สธ.คาดฉีดไฟเซอร์ 1.5 ล้านโดส หมดใน ส.ค. บุคลากรแพทย์ 7 แสนทั่วไทย ที่เหลือให้เด็ก 12 ปีมีโรคเรื้อรัง

สธ.คาดฉีดไฟเซอร์ 1.5 ล้านโดส หมดใน ส.ค. บุคลากรแพทย์ 7 แสนทั่วไทย ที่เหลือให้เด็ก 12 ปีมีโรคเรื้อรัง

เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงถึงแผนการกระจายวัคซีนไฟเซอร์ที่ได้รับบริจาคจากประเทศสหรัฐอเมริกา จำนวน 1.5 ล้านโดส ว่า สำหรับการกระจายวัคซีนโควิด-19 ในเดือนสิงหาคม 2564 นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. ในฐานะหัวหน้า ศปก.สธ. ได้ให้แนวนโยบายการกระจายวัคซีนไปที่ต่างจังหวัดมากขึ้น หลังจากที่เดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2564 ได้ฉีดให้กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ไปค่อนข้างมาก เพื่อควบคุมการระบาดของโรค ฉะนั้น เดือนสิงหาคมนี้ จะส่งไปที่ต่างจังหวัด เพื่อฉีดในกลุ่มเป้าหมายหลัก คือ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง หญิงตั้งครรภ์มากกว่า 12 สัปดาห์ และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) จากนั้น วัคซีนส่วนหนึ่งก็จะใช้เพื่อควบคุมการระบาดในพื้นที่ระบาดเป็นจุดๆ ส่วนที่เหลือก็จะเป็นการฉีดในกลุ่มเป้าหมายพิเศษ เช่น พื้นที่ท่องเที่ยว พังงา กระบี่ เป็นต้น

ส่วนกรณีวัคซีนชนิด mRNA หรือ วัคซีนไฟเซอร์ ที่ได้รับบริจาคมา 1.5 ล้านโดส ขั้นตอนต่อไปจะมี 2 ส่วน คือ 1.การฉีดวัคซีนไฟเซอร์ 4 กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ กลุ่มที่ 1 จำนวน 700,000 โดส ฉีดเข็มกระตุ้น หรือเข็มที่ 3 ให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ทั่วประเทศ ซึ่งโรงพยาบาล (รพ.) ต่างๆ จะส่งรายชื่อสำรวจให้ สธ. โดยคณะทำงานด้านบริหารจัดการการให้บริการวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 กรณีวัคซีนโควิดไฟเซอร์ ที่มี นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัด สธ.เป็นประธาน ก็จะมีการกระจายวัคซีนไปยังเป้าหมาย การฉีดเข็มกระตุ้นเพื่อให้บุคลากรสาธารณสุขมีภูมิคุ้มกันมากขึ้น เพราะข้อมูลพบว่ามีบุคลากรสาธารณสุข จำนวนไม่น้อยติดเชื้อ แม้ว่าติดเชื้อจากครอบครัว แต่เมื่อไปทำงานก็จะทำให้ผู้ร่วมงานเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงแล้วต้องกักตัว ซึ่งทำให้การดูแลผู้ป่วยโรคอื่น หรือโควิด-19 เองลดประสิทธิภาพลง ฉะนั้น การฉีดในกลุ่มนี้ก็จะสร้างความมั่นคงในการดูแลผู้ป่วยเพื่อรองรับสถานกาณ์โควิด-19

นพ.โอภาส กล่าวว่า กลุ่มที่ 2 จำนวน 645,000 โดส สำหรับผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์มากกว่า 12 สัปดาห์ และผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง ซึ่งวัคซีนไฟเซอร์มีข้อดีคือ สามารถฉีดในผู้อายุ 12 ปีขึ้นไปได้ด้วย ฉะนั้น กลุ่มเด็กที่อยู่ในโรคเรื้อรัง 7 โรค ก็จะสามารถได้รับวัคซีนไฟเซอร์ได้ เนื่องจากมีวัคซีนไม่มากก็จะกระจายไปเพื่อตอบสนองต่อการระบาดของโรค โดยเฉพาะ 13 จังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ได้แก่ กรุงเทพฯ ปริมณฑล ชลบุรี ฉะเชิงเทรา พระนครศรีอยุธยา สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส กลุ่มที่ 3 จำนวน 150,000 โดส เนื่องจากเป็นวัคซีนบริจาค เราจึงมีนโยบายฉีดให้คนต่างชาติที่อาศัยและทำงานในแผ่นดินไทยอย่างเท่าเทียมกับคนไทย ได้แก่ ผู้สูงอายุ กลุ่ม 7 โรคเรื้อรัง และหญิงตั้งครรภ์มากกว่า 12 สัปดาห์ และ รวมถึงคนไทยที่ต้องเดินทางไปต่างประเทศ เช่น นักเรียน และ กลุ่มที่ 4 จำนวน 5,000 โดส สำหรับการศึกษาวิจัย เนื่องจากโควิด-19 เป็นโรคอุบัติใหม่ องค์ความรู้ยังมีน้อย รวมถึงวัคซีนที่เราใช้ก็ยังใช้มาไม่ถึงปี ฉะนั้น มีหลายอย่างที่เราไม่ทราบ เราจึงทำวิจัยเพื่อตอบปัญหาการแพทย์และสาธารณสุข และต้องเอามาใช้กำหนดนโยบาย ดูแลประชาชน

Advertisement

“สำหรับวัคซีนไฟเซอร์ 1 ขวด ที่ส่งมาจากประเทศสหรัฐอเมริกา จะเป็นวัคซีนเข้มข้น จากนั้นต้องผสมด้วยน้ำเกลือ หรือศัพท์การแพทย์ เรียกว่า 0.9% นอร์มอลซาไลน์ ผสมเข้าด้วยกันก็จะนำมาฉีดได้ ใน 1 ขวด เมื่อผสมแล้วจะฉีดได้ 6 โดส และที่แตกต่างจากวัคซีนที่เราฉีดใน 2 ยี่ห้อก่อหน้านี้ คือ เดิมเราฉีด 0.5 ซีซี เข้ากล้ามเนื้อ แต่ไฟเซอร์กำหนดให้ 1 โดส เท่ากับ 0.3 ซีซี ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ โดยเข็มที่ 2 จะฉีดห่างออกไป 3 สัปดาห์ ฉีดได้ในกลุ่มผู้มีอายุ 12 ปีขึ้นไป การเก็บในอุณหภูมิ 2-8 องศาเซสเซียส จะเก็บได้ประมาณ 1 เดือน ฉะนั้นต้องมีไทม์ไลน์ที่แน่ชัด” นพ.โอภาส กล่าว

ทั้งนี้ วัคซีนไฟเซอร์ 1.5 ล้านโดส ขณะนี้เก็บในอุณหภูมิ -70 องศาฯ ในคลังบริษัท ซิลลิค ฟาร์มา ประเทศไทย โดยได้นำตัวอย่างวัคซีนไปตรวจสอบคุณภาพ และความปลอดภัยที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์แล้ว คาดว่าวันที่ 2 สิงหาคม 2564 จะได้รับผลการตรวจ เมื่อทุกอย่างเรียบร้อยก็จะให้บริษัทฯ ทำระบบตรวจสอบย้อนกลับ เพื่อตรวจสอบว่าวัคซีนที่ส่งไปมีคุณภาพตามมาตรฐานกำหนดหรือไม่ ซึ่งจะมีกระบวนแพ็คจัดส่งพอสมควร ต่อมาวันที่ 5-6 สิงหาคม 2564 จะส่งวัคซีนล็อตแรก ไปเป็นเข็มกระตุ้นให้บุคลากรแพทย์ รวมถึงเป็นเข็มที่ 1 ให้กลุ่มเป้าหมายที่มีความเสี่ยงใน ซึ่งจะฉีดโดย รพ.ของจังหวัดนั้นๆ ทางรพ.จะต้องนัดหมายให้ประชาชนมาฉีด เนื่องจาก 1 ขวด มี 6 โดส และต้องควบคุมเวลาอย่างดี เพราะเวลาเอาออกจากตู้เย็นแล้วจะอยู่ได้ไม่นาน ดังนั้น ความแม่นยำในการนัดหมายต้องทำได้ดี เพื่อไม่ให้วัคซีนเสียหาย ในส่วนนี้จะเริ่มฉีดในวันที่ 9 สิงหาคม และเข็มที่ 2 ห่างกัน 3 สัปดาห์ คาดว่าปลายเดือนสิงหาคม จะฉีดวัคซีนไฟเซอร์ 1.5 ล้านโดสได้ครบถ้วน

นพ.โอภาส กล่าวว่า การใช้สูตรฉีดวัคซีนสลับชนิด ที่เราได้เริ่มฉีดมาระยะหนึ่งแล้ว เรียกว่าสูตร SA คือ เข็มที่ 1 เป็นวัคซีนซิโนแวค และเข็มที่ 2 เป็นวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า โดยผลการวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ หรือจากไบโอเทค ที่ได้เผยแพร่ข้อมูลให้ประชาชน พบว่าการวัคซีนต่างชนิด ต่างวิธีการผลิต หรือต่างแพลตฟอร์มกัน ข้อดีคือทำให้ภูมิคุ้มกันขึ้นค่อนข้างเร็ว ตัวเลขภูมิคุ้มกันในห้องปฏิบัติการขึ้นค่อนข้างสูง ประเทศไทยจึงนำวิธีการนี้มาใช้ ทั้งนี้ สูตร SA ประสิทธิภาพผลการทดสอบในห้องปฏิบัติการ พบว่า ค่าตัวเลขภูมิคุ้มกันสูงใกล้เคียงกับการฉีดแอสตร้าฯ 2 เข็มห่างกัน 12 สัปดาห์ ดังนั้น ข้อดีของสูตรใหม่คือประสิทธิภาพใกล้เคียงกันกับสูตรเดิม แต่เราสามารถฉีดวัคซีนให้ประชาชนได้ครบ 2 เข็มเร็วขึ้น จาก 12 เหลือ 3 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม ความปลอดภัย ผลข้างเคียงหลังรับวัคซีนก็ไม่ได้แตกต่างจากเดิม ส่วนรายที่เป็นข่าวว่าฉีดวัคซีนสลับชนิดแล้วเสียชีวิต จากการชันสูตรศพพบว่าไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image