‘ศักดิ์สยาม-อนุทิน’ ตรวจความพร้อมส่งผู้ป่วยกลับภูมิลำเนา 7 จว. ยันปลอดภัย ไม่แพร่เชื้อ

‘ศักดิ์สยาม-อนุทิน’ ลงพื้นที่-ตรวจความพร้อมส่งผู้ป่วยกลับภูมิลำเนา 7 จว. ยันปลอดภัยไม่แพร่กระจายโควิด 100%

เมื่อเวลา 08.40 น. วันที่ 27 กรกฎาคม ที่สถานีรถไฟรังสิต นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เดินทางมาร่วมส่งผู้ป่วยโควิด-19 กลับภูมิลำเนาในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ยโสธร และสุรินทร์ ตามนโยบาย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นวันแรก โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้จัดรถไฟขบวนพิเศษ ขบวน 971 เส้นทาง สถานีรถไฟรังสิต-อุบลราชธานี ซึ่งในวันที่ 27 ก.ค. มีผู้ป่วยที่แสดงความประสงค์กลับไปรักษาที่ 7 จังหวัดภูมิลำเนา 135 คน (มีอาการระดับเขียว-เหลือง)

นายอนุทิน กล่าวว่า วันนี้ (27 ก.ค) ขบวนรถไฟพิเศษจะขนส่งผู้ป่วยสีเหลือง และเขียว จำนวน 135 คน กลับไปยังภูมิลำเนา 7 จังหวัด ซึ่งจะเดินทางกลับพร้อมทีมแพทย์รวม 10 คน ซึ่งแต่ละจังหวัดจะมีรถพยาบาลเครือข่ายมารับผู้ป่วยจากสถานีรถไฟไปยังโรงพยาบาลสนามของแต่ละท้องที่ที่ได้ประสานงานล่วงหน้าไว้แล้วกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ดังนั้น ประชาชนในแต่ละจังหวัดปลายทางไม่ต้องกังวลเรื่องของความปลอดภัยและการแพร่กระจายเชื้อโควิด-19 ยืนยันว่าปลอดภัย 100%

ทั้งนี้ หากประชาชนในจังหวัดต่างๆ ยังกังวล และต้องการระวังตัวเองไม่ใช้บริการรถไฟช่วงดังกล่าวก็สามารถทำได้ แต่ยืนยันว่าปลอดภัยแน่นอน เนื่องจากผู้ป่วยจะอยู่ในระบบของตู้โดยสาร ไม่ได้เดินทางออกไปปะปน และระหว่างทาง ผู้ป่วยไม่ได้ออกจากขบวนรถ เป็นขบวนเฉพาะผู้ป่วย ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้เร่งอำนวยความสะดวกขนส่งผู้ป่วยที่รอเตียงให้กลับไปรักษายังภูมิลำเนา ต้องให้ทุกคนได้รับการรักษาพยาบาล โดยกระทรวงคมนาคมจะดำเนินการจัดส่งผู้ป่วยกลับสู่ภูมิลำเนาต่อเนื่องไปจนกว่าสถานการณ์ภาพรวมจะดีขึ้น

Advertisement

“เราจะส่งต่อไปผู้ป่วยไปยัง 7 จังหวัด ยืนยันว่าจะพาไปให้ถึงมือแพทย์ในภูมิลำเนา ขอประชาชนอย่าเชื่อข่าวลืออะไรทั้งสิ้น เพราะผู้ป่วยอยู่ภายใต้การควบคุมของทีมแพทย์ เมื่อไปถึงปลายทางจะมีรถพิเศษมารับไปสถานพยาบาล เราไม่ได้ดำเนินการเฉพาะรถไฟเท่านั้น กระทรวงคมนาคมจะสนับสนุนการส่งกลับผู้ป่วยในรูปแบบอื่นด้วย โดยจะทำต่อเนื่องจนกว่าความต้อการจะหมด อาจจะใช้รถตู้ รถ บขส. หรือหากต้องใช้อากาศยานในการขนส่งผู้ป่วย อาจจะต้องประสานไปยังกองทัพ ซึ่งนายกรัฐมนตรี ได้ให้แนวทางชัดเจนไว้แล้วว่า หากการเดินทางกลับมีระยะทางไกล ผู้ป่วยจำนวนมาก ให้ประสานกับกองทัพอากาศยานมาขนส่งผู้ป่วยกลับไปรักษาตัวภูมิลำเนา 14.00 น. โดยวันนี้ (27 ก.ค.) เวลาประมาณ 14.00 น. นายกรัฐมนตรี จะเรียกตน สธ. กระทรวงคมนาคม และ ศบค. มาประชุมร่วมกันอีกครั้ง” นายอนุทิน กล่าว

นายอนุทิน กล่าวว่า ส่วนกรณีทีมีกระแสข่าวว่าจะมีการยุบศูนย์วัคซีนกลางบางซื่อ นั้น ยันยืนยันว่าไม่ได้เป็นตามพาดหัวข่าวแน่นอน จะยุบได้อย่างไร ไม่ต้องกังวลที่ผ่านมาเราทำสิ่งที่ดีแล้ว ซึ่งหากจะดูจากยอดการฉีดวัคซีนของสถานีบางซื่อ สิ้นสุด ณ วันที่ 26 กรกฎาคม สามารถฉีดให้ประชาชนได้มากถึง 1 ล้านคนแล้ว

ด้าน นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า ก่อนหน้านี้กระทรวงคมนาคม ได้ประชุมร่วมกับสธ. ในการวางแผนที่จะส่งผู้ป่วยโควิด-19 ที่ลงทะเบียนกับ สปสช. 1330 รวมทั้งได้บูรณาการกับจังหวัดปลายทาง เพื่อรับตัวไปรักษาต่อที่สถานพยาบาล อย่างไรก็ตามในการใช้รถไฟขนส่งผู้ป่วยครั้งนี้ ได้ใช้รถไฟด่วนพิเศษ CNR ขบวนใหม่ ของ ร.ฟ.ท. 1 ขบวน 13 ตู้ เป็นรถไฟตู้นอน มีระบบปรับอากาศ มีห้องน้ำสุญญากาศเหมือนบนเครื่องบิน เป็นระบบปิด ไม่หล่นเรี่ยราดตามทางรถไฟ เพื่อไม่ให้เกิดการฟุ้งกระจายของเชื้อได้ ขณะเดียวกันที่สถานีรถไฟรังสิต ก็เป็นสถานีของรถไฟฟ้าสายสีแดงที่ยังไม่เปิดใช้บริการ ดังนั้น การให้ผู้ป่วยโควิดมาขึ้นรถไฟที่สถานีรถไฟรังสิต ถือว่าปลอดภัย มีโอกาสสัมผัสประชาชนน้อยมาก ยืนยันว่าประชาชนที่อยู่โดยรอบสถานี รวมทั้งตลอดเส้นทางจะไม่มีความเสี่ยงจากการติดเชื้อแน่นอน

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า ในรถไฟขบวนดังกล่าวจะจัดให้ผู้ป่วยนั่งตู้ละประมาณ 30 คน ซึ่งจะแยกชัดเจนระหว่างผู้ป่วยกลุ่มยืนยันด้วยผลตรวจ RT PCR positive กับกลุ่มผลตรวจ ATK positive เพื่อป้องกันกรณีที่ผู้มีผลตรวจ ATK positive คลาดเคลื่อนมาปะปนกับผู้ที่ผลตรวจชัดเจนแล้ว และก่อนออกเดินทาง สพฉ. จะมีการประเมินอาการของผู้ป่วยทุกรายก่อนให้ออกเดินทาง ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยเอง อย่างไรก็ตามในขบวนรถไฟยังมีแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และตำรวจรถไฟอยู่ประจำตลอดการเดินทางด้วย โดยในระหว่างการเดินทางได้จัดอาหาร และเครื่องดื่มดูแลผู้ป่วยตลอด ซึ่งรถจะไม่จอดแวะพักระหว่างทางให้ผู้ป่วยลงไปยังด้านล่างเด็ดขาด

นายศักดิ์สยาม กล่าวอีกว่า เมื่อผู้ป่วยเดินทางถึงสถานีจุดหมายปลายทาง จะมีรถมารับไปยังสถานพยาบาลทันที จะไม่ลงมาปะปนกับผู้โดยสารทั่วไป ส่วนจังหวัดใดที่รถไฟไปไม่ถึง ก็จะใช้รถ บขส. มารับไปส่งต่อยังสถานพยาบาล ยืนยันว่าการดำเนินการทุกขั้นตอนอยู่ภายใต้มาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข มีการประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตลอด ขอให้ประชาชนทุกคนไม่ต้องกังวล และมั่นใจได้ในเรื่องความปลอดภัย อย่างไรก็ตาม กระทรวงคมนาคมพร้อมสนับสนุนการขนส่งผู้โดยสารทุกรูปแบบทุกพื้นที่ หากกลุ่มผู้ป่วยขนาดใหญ่ก็จะใช้รถไฟ แต่หากกลุ่มเล็กก็ได้ประสานรถพยาบาล และรถมูลนิธิอาสาต่างๆ ไว้คอยบริการแล้ว ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่ให้ดูแลประชาชนให้ดี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image