ปลัด สธ.ยันปี’65 ไทยมีวัคซีนโควิดทุกแพลตฟอร์ม 120 ล้านโดส คาด 2 เดือน ปชช.ทั่วไปในตจว.ได้ฉีด

ปลัด สธ.ยันปี’65 ไทยมีวัคซีนโควิดทุกแพลตฟอร์ม 120 ล้านโดส คาด 2 เดือน ปชช.ทั่วไปในตจว.ได้ฉีด

เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงการคาดการณ์ผลลัพธ์ของการล็อกดาวน์ 29 จังหวัด ระหว่างแถลงผลการใช้มาตรการล็อกดาวน์ในประเทศไทย และวิเคราะห์สถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลก ว่า ไทยใช้เวลาเรื่องการล็อกดาวน์มาระยะหนึ่งแล้ว ถ้าต้องเพิ่มระยะเวลาจากนี้ ต้องร่วมมือกันทำให้การแพร่เชื้อให้น้อยลงมากที่สุด ดังนั้น อยากให้ประชาชนวางแผนให้ดี ออกจากบ้านน้อยที่สุด สำหรับคนทำงานออฟฟิศ หน่วยงานรัฐและเอกชน นโยบายชัดเจนว่า ให้ทำงานที่บ้าน (เวิร์กฟรอมโฮม) 100% หรือมากที่สุดเท่าที่จะทำได้

นพ.โสภณ กล่าวว่า สำหรับคนที่ไม่ได้ทำงานออฟฟิศ เป็นผู้ทำงานอิสระทั่วไป อยากให้วางแผนการเดินทางให้น้อยลงที่สุดเช่นกัน เช่น จากเดิมไปตลาดสัปดาห์ละหลายครั้ง ก็วางแผนให้ดี เพื่อลดการเดินทางไป เหลือสัปดาห์ละคร้ง โดยวางแผนการซื้ออาหารต่างๆ เพิ่มเติม เพื่อเจอผู้คนน้อยลง และขณะเดียวกัน ก็ไม่ให้มีผลกระทบเรื่องการอุปโภคบริโภค กิจกรรมที่ทำทางออนไลน์ได้ เจอผู้คนน้อยลงก็ให้ทำ

“การอยู่บ้านเพิ่มความเข้มงวดป้องกัน มีผู้สูงอายุโรคเรื้อรังในบ้าน เราไม่อยากให้เสี่ยงจากคนที่ออกจากบ้าน ผู้ที่ออกจากบ้านจึงต้องป้องกันตนเอง สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง กลับมาก็ต้องทำเพราะไม่แน่ใจว่าติดหรือไม่ ซึ่งหลายครอบครัวพบว่า พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ติดเชื้อจากลูกหลานอายุน้อยนำเชื้อกลับบ้าน โดยไม่ระวังคนในบ้าน จริงๆ การจำกัดและลดการออกจากบ้าน ก็จะนำความเสี่ยงกลับบ้านน้อยลง และช่วยไม่ให้เกิดการแพร่เชื้อระหว่างคนที่พบปะกัน ตอนนี้เป็นเวลาทองใน 2 สัปดาห์ข้างหน้า ถ้าร่วมมือเต็มที่ ถ้ายุติชะลอการแพร่ระบาดได้ เราก็จะปลอดภัยกันทั้งสังคม” นพ.โสภณ กล่าว

Advertisement

ผู้สื่อข่าวถามว่า ประเทศไทยจะมีวัคซีนโควิด-19 ตัวอื่นเพิ่มเติมหรือไม่ ที่นอกเหนือจากซิโนแวค ซิโนฟาร์ม แอสตร้าเซนเนก้า และไฟเซอร์ โดยเฉพาะวัคซีนรุ่นใหม่ ไทยมีการวางแผนอย่างไรบ้าง นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. กล่าวว่า ต้องเรียนว่า เรามีคณะกรรมการที่ดูแลเรื่องการจัดหาวัคซีนอยู่ ซึ่งเราพยายามพิจารณาช่องทางที่จะให้ได้มาซึ่งวัคซีนให้มากที่สุด ในปีหน้า 2565 รัฐบาลก็อนุมัติกรอบหลักการว่าเราจะสามารถจัดหาวัคซีน ได้เพิ่มขึ้นเป็น 120 ล้านโดส ซึ่งเราจะดูเรื่องวัคซีนที่เคยซื้อมาแล้วเพื่อให้ง่ายขึ้น รวมถึงเตรียมซื้อวัคซีนแพลตฟอร์มอื่นๆ ที่เราเตรียมไว้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนเชื้อตาย ไวรัลเวกเตอร์ mRNA หรือโปรตีนซับยูนิต ซึ่งก็เป็นเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เราก็หาช่องทางซื้อมา

“แม้ว่าวัคซีนตัวเดิม ชื่อเดิม แต่ปีหน้าเขาก็ทำการพัฒนาวัคซีน รถรุ่นใหม่ออก ก็คงไม่มีใครขายรถรุ่นเก่าแล้ว เขาต้องขายรุ่นใหม่ให้เรา ซึ่งสามารถป้องกันเชื้อที่อยู่ในช่วงเวลานั้นได้ เช่น วัคซีนช่วงแรกป้องกันสายพันธุ์อู่ฮั่น แอลฟา (อังกฤษ) แต่เมื่อเป็นเดลต้า (อินเดีย) ก็อาจอ่อนประสิทธิภาพลง แต่ก็มีการพัฒนาประสิทธิภาพอยู่ในปัจจุบัน เช่น เป็นวัคซีนหลักฉีด 2 เข็ม หรือจะเป็นบูสเตอร์ เพื่อให้ครอบคลุมป้องกันไวรัสเหล่านี้ได้ ปีหน้าเราเตรียมวัคซีนหลักไว้ทุกแพลตฟอร์ม” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว

Advertisement

เมื่อถามว่า ขณะนี้มีการฉีดวัคซีนให้บุคลากรทางการแพทย์และกลุ่มเสี่ยง 608 แล้ว เมื่อไรจะมีการเปิดให้ประชาชนทั่วไปในต่างจังหวัด ได้รับวัคซีนโควิด-19 รวมถึงชาวต่างชาติในไทยด้วย นพ.โสภณ กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของการให้วัคซีนเพื่อป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิต เป็นวิธีเดียวกับต่างประเทศ เช่น อังกฤษ เริ่มให้ในกลุ่ม 85 ปีขึ้นไปก่อน และลดลงเรื่อยๆ จนมาถึงวัยทำงาน

“หากดูจากจำนวนวัคซีนที่เราจองไว้ 100 ล้านโดส สำหรับ 50 ล้านคน ในเวลาอีกเพียง 1-2 เดือนข้างหน้า ก็จะถึงคิวของกลุ่มที่อายุไม่มาก และไม่มีโรคเรื้อรัง เพียงแต่ช่วงนี้ เราต้องจัดลำดับความสำคัญ เพราะไม่อยากเห็นคนที่เรารัก ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุเสียชีวิต เราก็จะขยับกลุ่มอายุลงมาเรื่อยๆ แต่มีบางเซ็ตติ้งที่เป็นกรณีพิเศษ เช่น กลุ่มทำงานสาธารณะ ขนส่ง ให้บริการผู้อื่น ก็จะได้รับวัคซีนในช่วงนี้แต่ยังเป็นปริมาณน้อย รวมถึงมีวัคซีนตัวเลือกในขณะนี้ด้วย จริงๆ หากดูภาพรวมการรับวัคซีน พบว่าประชาชนทั่วไปคือกลุ่มที่ได้เปอร์เซ็นต์สูงสุด ไม่ใช่กลุ่มผู้สูงอายุ” นพ.โสภณ กล่าว

นพ.โสภณ กล่าวว่า ส่วนกรณีชาวต่างชาติในไทย หากเป็นกลุ่มสูงอายุ มีโรคเรื้อรังก็มีความเสี่ยง ซึ่ง 1-2 สัปดาห์ผ่านมาในรายงานผู้เสียชีวิต เริ่มมีคนสัญชาติอื่น ดังนั้น รัฐบาลไทยก็มีนโยบายให้วัคซีนกลุ่มเสี่ยงที่เป็นต่างชาติเช่นกัน ข้อมูลล่าสุด วันที่ 30 กรกฎาคม 2564 พบว่า ไทยเราให้วัคซีนต่างชาติเยอะ ประมาณ 2.8 แสนราย คิดเป็น 1.5% ของการฉีดทั้งหมด 15 ล้านโดส ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ(กต.) จัดบริการในบาง รพ.ที่มีความพร้อม เพื่อฉีดวัคซีนให้กับชาวต่างชาติกลุ่มเสี่ยงทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด เพื่อให้เกิดความเท่าเทียม ไม่แบ่งแยกเชื้อชาติ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image