‘หมอ-พยาบาล’ ด่านหน้าร้อง ‘สถานทูตสหรัฐ’ จับตาไฟเซอร์ 1.5 ล้านโดส พ้อ รบ.กำลังส่งไปตาย

‘หมอ-พยาบาล’ ด่านหน้าร้อง ‘สถานทูตสหรัฐ’ จับตาไฟเซอร์ 1.5 ล้านโดส พ้อ ‘รบ.กำลังส่งไปตาย’ ปกป้องชีวิตตัวเองไม่ได้

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 27 กรกฎาคม ที่หน้าสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ถนนวิทยุ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ ตัวแทนบุคลากรทางการแพทย์ ได้แก่ ภาคีบุคลากรสาธารณสุข, กลุ่มหมอไม่ทน, เครือข่ายพยาบาล (Nurse Connect), สมาพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์นานาชาติแห่งประเทศไทย (IFMSA-Thailand) และกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และอาสาสมัคร (DNA) เดินทางมายื่นจดหมายเปิดผนึกต่อสถานทูตสหรัฐ เพื่อขอให้ตรวจสอบการจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer) จำนวน 1.5 ล้านโดส ซึ่งจะถูกส่งจากสหรัฐมาประเทศไทยในวันที่ 29 กรกฎาคมนี้ ให้ถึงบุคลากรด่านหน้า และประชาชนกลุ่มเสี่ยง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นพ.ณัฐ ศิริรัตน์บุญขจร ตัวแทนภาคีบุคลากรสาธารณสุข กล่าวกับ นายไมเคิล ฮีธ อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ถึงความกังวลใจของบุคลากรด่านหน้าที่มีต่อภาครัฐไทย ในการจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ 1.5 ล้านโดส ซึ่งได้รับบริจาคจากสหรัฐอเมริกา และจะเข้ามาวันที่ 29 กรกฎาคมนี้ ก่อนยื่นจดหมายเปิดผนึก ทั้งนี้ มี นพ.ทศพร เสรีรักษ์ อดีต ส.ส.แพร่ พรรคเพื่อไทย อดีตโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมสังเกตการณ์ทำกิจกรรมด้วย

นพ.ณัฐกล่าวว่า ที่มายื่นหนังสือในวันนี้เนื่องจากช่วงต้นเดือนกรกฎาคมได้รับทราบข่าวว่าทางสหรัฐอเมริกาจะบริจาควัคซีน mRNA มาให้ แต่หลังจากนั้นก็มีข่าวลือออกมาในหลายเรื่องที่ทำให้เกิดข้อกังขาว่าวัคซีนจะได้รับการจัดสรรฉีดให้กับบุคคลที่ควรจะได้รับก่อนหรือไม่ เช่น ผู้สูงอายุ, ผู้ที่มีโรคประจำตัว ด้วยความกังวลนั้นทำให้เรามาสถานทูตสหรัฐอเมริกาในวันนี้ เพื่อกล่าวถึงความกังวลของเราต่อสถานทูตอเมริกา เราพยายามผลักดันความโปร่งใสในการจัดสรรวัคซีน

Advertisement

โดยในขั้นต้นอยากให้สถานทูตได้รับรู้ถึงความกังวลของเรา ในฐานะเครือข่ายบุคลากรทางการแพทย์ เพราะยังไม่มีความโปร่งใสในเรื่องการจัดสรรวัคซีนที่เพียงพอ ซึ่งทางตัวแทนสถานทูตสหรัฐก็ได้รับฟังข้อมูลแต่ยังไม่ได้มีการพูดคุยเพิ่มเติม

เมื่อถามว่า วันที่ 25 กรกฎาคมที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขมีแนวโน้มว่าจะจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ให้บุคลากรด่านหน้า จำนวน 50,000 โดส คิดเห็นอย่างไรบ้าง?

นพ.ณัฐกล่าวว่า เข้าใจว่าสถานการณ์โควิดในเวลานี้ค่อนข้างรุนแรง และเปลี่ยนทุกวัน จำนวนบุคลากรที่ได้รับแอสตร้าเซนเนก้าเป็นเข็มบูสต์ก็มีไปแล้ว ตัวเลขจึงเปลี่ยนได้ ก็อาจจะเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล แต่สิ่งที่เรายังไม่เห็นคือเอกสารที่เป็นทางการ หรือตัวเลขที่ชัดเจน จึงอยากให้มีความชัดเจนส่วนนี้มากยิ่งขึ้น เพื่อที่จะได้ไม่มีบุคลากรด่านหน้าคนใดต้องตกหล่น ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ พยาบาล หรือแม่บ้าน ที่สุ่มเสี่ยงในการทำงานเป็นด่านหน้า รวมถึงการจัดสรรต่อผู้ป่วยและผู้สูงอายุที่ต้องได้รับการจัดสรรวัคซีน เป็นไปอย่างยุติธรรม และตรงไปตรงมา

เมื่อถามว่าช่วงวิกฤตโควิดเช่นนี้บุคลากรทางการแพทย์ทำงานหนักและสุ่มเสี่ยงอย่างไรบ้าง?

น.ส.ปาณิสรา ปานมุนี ตัวแทนบุคลากรทางการแพทย์ กล่าวว่า ในสถานการณ์โควิด ด้วยความที่งานค่อนข้างเสี่ยงเรายอมรับในเรื่องเนื้องานว่าจะต้องเผชิญกับความเสี่ยงอยู่แล้ว เรามองว่าเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของเรา แต่สิ่งสำคัญที่เราอยากพูดในวันนี้ คือเราไม่มีเครื่องมือในการที่จะจัดการความเสี่ยงนั้น

“เราไม่สามารถปกป้องชีวิตของตัวเราเองได้จากอันตราย เราไม่ได้รับวัคซีนที่มีงานวิจัยรองรับเพียงพอว่ามีประสิทธิภาพ ป้องกันสายพันธุ์ใหม่ๆ บุคลากรหลายท่านยังมีการตกค้างในเรื่องค่าตอบแทนเสี่ยงภัย หลายที่ไม่ได้รับอุปกรณ์ป้องกันภัย ต้องจ่ายเงินซื้อเอง สิ่งเหล่านี้เปรียบเสมือนรัฐบาลกำลังส่งบุคลากรด่านหน้าหลายท่านไปตาย เพราะเราไม่สามารถปกป้องชีวิตของตัวเองได้เลย

เรามีหน้าที่ดูแลสุขภาพของประชาชน อยากทำหน้าที่ตรงนี้ให้ดีที่สุด เพียงแต่สถานการณ์เวลานี้เรายังไม่สามารถรับรองความปลอดภัยของเราได้” น.ส.ปาณิสรากล่าว และว่า

ทางภาคีจะมีข้อเรียกร้องและแถลงการณ์ไปยื่นยังสภาการพยาบาล และกระทรวงสาธารณสุขต่อไป

(ชมคลิป)

น.ส.ปาณิสรากล่าวอีกว่า เราไม่ได้เรียกร้องอะไรเกินกว่าหน้าที่ที่เขาต้องทำ เราทำหน้าที่ของเราอย่างดีที่สุดแล้ว เราจึงจะเรียกร้องให้หน่วยงานทำหน้าที่อย่างดีที่สุดเช่นกัน

ถ้าพยาบาลทั่วประเทศเห็นด้วยกับข้อเรียกร้องและแถลงการณ์ของเรา สามารถช่วยร่วมลงชื่อได้ที่เพจ Nurse Connect

เมื่อถามว่าหลังจากนี้จะดำเนินการยกระดับการเคลื่อนไหวต่อไปหรือไม่?

นพ.ณัฐกล่าวว่า หลังจากนี้จะดูในเรื่องการจัดการของภาครัฐต่อไป หากยังไม่มีความชัดเจนมากพอก็อาจพิจารณาการเคลื่อนไหวต่อไป ขอให้ติดตาม

ด้านตัวแทนสมาพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์นานาชาติแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หากมีผู้ใดพบเห็นเหตุการณ์ที่มีความน่าสงสัย หรือเป็นการกระจายวัคซีนที่ดูแล้วน่าจะมีอะไรผิดปกติ ขอให้ทุกคนติดต่อเข้ามา ขอให้ช่วยเป็นหูเป็นตา จับตาดูรัฐบาล เพราะการตรวจสอบรัฐบาลเป็นหน้าที่ที่เราพึงทำในฐานะประชาชนในระบอบประชาธิปไตยที่มีสิทธิเข้าถึงข้อมูล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับแถลงการณ์ร่วมบุคลากรทางการแพทย์เรียกร้องถึงกระทรวงสาธารณสุขมีเนื้อหาดังนี้

เรื่องความโปร่งใสในการกระจายวัคซีน Pfizer ที่จะเข้ามาในวันที่ 29 กรกฎาคม 2564

ในวันที่ 29 กรกฎาคม 2564 นี้ กระทรวงสาธารณสุขยืนยันว่าบุคลากรการแพทย์ด่านหน้าจะได้รับการฉีดวัคซีน Pfizer มากกว่า 500,000 โดส โดยจะเริ่มฉีดต้นเดือนสิงหาคม ทว่า สถานการณ์ขณะนี้นับว่ามีความขัดแย้งกับคำกล่าวข้างต้นอย่างมาก เมื่อพิจารณาถึงความจริงที่ว่าขณะนี้บุคลากรทางการแพทย์จำนวนมากต้องเข้ารับการฉีดวัคซีน AstraZeneca เป็นบูสเตอร์โดสเข็ม 3 ทั้งด้วยความไม่มั่นใจในการมาถึงของ Pfizer การถูกทำให้เชื่อว่าจะไม่มีวัคซีน Pfizer เข้ามา และการคาดการณ์ว่า Pfizer จะเข้ามาไม่พอสำหรับบุคลากรทั้งหมด โดยมีหลักฐานและข้อยืนยันจำนวนมากที่พิสูจน์ว่าสภาพการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นจริง ไม่ว่าจะเป็นหนังสือเวียนในโรงพยาบาลหรือการประกาศว่าจะไม่รับผิดชอบหากบุคลากรที่ยืนยันจะรอ Pfizer ติดโควิดในระหว่างรอวัคซีน

สภาพการณ์ดังกล่าวนำไปสู่การตั้งคำถามว่าขณะนี้มีบุคลากรทางการแพทย์ได้รับวัคซีน AstraZeneca ไปแล้วเท่าใด และยังมีเจตจำนงรอฉีดวัคซีน Pfizer ต้นเดือนหน้าดังที่กระทรวงสาธารณสุขกล่าวอ้างเท่าใด มีข้อสงสัยมากมายเกี่ยวกับการกระจายวัคซีนครั้งนี้ ทว่า กระทรวงสาธารณสุขซึ่งมีข้อมูลของบุคลากรทางการแพทย์ทั้งหมดในมือกลับไม่เปิดเผยตัวเลขอย่างโปร่งใสชัดเจน

นอกจากความคลุมเครือของข้อมูลเรื่องวัคซีน การออกแบบและจัดการเพื่อทำให้วัคซีนอยู่ในอุณหภูมิที่ถูกต้องเหมาะสม (Cold-chain tracking) ซึ่งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมได้จัดทำ เพื่อติดตามการกระจายของวัคซีนยี่ห้อและล็อตต่างๆ ยังได้ปิดตัวลงตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคม และถูกแทนที่ด้วยเว็บไซต์ที่ทางกระทรวงสาธารณสุขทำแทน (ดูได้ที่ https://dashboard-vaccine.moph.go.th/dashboard.html) ซึ่งไม่มีการแจ้งรายละเอียดยี่ห้อวัคซีนหรือล็อต มีเพียงข้อมูลว่า ประชาชนในแต่ละจังหวัดได้รับการฉีดวัคซีนเป็นจำนวนเท่าใดเพียงแค่นั้น

เพื่อความโปร่งใสและการกระจายวัคซีนให้ถึงมือผู้ควรได้รับโดยปราศจากเส้นสาย หมอไม่ทน, ภาคีบุคลากรสาธารณสุข, Nurses Connect, สมาพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์นานาชาติแห่งประเทศไทย (IFMSA Thailand Official) และ DNA บุคลากรทางการแพทย์และอาสาสมัคร จึงขอเรียกร้องต่อกระทรวงสาธารณสุขดังนี้

1.นำวัคซีน mRNA มาเป็นวัคซีนหลักให้คนไทยทุกคน

2.ชี้แจงและเปิดเผยข้อมูลว่ามีบุคลากรได้รับวัคซีน AstraZeneca เป็นบูสเตอร์โดสไปแล้วเท่าใด และยังเหลือบุคลากรที่ยืนยันจะรับไฟเซอร์เป็นจำนวนเท่าใด เพื่อให้จำนวนวัคซีนที่ได้รับพอดีกับบุคลากร ไม่มีเศษตกหล่นติดตามไม่ได้นอกระบบ

3.นำข้อมูลสำคัญที่จะพิสูจน์ความโปร่งใสกลับมาบรรจุในระบบ Cold-chain tracking นั่นคือเส้นทางการกระจายวัคซีนโดยระบุยี่ห้อและล็อตต่างๆ ของวัคซีน และเปิดให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย เพื่อแสดงความรับผิดชอบของรัฐต่อประชาชน และให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการก้าวข้ามวิกฤต

4.ระบุผู้รับผิดชอบอย่างชัดเจนกรณีเกิดการจัดสรรการกระจายวัคซีนผิดพลาดหรือทุจริต

นอกจากนั้น เรายังขอเชิญชวนประชาชนทุกคนร่วมลงชื่อสนับสนุนการนำ mRNA มาเป็นวัคซีนหลักทาง change.org/vaccinewetrust และร่วมจับตามองการกระจายวัคซีนครั้งนี้ด้วยการแจ้งเบาะแสมายัง “แบบรับรายงานความผิดปกติในการกระจายวัคซีนโดย สมาพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์นานาชาติแห่งประเทศไทย” (เข้าถึงได้ที่ shorturl.at/dkDHK หรือ QR code ด้านล่าง) หรือส่งอีเมล์มาที่ [email protected] หากท่านพบเห็นหรือทราบข้อมูลการได้วัคซีนมาอย่างไม่ถูกต้อง เราจะถามไปด้วยกันว่า #เก็บไฟเซอร์ไว้ให้ใคร

ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงวัคซีน และการปิดบังข้อมูลเส้นทางการกระจายวัคซีน คือการลดโอกาสการมีชีวิตรอดของประชาชน เพื่อเรียกร้องถามหาความโปร่งใสนี้ อีกไม่นาน ตัวแทนบุคลากรทางการแพทย์จะมีการเคลื่อนไหว ขอให้ประชาชนติดตามอย่างใกล้ชิด

ตัวแทนบุคลากรทางการแพทย์
27 กรกฎาคม 2564

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : บุคลากรการแพทย์ออกแถลงการณ์ร่วม จี้สธ.กระจายวัคซีนโปร่งใส ล่าชื่อหนุน mRNA เป็นวัคซีนหลัก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image