ติดโควิดรอโฮม ไอโซเลชั่นกว่า 2 หมื่นราย ‘สปสช.’ ชวนคลินิกทั่วปท.ร่วมช่วยคนกรุง

ติดโควิดรอโฮม ไอโซเลชั่นกว่า 2 หมื่นราย ‘สปสช.’ ชวนคลินิกทั่วปท.ร่วมช่วยคนกรุง

เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า สปสช. ได้ร่วมมือกับ คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดจุดคัดกรองเชิงรุกด้วยชุดตรวจ Antigen Test kit (ATK) ในพื้นที่อาคารจอดรถตึก B ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ถนนแจ้งวัฒนะ ตั้งแต่วันที่ 12 กรกฎาคม – วันที่ 3 สิงหาคมที่ผ่านมา การตรวจคัดกรองเชิงรุกนี้ นอกจากทำให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงสามารถเข้าถึงการตรวจได้ง่ายแล้ว หากกรณีพบผลเป็นบวกก็ยังทำให้ผู้ป่วยสามารถลงทะเบียนเข้าระบบการดูแลที่บ้าน (Home Isolation) ได้ทันที และหากมีอาการก็จะมีการจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ เพื่อป้องกันไม่ให้อาการของผู้ป่วยเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีเหลือง

ทั้งนี้ ทพ.อรรถพร กล่าวว่า การให้ยาฟาวิพิราเวียร์ จะเก็บไว้ใช้ในการรักษาสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการชัด และต้องอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการเพียงเล็กน้อยอาจจะเริ่มจากการให้ยาฟ้าทะลายโจร อย่างไรก็ตาม กรณีที่มีผลตรวจคัดกรองเป็นลบ ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่มีเชื้อไวรัส เพียงแต่อาจจะมีน้อยและยังตรวจไม่พบ จึงจะมีการแนะนำวิธีปฏิบัติตนให้กับผู้ที่ได้รับการตรวจ

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)

“ศูนย์ราชการฯ ยังเป็นจุดส่งผู้ป่วยเพื่อกลับไปรักษาตัวที่ต่างจังหวัด อย่างมีกรณีผู้ป่วยรายหนึ่งเริ่มมีอาการ เมื่อมาถึงศูนย์ราชการฯ แล้วเกิดอาการหมดแรง เดินไม่ไหวเนื่องจากหายใจไม่ไม่สะดวก ก็ได้มีการปฐมพยาบาลและให้ทานยาทันที โดยเมื่อทานยาแล้วพบว่าอาการดีขึ้น และสามารถเดินทางไปรักษาตัวต่อที่ต่างจังหวัดได้” ทพ.อรรถพร กล่าว

Advertisement

รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า การเข้าระบบโฮม ไอโซเลชั่น (Home Isolation) สามารถทำได้ 2 วิธี คือ ผ่านสายด่วน สปสช. 1330 กด 14 และลงทะเบียนเข้าระบบผ่านเว็บไซต์ https://crmsup.nhso.go.th/ โดยขณะนี้สายด่วน 1330 มีการเพิ่มคู่สายเป็น 2,100 คู่สายต่อวัน จากเดิม 1,600 คู่สาย ซึ่งมีเจ้าหน้าที่คอยหมุนเวียนตลอด 24 ชั่วโมง หรือหากในกรณีที่คู่สายเต็ม เบอร์ที่โทรเข้ามาก็จะถูกเข้าคิวไว้เพื่อให้เจ้าหน้าที่ทำการติดต่อกลับในภายหลัง สำหรับผู้ป่วยในระบบโฮม ไอโซเลชั่น ขณะนี้มีประมาณ 6.3 หมื่นราย นำเข้าระบบแล้วราว 4 หมื่นราย ส่วนอีกประมาณ 2 หมื่นรายนั้น กำลังรอการตอบรับจากคลินิก ซึ่งขณะนี้มีคลินิกที่เข้ามาช่วยดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ในกรุงเทพมหานคร จำนวน 206 แห่ง ซึ่งอาจยังไม่เพียงพอ สปสช.จึงเชิญชวนคลินิกเวชกรรมทั่วประเทศสมัครเพื่อเข้าร่วมดูแลผู้ป่วยโควิด-19

“คลินิกเวชกรรมในกรุงเทพฯ มีประมาณ 3,000 แห่ง ถ้าแต่ละแห่งดูแลผู้ป่วย 10 ราย เท่ากับว่าสามารถดูแลผู้ป่วยได้ถึง 3 หมื่นราย หรือถ้าดูแลได้ 20 ราย ก็เท่ากับว่าสามารถดูแลผู้ป่วยได้ถึง 6 หมื่นราย จึงอยากเชิญชวนให้คลินิกมาเข้าร่วมดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ในระบบโฮม ไอโซเลชั่น กันมากขึ้น” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว

ศ.ฉัตรเฉลิม อิศรางกูร ณ อยุธยา คณบดีคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ด้าน ศ.ฉัตรเฉลิม อิศรางกูร ณ อยุธยา คณบดีคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า จากเดิมห้องปฏิบัติการประมาณ 360 แห่งทั่วประเทศ จะใช้วิธีอาร์ที-พีซีอาร์ (RT-PCR) ในการตรวจวินิจฉัยยืนยันผู้ติดเชื้อเพื่อเข้าสู่กระบวนการการรักษา ซึ่งในขณะนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดเปลี่ยนไป ฉะนั้นกระบวนการที่รัฐบาล กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) หรือ สปสช. นำการตรวจเอทีเคมาใช้ จึงคิดว่าช่วยตอบโจทย์ในการแยกผู้ติดเชื้อได้เร็ว เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการการดูแลรักษา

Advertisement

“เราต้องร่วมมือกันในหลายฝ่าย ทั้งในส่วนของสถานพยาบาล รวมไปถึงคลินิกเทคนิคการแพทย์ที่กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศกว่า 600 แห่ง ที่จะสามารถเข้ามาช่วยคัดกรองประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่อยู่ในพื้นที่ได้ อย่างการที่เราเปิดจุดคัดกรองมาทั้งหมด 17 วัน พบว่ามีประชาชนกลุ่มเสี่ยงเข้ามาตรวจทั้งหมดเกือบ 3.5 หมื่นราย” ศ.ฉัตรเฉลิม กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image