กทม.เดินหน้าดูแลผู้ป่วยโควิดทุกกลุ่ม ลุยค้นผู้ติดเชื้ออีกกว่า 336 ชุมชน

กทม.เดินหน้าดูแลผู้ป่วยโควิดทุกกลุ่ม ลุยค้นผู้ติดเชื้ออีกกว่า 336 ชุมชน

วันที่ 2 ส.ค.64 ที่ศาลาว่าการ กทม. (เสาชิงช้า) พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นประธานการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 13/2564 โดยมี คณะผู้บริหาร กทม. พร้อมตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ผ่านระบบเทเลคอนเฟอร์เรนซ์ (Teleconference) ในที่ประชุม สำนักอนามัย สำนักการแพทย์ ได้รายงานการบริหารจัดการสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ว่า สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย ประจำวันที่ 2 ส.ค.64 พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 17,979 ราย หายป่วย 13,919 ราย และเสียชีวิต 178 ราย สำหรับในพื้นที่กรุงเทพฯ สำนักงานเขตที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด คือ เขตคลองเตย ภาพรวมผลการดําเนินงานของทีมป้องกันและแก้ไขปัญหาโควิด-19 เชิงรุกในชุมชน (Bangkok CCRT) จำนวน 163 ทีม ลงพื้นที่ชุมชนแล้ว 2,059 แห่ง ให้บริการประชาชนสะสม 104,494 คน โดยให้บริการวัคซีนประชาชน จำนวน 75,158 ราย ให้บริการตรวจคัดกรองด้วยชุดเอทีเค (ATK) 21,107 ราย พบผู้ป่วยติดเชื้อ จำนวน 2,471 ราย ทั้งนี้ ทีมได้ให้คำแนะนำผู้ติดเชื้อในการแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) รวมทั้งนำส่งศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ และนำส่งสถานพยาบาลทุกคนแล้ว นอกจากนี้ ทีม CCRT จะลงพื้นที่ชุมชนที่ยังตกค้างต่อเนื่องจนถึงวันที่ 20 ส.ค.64 อีกกว่า 336 ชุมชน

ทั้งนี้ ผลการสุ่มตรวจเฝ้าระวังผู้ป่วยโควิด-19 (Sentinel Surveillance) ในตลาด เป้าหมาย 466 ตลาด ดําเนินการได้ 346 ตลาด จำนวนผู้รับการตรวจ 18,952 ราย พบเชื้อ 365 ราย ผลการสุ่มตรวจเฝ้าระวังผู้ป่วยโควิด-19 (Sentinel Surveillance) ในชุมชน เป้าหมาย 248 ชุมชน ดําเนินการได้ 252 ชุมชน จำนวนผู้รับการตรวจ 12,222 ราย พบเชื้อ 194 ราย ผลการสุ่มตรวจเฝ้าระวังผู้ป่วยโควิด-19 ในแคมป์คนงาน เป้าหมาย 608 แคมป์ ดําเนินการได้ 102 แห่ง จำนวนผู้รับการตรวจ 6,446 ราย พบเชื้อ 544 ราย ผลการสุ่มตรวจเฝ้าระวังผู้ป่วยโควิด-19 ในโรงงาน เป้าหมาย 72 โรงงาน ดําเนินการได้ครบ จำนวนผู้รับการตรวจ 5,892 ราย พบเชื้อ 380 ราย ซึ่ง กทม.ได้นำผู้ติดเชื้อเข้าสู่การดูแลตามแนวทางที่กำหนดไว้แล้ว ในส่วนของจำนวนผู้ที่ได้รับการแยกกักตัวที่บ้านในพื้นที่กรุงเทพฯ ในขณะนี้มีจำนวนทั้งสิ้น 9,831 ราย

ส่วนความคืบหน้าการจัดตั้งศูนย์พักคอยฯ จำนวน 60 ศูนย์ พร้อมเปิดให้บริการ 43 แห่ง รับผู้ป่วยได้ 5,295 เตียง อย่างไรก็ตาม เนื่องจากในขณะนี้เข้าสู่ฤดูฝน และจากการคาดการณ์จะมีฝนตกต่อเนื่องจนถึงกลางเดือนตุลาคม สำนักการระบายน้ำได้ดำเนินการสำรวจพื้นที่จัดตั้งศูนย์พักคอยฯ โดยส่วนใหญ่จัดตั้งในอาคารถาวรทั้งหมด มีเพียง 1 ศูนย์ ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่จุดอ่อนน้ำท่วม คือ ศูนย์ฯ โรงเรียนการไปรษณีย์ เขตหลักสี่ นอกจากนี้ มีศูนย์ฯ ซึ่งพบปัญหาน้ำท่วมอีก 2 แห่ง คือ ศูนย์พักคอยฯ วิทยาลัยเทคโนโลยีพณิชยการเจ้าพระยา (ราชเทวี) ถนนเพชรบุรี (แยกอุรุพงษ์) และศูนย์พักคอยฯ ศูนย์สร้างสุขทุกวัย(เขตจอมทอง)ถนนพระราม 2 ซอย 40 เบื้องต้นสำนักการระบายได้เตรียมความพร้อม ทั้ง 3 จุด โดยติดตั้งเครื่องสูบน้ำชนิดไฟฟ้าขนาดเล็กตามขนาดบ่อพัก ขยายบ่อพักท่อระบายน้ำเดิม และจัดเตรียมหน่วยเบสท์ และเครื่องสูบน้ำโมบายยูนิทเพื่อเข้าสนับสนุนเพิ่มเติมหากมีฝนตกหนักในพื้นที่

Advertisement

ด้าน สำนักพัฒนาสังคม รายงานการดูแลคุณภาพชีวิตของประชากรกลุ่มเปราะบาง (คนไร้บ้าน ผู้ยากไร้ ผู้พิการ ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยติดเตียง) การฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในกลุ่มผู้สูงอายุ (ผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป) ที่ได้รับวัคซีนในพื้นที่ กรุงเทพฯ จากหน่วยฉีดทุกสังกัด ระหว่างวันที่ 28 ก.พ. – 26 ก.ค. 64 จำนวนเป้าหมาย 1,373,250 คน ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 สะสม 778,037 คน คิดเป็นร้อยละ 56.66 เข็มที่ 2 สะสม 42,143 คน คิดเป็นร้อยละ 3.07 ในส่วนคนพิการ ได้สำรวจคนพิการในองค์กรคนพิการในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่ต้องการเข้ารับการฉีดวัคซีน จำนวน 8 แห่ง รวม 1,298 คน โดยทั้งหมดได้รับการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า บริเวณจุดฉีดวัคซีน เอสซีบี สำนักงานใหญ่ เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 64 เรียบร้อยแล้ว

ในส่วนของคนไร้บ้าน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักอนามัย สำนักพัฒนาสังคม สำนักงานเขตพระนคร กรมสุขภาพจิต (สธ.) กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พม.) ได้ประชุมหารือแก้ปัญหาโควิด-19 กลุ่มคนเร่ร่อนในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยเห็นชอบให้ทุกหน่วยงานบูรณาการการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด เพื่อให้เกิดความรวดเร็วในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ประกอบด้วย การตรวจคัดกรองเชิงรุกให้กับคนไร้บ้าน กรณีพบว่ามีการติดเชื้อโควิด-19 จะประสานส่งต่อคนไร้บ้านที่ติดเชื้อ เข้ารับการรักษาในศูนย์พักคอยฯ กรณีมีเตียงไม่เพียงพอจะประสานส่งต่อในพื้นที่ข้างเคียง กรณีติดเชื้อ (สีเขียว) และมีอาการทางจิตเวช จะส่งต่อหน่วยงานสังกัดกรมสุขภาพจิต ได้แก่ สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ และ รพ.ศรีธัญญา ทั้งนี้หากไม่พบการติดเชื้อ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ดำเนินการเชิญชวนเข้า พักอาศัยในศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งฯ และบ้านมิตรไมตรี 4 แห่ง

นอกจากนี้ สำนักเทศกิจ ได้รายงานความคืบหน้าโครงการเทศกิจอาสา ซึ่งรับเรื่องร้องทุกข์จากประชาชนผ่านไลน์แอดอัศวินคลายทุกข์ สื่อสังคมออนไลน์ หรือ โซเชียลมีเดีย โดยมีขั้นตอนการดำเนินงาน คือ แอดมินเทศกิจอาสาทำการตรวจสอบเรื่องร้องทุกข์ของผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 สอบถามข้อมูลของผู้ป่วย จากนั้น เทศกิจอาสาจะดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ป่วย ด้วยวิธีการ 1. ประสานศูนย์สาธารณสุขพื้นที่ นำข้อมูลผู้ป่วยเข้าสู่ระบบโฮม ไอโซเลชั่น และ คอมมูนิตี้ ไอโซเลชั่น โดยมีเทศกิจอาสานำส่งผู้ป่วยเข้าคอมมูนิตี้ ไอโซเลชั่น หรือจัดส่งยารักษาโรคให้ผู้ป่วยโฮม ไอโซเลชั่น หรือ 2.ประสานศูนย์เอราวัณ เพื่อนำส่งผู้ป่วยเข้ารับการรักษา โดยมีเทศกิจอาสารับผู้ป่วยจากที่พักอาศัยนำส่งโรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม หรือฮอสปิเทล (Hospitel) โดยมีผลการประสานงานของเทศกิจอาสา ตั้งแต่วันที่ 29 – 30 ก.ค. 64 ดังนี้ ศูนย์เอราวัณ 9 ราย ศูนย์บริการสาธารณสุข 8 ราย โฮม ไอโซเลชั่น 11 ราย เข้ารักษาตัวที่ รพ. 8 ราย และได้รับการช่วยเหลือจากหน่วยงานภายนอก 5 ราย รวม 41 ราย

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image