‘ศบค.’ เผย ตจว.อัตราติดเชื้อแซง กทม.และปริมณฑล เสนอผู้ว่าฯเตรียมแผนกักตัวชุมชน-บ้าน กรณีเตียงล้น

‘ศบค.’ เผย ตจว.อัตราติดเชื้อแซง กทม.-ปริมณฑล เสนอ ผวจ.เตรียมแผนกักตัวชุมชน-บ้าน กรณีเตียงล้น เล็งถกไฟเขียวผลบวกจาก ATK เข้าระบบ ไม่ต้องรอ PCR เพื่อลดคนตายที่บ้าน

เมื่อเวลา 12.30 น. วันที่ 26 กรกฎาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) แถลงรายงานสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ว่า วันนี้รายงานยอดติดเชื้อทั่วโลกอยู่ที่ 194,825,130 ราย ผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 6,859 ราย รวมเสียชีวิตทั้งหมด 4,175,080 ราย โดยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเชียงใต้ยังมีรายงานผู้เสียชีวิตและผู้ติดเชื้อค่อนข้างสูงมาเลเซีย 17,045 ราย เมียนมา 4,998 ราย เวียดนาม 7,531 ราย และ กัมพูชา 819 ราย เป็นสถานการณ์ที่ ศบค.ชุดเล็ก ได้หารือกันและเป็นห่วง ในกรณีที่ยังมีการเดินทางข้ามพื้นที่ ในวันนี้จะมีคนไทยที่เดินทางจากมาเลเซีย เป็นการเดินทางผิดกฎหมายผ่านช่องทางธรรมชาติ 10 ราย ซึ่งส่วนนี้มีการตรวจจับได้ และนำเข้าสู่สถานกักกันที่รัฐจัดให้ ขอเน้นย้ำว่าพี่น้องประชาชนต้องช่วยกันเป็นหูเป็นตา เพราะเจ้าหน้าที่ที่ลาดตระเวนอยู่ก็ยังตรวจพบการกระทำความผิดกฎหมายอยู่ตลอดเวลา

พญ.อภิสมัยกล่าวว่า สำหรับประเทศไทย วันนี้มีตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ 15,376 ราย ติดเชื้อในประเทศ 14,321 ราย ติดเชื้อจากต่างประเทศ 14 ราย และจากเรือนจำที่ต้องขัง 1,041 ราย ซึ่งเป็นตัวเลขที่ยังไม่ได้นำยอดจากการตรวจ Antigen Test Kit-ATK มารวมด้วย คาดว่าภายในสัปดาห์นี้จะมีการนำตัวเลขมารวมด้วย เพื่อให้เห็นภาพรวมที่ชัดเจนมากขึ้น

“วันนี้ผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 87 ราย ผู้ที่รับการรักษาอยู่ในโรงพยาบาล 96,0038 ราย และโรงพยาบาลสนาม 71,019 ราย รวม 167,057 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 6,782 ราย ฉีดวัคซีนแล้ว 15,960,778 โดส เข็มที่หนึ่งเพิ่มขึ้น 80,943 ราย ยอดสะสม 12,307,788 ราย และเข็มที่สองเพิ่มขึ้น 9,991 ราย ยอดสะสม 3,652,990 ราย สำหรับทิศทางของทั่วประเทศ วันนี้ตัวเลขสูงที่บวกเข้ามาพอสมควร เป็นตัวเลขของเรือนจำคือ 1,041 ราย” พญ.อภิสมัยกล่าว

Advertisement

พญ.อภิสมัยกล่าวว่า จำนวนผู้เสียชีวิต 87 ราย มาจาก กทม. 40 ราย ปทุมธานี 6 ราย นครปฐม 6 ราย สมุทรสาคร 2 ราย นนทบุรี 1 ราย สมุทรปราการ 1 ราย ปัตตานี 6 ราย สงขลา 1 ราย กระบี่ 2 ราย นครศรีธรรมราช 1 ราย นครราชสีมา 2 ราย อุบลราชธานี 2 ราย กาฬสินธุ์ 1 ราย อุดรธานี 1 ราย ฉะเชิงเทรา 2 ราย ตราด 2 ราย ชลบุรี 1 ราย ระยอง 1 ราย สระแก้ว 1 ราย ตาก 2 ราย กำแพงเพชร 1 ราย สุโขทัย 1 ราย สุพรรณบุรี 2 ราย เพชรบุรี 1 ราย และพระนครศรีอยุธยา 1 ราย

พญ.อภิสมัยกล่าวว่า จะเห็นว่าการเสียชีวิตค่อนข้างกระจายทั่วประเทศ ไม่ได้จำกัดเฉพาะ กทม.และปริมณฑล หรือเฉพาะจังหวัดที่อยู่ในกลุ่มสีแดงเข้ม ที่สำคัญยังคงอยู่ในกลุ่มผู้สูงอายุและมีโรคประจำตัว ในจำนวนวันนอนเตียง ที่มีอัตราการครองเตียงที่นาน และมีผู้เสียชีวิตที่บ้าน 5 ราย อย่างไรก็ตาม ถ้าเทียบกับตัวเลขรวมของทั้งประเทศจะเห็นว่าตอนนี้อัตราส่วนของ กทม.และปริมณฑลเป็น 41% ส่วนต่างจังหวัด 71 จังหวัด ได้แซงหน้า กทม. และปริมณฑลไปแล้วอยู่ที่ 59%

พญ.อภิสมัยกล่าวอีกว่า เมื่อแบ่งตามเขตกลุ่มสุขภาพจากกราฟที่สูงขึ้นคือ การติดเชื้อนำเข้า หมายความว่าในจังหวัดนั้นๆ มีผู้ติดเชื้อค่อนข้างน้อย แต่มีผู้เดินทางจาก กทม.และปริมณฑลเข้าไปเขต 1 จะเน้นที่ จ.น่าน พะเยา แพร่ เขต 2 คือ จ.อุตรดิตถ์ เขต 3 คือ จ.นครสวรรค์ กำแพงเพชร พิจิตร อุทัยธานี และชัยนาท เขต 7 คือ จ.ขอนแก่น เขต 9 คือ จ.นครราชสีมา เขต 10 คือ จ.มุกดาหาร อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ ยโสธร อุบลราชธานี โดย นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค.ได้ลงพื้นที่และสะท้อนภาพให้เห็นว่าการจัดการในพื้นที่หลายหลายจังหวัด ทั้งในส่วนของภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้ ที่พบว่าติดเชื้อเป็นผู้ที่เดินทางกลับจากพื้นที่สีแดงเข้ม จึงต้องเรียนย้ำให้จังหวัดเหล่านี้ต้องเฝ้าระวัง เพราะจากการรายงานพบว่าแต่ละจังหวัดมีศักยภาพทางสาธารณสุขเริ่มจะตึง และบางพื้นที่มีอัตราการครองเตียงถึง 70% ของเตียงที่มีอยู่ และมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น

“นอกจากนี้ บางจังหวัดที่มีนโยบายรับผู้ป่วยจาก กทม.และปริมณฑล กลับไปรักษาตัว ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัด จะต้องเน้นย้ำให้มีการคัดกรองประชาชนอย่างเคร่งครัด และอาจจะต้องใช้ระบบการรักษาเหมือนกับ กทม. และปริมณฑลคือการเปิดการแยกกักในชุมชน และการแยกกักที่บ้าน คอยรองรับ” พญ.อภิสมัยกล่าว

พญ.อภิสมัยกล่าวว่า ยอดติดเชื้อใน กทม.วันนี้เป็นตัวเลขที่สูงพอสมควรคือ 2,573 ราย สมุทรสาคร 1,074 ราย สมุทรปราการ 970 ราย ชลบุรี 867 ราย นนทบุรี 719 ราย ระยอง 411 ราย ฉะเชิงเทรา 320 ราย นครปฐม 311 ราย ปทุมธานี 301 ราย และพระนครศรีอยุธยา 290 ราย อย่างไรก็ตาม ทาง กทม.รายงานว่า ในจำนวนผู้ป่วยทั้งหมดที่มีการติดเชื้อส่วนใหญ่เกือบ 80% ยังจัดอยู่ในกลุ่มอาการสีเขียว คือ กลุ่มที่มีอายุน้อย และวัยแรงงาน จึงเน้นย้ำอยู่เสมอว่ากลุ่มที่ได้รับผลยืนยันเป็นผู้ติดเชื้อและอยู่ในระดับสีเขียว ขอให้รักษาตัวอยู่ที่บ้าน

“ขณะนี้หลายหน่วยงานหลายโรงพยาบาลสามารถที่จะให้บริการการแยกกักตัวที่บ้าน สามารถติดต่อได้ที่เลขหมาย 1330 กด 14 หรือสามารถสแกนคิวอาร์โค้ดและเว็บไซต์ หรือแอพพลิเคชั่นของภาครัฐและมหาวิทยาลัย โดยกระทรวงสาธารณสุขได้ทำคู่มือให้ประชาชนเพื่อศึกษาและเข้าใจ ทำให้หลายหน่วยงานสามารถให้ความช่วยเหลือผู้ติดเชื้อและนำเข้าสู่การกักตัวที่บ้านได้

“ทีมป้องกันและแก้ไขปัญหาโควิด-19 เชิงรุกในชุมชน (Bangkok Comprehensive COVID-19 Response Team-CCRT) วันนี้ได้ลงพื้นที่ใน 57 ชุมชน มีผู้รับบริการทั้งสิ้น 5,325 ราย ในจำนวนนี้ทีมที่ลงไปในแต่ละชุมชนจะมีการตรวจ ATK และนำมาซักประวัติให้แต่ละบ้าน หากไม่มีผลเป็นบวกก็จะให้บริการฉีดวัคซีนด้วย ซึ่งในจำนวนนี้มีผู้ได้รับวัคซีนไปทั้งสิ้น 3,897 ราย

“เป็นผู้สูงอายุ 1,982 ราย มีโรคประจำตัว 1,903 ราย และเป็นหญิงตั้งครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ 12 ราย โดยทีม CCRT ได้ฉีดวัคซีนสะสมคือ 45,977 ราย ทาง กทม.จะลงชุมชนในทุกๆ วัน ตกวันละเกือบ 100 ชุมชน ซึ่งจะระบุแผนไว้ที่เว็บไซต์ของ กทม.ว่าจะลงพื้นที่ไหนบ้าง ขอให้พี่น้องประชาชนติดตามในรายละเอียดเพราะทีมนี้เข้าถึงประชาชน ทำให้ตรวจค้นหาผู้ติดเชื้อที่ยังไม่มีอาการ เพื่อให้ได้รับการดูแลอย่างเร็วที่สุดและไม่เกิดการแพร่เชื้อไปในครอบครัวและชุมชนที่เกี่ยวข้อง” พญ.อภิสมัยกล่าว

พญ.อภิสมัยกล่าวว่า ทางกรมการแพทย์ได้รายงานว่า กรณีที่ประชาชนไปตรวจเองตามแล็บเอกชน หรือบริษัทซื้อให้ตรวจ ก็จะทำให้มีปัญหาคือเมื่อได้รับผลออกมาบวกก็จะไม่ได้รับการดูแลรักษา เพราะทางเจ้าหน้าที่จะขอให้ไปตรวจยืนยัน RT-PCR ก่อนที่จะเข้าการแยกกักชุมชน โดยทางกระทรวงสาธารณสุขได้ชี้แจงว่า การตรวจด้วย ATK จะมีปัญหาเรื่องความแม่นยำ และเกิดผลบวกลวงได้ จึงต้องได้รับการตรวจ RT-PCR ก่อนเสมอ ซึ่งเป็นข้อจำกัด เพราะประชาชนจำนวนหนึ่งหาที่ตรวจไม่ได้ หรือตรวจแล้วต้องรอผลประมาณหลายวัน ซึ่งทาง ศบค.ชุดเล็กกำลังหารือกันว่าหากมีผล ATK เป็นบวกก็ให้รับเข้าระบบการกักตัวชุมชนไปก่อน อย่างไรก็ตาม ก็ต้องฟังผลการประชุมอย่างชัดเจน

พญ.อภิสมัยกล่าวว่า นอกจากนี้ อาจมีการอบรมให้ชุมชนสามารถศึกษาวิธีการตรวจ ATK ให้แม่นยำ สวอบโพรงจมูกอย่างถูกต้อง และทาง กทม.ได้รับการอนุมัติจากกระทรวงสาธารณสุขให้จัดหาชุดตรวจ ATK เพิ่มอีก 8.5 ล้านชุด เพื่อสนับสนุนให้พี่น้องประชาชนเข้าถึงการตรวจ ATK ให้ได้มากที่สุด นอกจากนี้ ที่ประชุม ศบค.ยังได้หารือเรื่องมาตรการการขยายเตียง ที่เดิมมีเตียงรองรับ ทั้งโรงพยาบาลหลัก 32 แห่ง ทั้งรัฐและเอกชน ไอซียูสนาม 4 แห่ง โรงพยาบาลสนาม 7 แห่ง โดยทางโรงพยาบาลได้ปรับแผนกันอย่างต่อเนื่อง

“ในวันนี้ นพ.อำนาจ พิศาลจำเริญ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบางปะกอก 1 ได้นำเรียนแผนที่เข้ามาช่วยดูแลประชาชนที่ติดเชื้อ ในส่วนของการแยกกักชุมชน สามารถที่จะเพิ่มได้อีก 200 เตียง ภายในช่วงต้นเดือนสิงหาคม ที่เขตทุ่งครุ ฮอสปิเทลจะร่วมกับโรงแรมคิน ที่เจริญนคร เขตธนบุรี เพิ่มอีก 500 เตียง โรงแรมบางกอกซิตี้ สวีท เขตราชเทวี เพิ่ม 300 เตียง โรงพยาบาลสนามจะเพิ่ม 140 เตียงในเขตราชบูรณะ แบ่งเป็นเตียงสีเหลืองเพิ่มขึ้น 60 เตียง เตียงสีแดงเพิ่มขึ้น 30 เตียง เตียงสีเขียวเพิ่มขึ้นอีก 50 เตียง ที่จะเปิดให้บริการได้ในเดือนสิงหาคมนี้

“ทางผู้อำนวยการโรงพยาบาลปิยะเวทได้แจ้งที่ประชุมว่า ทางโรงพยาบาลปิยะเวทกำลังสำรวจพื้นที่รองรับผู้ป่วยสีเหลือง และสีแดงในพื้นที่ เช่นเดียวกับ นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ระบุว่า ทางโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะได้มีแผนเพิ่มเตียงทั้งหมด 3,300 เตียง ภายในเดือนสิงหาคม ซึ่งข้อสำคัญคือจะเป็นเตียงที่สามารถดูแลผู้ป่วยที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ กลุ่มเป็นโรคไตต้องฟอกเลือด และกลุ่มที่ต้องผ่าตัดทำคลอด”  พญ.อภิสมัยกล่าว

พญ.อภิสมัยกล่าวต่อว่า ในสัปดาห์นี้จะนำตัวเลขให้เห็นภาพรวมว่าเตียงกระจายอยู่พื้นที่และเขตใดบ้าง และประชาชนจะเข้าถึงบริการอย่างไรบ้าง แต่อย่างไรก็ตาม ต้องขอขอบคุณทุกภาคส่วน โดยทาง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผอ.ศบค.ได้เน้นย้ำมาตลอดว่าขอให้เป็นความร่วมมือของภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชน และประชาสังคม ซึ่งก็ต้องขอบคุณ เพราะโรงพยาบาลปิยะเวท โรงพยาบาลบางปะกอก โรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะก็จะเป็นส่วนหนึ่ง แต่ที่มีความพยายามช่วยเหลือมาตลอดก่อนหน้านี้ก็จะมีโรงพยาบาลกรุงเทพ โรงพยาบาลธนบุรี ซึ่งเป็นกำลังสำคัญที่บุคลากรมากมาย ลงมาช่วยกันดูแลผู้ป่วยที่ติดเชื้อ

“แล้วก็ต้องขอบคุณสมาคมโรงพยาบาลเอกชน กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ที่ช่วยกันประสานงานทำให้เห็นภาพของเตียงที่เปิดขึ้น คาดหวังว่าพี่น้องประชาชนจะสามารถที่จะได้รับบริการที่เข้าถึงได้เร็วยิ่งขึ้นและมีประสิทธิภาพ ช่วยให้ลดการตายที่บ้านได้” พญ.อภิสมัยกล่าว

พญ.อภิสมัยกล่าวว่า อยากฝากทิ้งท้ายไว้ว่าในเดือนเมษายน 2564 เราได้ประสบปัญหาที่ไปพี่น้องประชาชนรอเตียง ตอนนี้เราได้เพิ่มศักยภาพได้มาเป็นหลายพันเตียง แต่ก็ยังไม่ทันต่อความต้องการ เพราะตัวเลขผู้ติดเชื้อไปถึง 15,000 ราย แต่อยากให้เห็นว่าบุคลากรสาธารณสุข บุคลากรของกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และทุกภาคส่วนยังไม่ย่อท้อ ถึงแม้ว่าเราอาจจะต้องปรับแผนให้แยกกับตัวที่บ้านและแยกกับตัวในชุมชน แต่การเพิ่มนั้นก็เพื่อรักษาชีวิตพี่น้องประชาชน

เมื่อถามถึงความคืบหน้าของวัคซีนและจุดฉีดวัคซีนที่สถานีกลางบางซื่อที่มีคนเข้าไปแออัด จนเสี่ยงต่อการติดเชื้อ พญ.อภิสมัยกล่าวว่า การฉีดวัคซีนในวันนี้ยอดเพิ่ม 90,934 โดส ทำให้ยอดรวมของประเทศตอนนี้อยู่ที่ 15,960,778 โดส โดยถ้านับเฉพาะกรุงเทพมหานครเข็มหนึ่งฉีดไปทั้งสิ้น 56.24% ซึ่งในจำนวนนี้จะมีกลุ่มผู้สูงอายุฉีดไปแล้ว 54% โดยทาง ศบค.ชุดเล็กได้รับรายงานว่า ที่สถานีกลางบางซื่อมีพี่น้องประชาชนจากต่างจังหวัดเข้ามาฉีดวัคซีนด้วย เช่น ราชบุรี สระบุรี และสุพรรณบุรี ทางสาธารณสุขก็เป็นห่วง เพราะเราอยู่ในมาตรการห้ามเคลื่อนย้ายและการเดินทางเข้าออกพื้นที่ที่เป็นสีแดงเข้ม ก็เป็นข้อห้าม

พญ.อภิสมัยกล่าวว่า แต่อย่างไรก็ตาม การเข้ามาฉีดวัคซีนก็เป็นนโยบายที่เราอยากจะเร่งระดมให้เกิดการฉีด จึงต้องฝากไปที่สถานีกลางบางซื่อว่าจะต้องมีการทบทวนการจัดระเบียบที่เหมาะสม โดยเราจะมีการหารืออย่างเร่งด่วน เพราะเรายังอนุญาตให้สามารถวอล์กอินเข้ามาฉีด แต่ก็อยากจะให้ชะลอการเข้ามาฉีดไว้ก่อน

“ทางกระทรวงสาธารณสุขได้เน้นย้ำว่าในทุกจังหวัดทั่วประเทศต้องฉีดวัคซีนเข็มหนึ่งให้ได้ 50% ของจำนวนประชากร ซึ่งปัจจุบันตัวเลขยังเดินช้าพอสมควร โดยกรมควบคุมโรครายงานว่าในส่วนของจังหวัดอื่นๆ ตอนนี้มีการจัดส่งวัคซีนไปแล้วยังรอค้างอยู่ประมาณ 2 ล้านโดส ก็ขอให้เร่งระดมฉีดด้วย และจะต้องมีการจัดการนัดหมายที่เหมาะสม ไม่ให้เกิดการแออัดจนอาจจะกลายเป็นจุดแพร่เชื้อได้” พญ.อภิสมัยกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image