‘หมอธีระวัฒน์’ ชี้ต้องเร่งฉีดวัคซีนให้ครอบคลุม หวั่นสายพันธุ์ ‘เอปซิลอน’ เข้าไทย

‘หมอธีระวัฒน์’ ชี้ต้องวินิจฉัย-รักษาให้เร็ว เร่งฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมเพื่อสกัดโควิด หวั่นสายพันธุ์ ‘เอปซิลอน’ เข้าไทย

เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กระบุว่า

“บุกเร็ว แรง เข้มขัน
สร้างแรงกดดันต่อไวรัส

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา

การป้องกันการปะทุของสายพันธุ์เพี้ยนเหล่านี้ คงต้องยกให้ประเทศจีนเป็นประเทศที่ใช้บริบทของการควบคุมภายในร่างกายมนุษย์ และภายนอกร่างกายมนุษย์ ในการคุมสายพันธุ์เดิมในพื้นที่ไม่ให้กลายเพี้ยน แต่จน 2564 นี้ มีการรุกล้ำจากเดลต้าเช่นกัน

Advertisement

กลยุทธ์ที่ใช้ นั่นคือ การสร้างแรงกดดันอย่างรุนแรงไม่ให้มีการแพร่กระจายเชื้อจากคนหนึ่งไปหาคนอื่น รวมทั้งทำความสะอาดพื้นผิวสาธารณะต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ

และมีการเข้มงวดตรวจคัดกรองและแยกตัวออกทันที ที่วินิจฉัยได้ว่ามีการติดเชื้อไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์ใดก็ตาม ดังจะเห็นได้จากการที่สามารถตรวจคนได้เป็น 1,000,000 คนภายในระยะเวลาไม่กี่วันในพื้นที่หนึ่ง และมีวินัยสูงสุด

การสร้างแรงกดดันที่สำคัญต่อเชื้อที่อยู่ในร่างกายมนุษย์ได้แก่ การวินิจฉัยได้เร็วที่สุดและให้การรักษาเร็วที่สุด ตั้งแต่นาทีแรกควบรวมการใช้สมุนไพรที่มีดาษดื่นและขึ้นทะเบียนในระบบสาธารณสุขของจีนอยู่แล้ว และยกระดับเป็นขั้นเป็นตอน ควบกับการรักษาแผนปัจจุบันและแม้กระทั่งการจัดท่า ของคนที่ติดเชื้อลงปอดให้เป็นท่านอนคว่ำก็เป็นกลยุทธ์ที่ประเทศจีนใช้ก่อน

Advertisement

แรงกดดันที่สำคัญอีกประการคือ การใช้วัคซีน เป็นจำนวนมหาศาลในเวลารวดเร็วให้แก่ประชากรมากกว่าที่คิดคือตัวเลข 60% แต่เป็นเกือบทั้งประเทศ ยกเว้นในเด็กซึ่งในระยะแรกข้อมูลความปลอดภัยอาจจะยังไม่พอ

แต่ในปี 2564 นี้เอง ที่ประเทศจีนใช้วัคซีนที่มีอยู่ดังเดิมที่เป็นเชื้อตายฉีดให้แก่เด็กด้วย การให้วัคซีนอย่างเข้มข้นเช่นนี้ เป็นการปิดโอกาสหรือเปิดโอกาสน้อยที่สุดให้กับไวรัสที่จะมีการแพร่กระจายจากคนสู่คนไปเป็นลูกโซ่และกดดันไม่ให้มีการกลายพันธุ์หรือรหัสพันธุกรรมเพี้ยนจนกระทั่งสามารถตั้งตัวกลายเป็นสายพันธุ์ใหม่

สำหรับในประเทศไทยเอง การสร้างแรงกดดันต่อไวรัสต้องเข้มข้นตลอดเวลาและสม่ำเสมอ ซึ่งเป็นที่มาของการที่เราต้องการวัคซีนที่ดีที่สุดและสามารถคุมไวรัสที่มีเยอะที่สุดในขณะนี้ ยกตัวอย่างเช่นสายเดลต้าและอัลฟ่า ที่ต้องพูดถึงอัลฟ่าเพราะแม้แต่ในเดือนมิถุนายนและกรกฎาคม เรายังมีผู้ป่วยอาการหนักอายุตั้งแต่ 40 ถึง 80 ปีที่ติดเชื้อด้วยอัลฟ่า และดูเหมือนว่ายาฟาวิพิราเวียร์จนกระทั่งยาฉีดเรมเดซิเวีย เอาไม่อยู่หรือแทบเอาไม่อยู่

การฉีดวัคซีนที่ว่าต้องครอบคลุม ทำให้ได้ถึง 80 ถึง 90% ของประชาชนในระยะเวลาเร็วที่สุดภายในสามเดือน

โดยที่ในเด็กเล็กอายุตั้งแต่สองขวบจนกระทั่งถึง 15 ปีสามารถใช้วัคซีนเชื้อตายอย่างที่ประเทศจีนได้นำมาใช้โดยแม้ว่าจะกันการติดของเดลต้าไม่ดีเท่ากับวัคซีนอื่นแต่สามารถลดอาการหนักหรือเสียชีวิตได้ และประเทศจีนกำลังนำวัคซีนคู่แฝดไฟเซอร์ เข้ามาเสริมป้องกันเดลต้า และการพัฒนาวัคซีนโปรคีนย่อยแบบโนวาแวกซ์ แต่แทนที่จะผลิตในระบบเซลล์แมลงหรือใบพืชแบบของใบยาจะผลิตในเซลล์เพาะเลี้ยงแทน รวมถึงวัคซีนอีกหลายเทคนิค

การรุกหนักอย่างเข้มข้นรวดเร็วจะกันไม่ให้มีการกลายพันธุ์ภายในพื้นที่เหมือนกับสายพันธุ์เอปซิลอน ในสหรัฐที่ถือกำเนิดในพื้นที่เอง ไม่มีการนำเข้า และที่แพร่ไปหลายสิบประเทศแล้วจนกระทั่งถึงปากีสถาน และแน่นอนไม่ช้าไม่นานคงจะเข้าประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมกระทั่งถึงประเทศไทย (และดาหน้ามาอีกมหาศาล เดลต้าพลัส เป็นต้น)”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image