สธ.คาดอีก 1 เดือน ผู้ป่วยโควิดใน ตจว.ถึงจุดพีค เหตุไปรักษาที่ภูมิลำเนา ชี้บุคลากรล้าต่อเนื่อง

สธ.คาดอีก 1 เดือน ผู้ป่วยโควิดใน ตจว.ถึงจุดพีค เหตุไปรักษาที่ภูมิลำเนา ชี้บุคลากรล้าต่อเนื่อง

เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงษ์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงสถานการณ์เตียงสำหรับผู้ป่วยโรคโควิด-19 ทั่วประเทศ ว่า ภาพรวมใน 12 เขตสุขภาพ ทุกเขตยกเว้นกรุงเทพมหานครมีเตียง รวม 156,189 เตียง ปัจจุบันใช้ไปแล้ว 114,786 เตียง คิดเป็น ร้อยละ 73.49 เตียงว่าง 41,185 เตียง หากถามว่า จะขยายเพิ่มได้หรือไม่ ต้องขออนุญาตจำแนกเตียงเป็น 3 กลุ่ม คล้ายกับอาการผู้ป่วย คือ เตียงสีเขียว ถ้าไม่นับในปริมณฑล เขตสุขภาพที่ 4-6 และภาคตะวันออก พบว่า เขตสุขภาพที่ 3-4 มีการครองเตียงสูงขึ้นประมาณ ร้อยละ 70 เขตสุขภาพที่ 11 เพิ่มขึ้น ร้อยละ 62 เขตสุขภาพที่ 1 เพิ่ม ร้อยละ 52 และเขตสุขภาพที่ 2 เพิ่ม ร้อยละ 62 ส่วนเขตสุขภาพที่ 12 เพิ่มเป็นร้อยละ 74 ฉะนั้นที่มากจะอยู่ในเขตสุขภาพที่ 4-6 ประมาณ ร้อยละ 80

“ถ้าเป็นเตียงสีเขียว ไม่ค่อยยาก เพราะมีโอกาสจัดการได้ เช่น การแยกกักที่บ้าน หรือในชุมชน รพ.สนาม ส่วนเตียงสีเหลือง มีความยากขึ้น แต่เราจะใช้วิธีการบริหาร รพ.ที่มีในพื้นที่ รวมถึง รพ.ชุมชน ที่มีกว่า 800 แห่งทั่วประเทศ ตรงนี้บางจังหวัดจะมี รพ. โควิด-19 โดยเฉพาะ ส่วนผู้ป่วยอื่นก็จะให้ไปที่ รพ.ใกล้เคียง ซึ่งจะทำให้มีเตียงสีเหลืองเพิ่มพร้อมกันหลายร้อยเตียง” นพ.ธงชัยกล่าว และว่า ความยากอยู่ที่เตียงสีแดง ผู้ป่วยต้องใช้เครื่องช่วยหายใจและเครื่องให้ออกซิเจน เพราะโดยปกติแล้วจะมีผู้ป่วยหนักที่อยู่ในห้องไอซียูระดับหนึ่งอยู่แล้ว ทั้งนี้ หัวหน้าผู้ตรวจราชการ สธ.กล่าวว่า ตั้งแต่ช่วงเดือน พ.ค.-ธ.ค 2563 มีผู้ป่วยติดเชื้อน้อย ทำให้ รพ.ต่างๆ ได้เตรียมพัฒนาตนเอง จากที่มีห้องแยกความดันลบ หรือเตียงไอซียูจำกัดก็มีการเพิ่มขึ้นมา เช่น รพ.ศูนย์หลายแห่งจากที่มีเตียง 7-8 เตียง ก็เพิ่มเป็น 50 เตียง

“ปัจจุบันยังมีความสามารถในการจัดการเรื่องเหล่านี้อยู่ แต่เตียงสีแดงภาพรวมทั้งหมดอัตราครองเตียงอยู่ที่ร้อยละ 75 ยังมีเหลืออยู่บ้างพันกว่าเตียงในภาพรวม แต่บางเขตสุขภาพอาจเหลือไม่เยอะ เช่น บางเขตสุขภาพเหลือเพียง 20-100 เตียง แต่ สธ. มีแนวทางนโยบาย การส่งผู้ป่วยข้ามเขตสุขภาพ โดยเราคาดว่า อีก 2 สัปดาห์ ถึง 1 เดือนข้างหน้า จะเป็นช่วงพีคของผู้ป่วยที่เราส่งกลับไปยังภูมิลำเนา” นพ.ธงชัย กล่าว

Advertisement

นพ.ธงชัยกล่าวว่า ส่วนด้านบุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยโควิด-19 เป็นประเด็นสำคัญ เนื่องจากในช่วงปกติก็มีไม่มาก มีปริ่มๆ ภาระงานของบุคลากรฯ ที่มีมากอยู่แล้ว แต่ช่วงโควิด-19 ก็จะเพิ่มสูงขึ้น ช่วงนี้ก็ยังพอรับได้อยู่ แต่มีความเหนื่อยล้า เนื่องจากมีความต่อเนื่องยาวนาน ขณะนี้เกือบครบ 2 ปีแล้ว ก็ยังไม่มีทีท่าลดลง รวมถึงได้ดึงทีมแพทย์ พยาบาล เภสัชกร จากต่างจังหวัด เข้าไปช่วยงานในส่วนกลางด้วย และในแต่ละจังหวัดของตัวเองก็มีผู้ป่วยกลับไปอีกเกือบแสนราย จึงเป็นภาระที่ซ้อนกัน 2 ส่วน แต่ก็จะทำหน้าที่อย่างเต็มที่เพื่อดูแลประชาชนให้รอดปลอดภัย

“ทางผู้บริหาร สธ. รัฐบาล ก็ได้ดูแลขวัญกำลังใจของเราอยู่ ให้มีกำลังใจทำงาน แต่เป็นช่วงวิกฤต ไม่ใช่ช่วงที่จะสบาย หรือไปทำงานโดยไม่มีปัญหา ซึ่งมีความเหนื่อยล้า หลายคนเริ่มมีปัญหาอยู่บ้างแต่โดยระบบเรามีแผนเตรียมการจากกรมสุขภาพจิต วางแผนว่า ผู้บริหาร สธ. ควรจะทำอย่างไร ต้องมีระบบในการเป็นบัดดี้อย่างไร ในการดูแลและทำงานร่วมกัน เพื่อสามารถเดินหน้าในภาวะวิกฤตนี้ให้ผ่านไปได้” นพ.ธงชัยกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image