช้เวลาประมาณ 20 วัน จากตัวเลขผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นในแต่ละวัน รอบหนึ่งเราต้องการเตียงไอซียู 1.8 พันเตียง แต่ตอนนี้มีเตียงไอซียูที่เบ่งเต็มที่แล้ว 700-800 เตียง แล้วที่เหลือจะไปหาที่ไหน การที่มีผู้ป่วยเกินพันจึงเป็นเรื่องยากมาก” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ตั้งแต่ที่มีการใช้ระบบแยกกักที่บ้านแล้ว เฉพาะรายงานที่ รพ.ราชวิถี ทำร่วมกับกรมการแพทย์ พบว่าไม่ถึงร้อยละ 10 ที่มีอาการเปลี่ยนแปลงต้องเข้ารับการรักษาใน รพ. เนื่องจากตอนที่เริ่มทำจะมีการตรวจสอบ คัดกรองอาการกันเบื้องต้นอยู่แล้วว่า ให้สามารถทำการรักษาแยกกักที่บ้านได้หรือไม่ ปัจจุบันเฉพาะตัวเลขของกรมการแพทย์ทำไปแล้วประมาณ 1.5 พันราย และยังมีโรงเรียนแพทย์ และกทม.อีกน่าจะเป็นหลักหลายพันราย ตอนนี้กำลังเชิญชวน รพ.เอกชน และคลินิกชุมชนอบอุ่นมาทำโฮม ไอโซเลชั่น เพิ่ม ยืนยันว่ามีระบบติดตาม ยังไม่มีรายใดมีปัญหา

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ขณะนี้กำลังจะเพิ่มฮอสปิเทล เพื่อรับผู้ป่วยสีเหลือง เมื่อวันที่ 21 ก.ค.ที่ผ่านมา อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ได้มีการชี้แจงกับ รพ.เอกชน หมดแล้วว่า อยากจะแปลงเตียงในฮอสปิเทลสีเขียวให้เป็นสีเหลือง ตอนนี้มีอยู่ 20,000 เตียง ถ้าแปลง ร้อยละ 10 จะได้ 2,000 เตียง ถ้าร้อยละ 20 ก็จะมี 4,000 เตียงมาดูแลคนไข้สีเหลือง มีเครื่องผลิตออกซิเจน เอาคนไข้สีเหลืองไปอยู่ตรงนี้ เพราะฉะนั้นจะเหลือปัญหาเรื่องเตียงสำหรับผู้ป่วยสีแดงอีก แต่ได้ข่าวว่า ฝ่ายทหารจะเปิด รพ.สนาม หากตรงนี้นำมาช่วยรับผู้ป่วยสีแดงได้ก็จะดีมาก

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image