ศิริราช จ่อเพิ่มเตียงไอซียูโควิด ยัน 3 ปท.อำนาจฉีดวัคซีนแล้วยังเอาเดลต้าไม่อยู่ ย้ำ! ไทยต้องเข้มมาตรการ

ศิริราช จ่อเพิ่มเตียงไอซียูโควิด ยัน 3 ปท.อำนาจฉีดวัคซีนแล้วยังเอาเดลต้าไม่อยู่ ย้ำ! ไทยต้องเข้มมาตรการ

เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวระหว่างแถลงอัพเดตสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 และวัคซีนป้องกันโรค ผ่านระบบออนไลน์ ว่า สหประชาชาติเตือนว่า ขณะนี้สายพันธุ์เดลต้ากระจายไป 132 ประเทศ ทั่วโลกติดเชื้อเพิ่มเป็น 5-6 แสนรายต่อวัน อัตราการเสียชีวิตเพิ่มเริ่มขึ้น แต่ไม่มาก ปัจจัยสำคัญคือ การฉีดวัคซีน ทั้งนี้ สหรัฐอเมริกากลับมามีการติดเชื้อต่อวันหลักแสนรายอีกครั้ง แต่เสียชีวิตไม่ถึง 500 ราย เชื่อว่ามาจากการฉีดวัคซีน ซึ่งฉีดไปกว่า 350,627,188 โดส เป็นเข็มที่ 1 ร้อยละ 58.5 ฉีดครบ 2 เข็ม ร้อยละ 50.1 แต่ศูนย์ควบคุมโรค หรือ ซีดีซี (CDC) สหรัฐ ประกาศว่า แม้ฉีดวัคซีนครบ แต่ต้องสวมหน้ากาก โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีคนมาก พร้อมกับเร่งเชิญชวนคนที่ยังไม่ฉีดให้ไปฉีดวัคซีน โดยมีมาตรการจูงใจ และบังคับบุคลากรที่ทำงานภาครัฐต้องฉีด ทั้งนี้ มีการรายงานผ่านสื่ออเมริกาย้ำข้อแนะนำของซีดีซีว่า คนที่ฉีดวัคซีนแล้วสามารถแพร่กระจายเชื้อสู่ผู้อื่นได้ อาจจะใกล้เคียงกับคนที่ไม่ฉีด เป็นเรื่องสำคัญ เพราะไม่ใช่ว่าป้องกันไม่ให้ตนเองไม่ติดแล้ว แต่ยังแพร่ให้คนอื่นได้ แต่ข้อดีของการฉีดคือ โอกาสป่วยรุนแรงและเสียชีวิตลดลง

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า สหราชอาณาจักรมีประชากรใกล้เคียงกับไทย ปัจจุบันมีการแพร่ของเชื้อเดลต้ากว่า ร้อยละ 90 ข้อมูล วันที่ 23 ก.ค. การตรวจสายพันธุ์ 3,692 คน พบว่า ร้อยละ 60 เป็นคนที่ยังไม่ฉีด และ ร้อยละ 23 ฉีดแล้ว วัคซีนที่ฉีดมากที่สุดคือ ไฟเซอร์ และแอสตร้าเซนเนก้า ปัจจุบันมีการติดเชื้อเพิ่มขึ้น “ภายหลังจากนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร ประกาศวันอิสรภาพ วันที่ 19 ก.ค. ระบุว่า เนื่องจากมีประชากรฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 กว่าร้อยละ 70 และ ร้อยละ 58.7 ฉีดครบโดส น่าจะถึงเวลาที่สหราชอาณาจักรเลิกสวมหน้ากาก และมีชีวิตเหมือนก่อนมีโควิด-19 เกิดภาพคนเข้าไปดื่มกินในผับ ภัตตาคาร ไนท์คลับ เปิดสันทนาการ แต่ตัวเลขการติดเชื้อยังไม่ได้วิ่งขึ้นมา คนเชื่อว่าเพราะยังมีคนจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะคนสูงอายุคุ้นเคยกับการสวมหน้ากาก ดังนั้น เชื่อว่ามีส่วนในการลดการแพร่เชื้อ แต่บุคลากรการแพทย์ร่วมลงนามท้วงติงการประกาศอิสรภาพ มีข้อกังวลว่า จะมีการเกิดเชื้อดื้อวัคซีน แล้วมีคนไม่สวมหน้ากากจะทำให้เกิดการแพร่ระบาดใหม่ ทั่วโลก กำลังติดตามสหราชอาณาจักรหลังประกาศอิสรภาพนี้” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ขณะที่ประเทศอิสราเอล มีการฉีดวัคซีน 11.5 ล้านโดส เป็นเข็มที่ 1 ร้อยละ 64 และอีกร้อยละ 59.6 ฉีดครบโดส ปลายรัฐบาลที่แล้วประกาศยุติการสวมหน้ากาก รักษาระยะห่าง แต่เริ่มกลับมาติดเชื้ออีก แล้วรัฐบาลใหม่ ออกประกาศ ถ้าค่าเฉลี่ยติดเชื้อเกิน 3 หลัก จะต้องประกาศสวมหน้ากากอีก ปัจจุบันมีการติดเชื้อหลักพัน แต่ติดเชื้อต่ำมาก “รัฐบาลโดยผู้อำนวยการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า อาจจะต้องล็อกดาวน์ (Lock Down) อีก หากคนติดเชื้อเยอะไปจนกระทบระบบการดูแลสุขภาพล่ม ประเทศเหล่านี้ทำเร็วมาก หากล็อกดาวน์ก็ตัดสินใจเร็ว ยิ่งเดือน ก.ย. จะมีวันหยุดเยอะ หากล็อกดาวน์เร็ว เศรษฐกิจจะไม่กระทบเยอะ และรีเซ็ตบางเมือง ดีกว่าไปล็อกเดือน ต.ค. อาจจะกระทบเศรษฐกิจมากกว่า” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

Advertisement

นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า สรุปเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลต้า ไม่เพียงแพร่ระบาดรวดเร็วอย่างเดียว แต่แพร่เร็วกว่าสายพันธุ์แอลฟา ร้อยละ 60 และมีหลักฐานว่ารุนแรงกว่าเดิม โดยเฉพาะคนที่ไม่ฉีดวัคซีน และเริ่มพบอาการรุนแรงในกลุ่มคนอายุน้อยลง ซึ่งมีหลายปัจจัย แต่หลายประเทศมองว่า ส่วนหนึ่งเพราะคนสูงอายุฉีดวัคซีนแล้ว ประกอบกับธรรมชาติของไวรัสทำให้อาการรุนแรงด้วย ประเทศไทยก็เหมือนกัน พบคนอายุน้อยมีอาการมากขึ้นโดยเฉพาะโรคอ้วน ทั้งนี้ ขอย้ำว่าผู้ที่ได้รับวัคซีนครบ ไม่ว่าจะเป็นชนิดไหน ยังติดและแพร่เชื้อได้ ผลการตรวจในมหาวิทยาลัยวิสคอนซิล สหรัฐ ตรวจหาปริมาณเชื้อในลำคอ พบปริมาณเยอะไม่ต่างจากคนที่ยังไม่ฉีด เป็นรายงานยังไม่ตีพิมพ์ และในหลายประเทศพบในเด็กมากขึ้น ไม่รุนแรง ออสเตรเลียพบในเด็ก ร้อยละ 25 ดังนั้นจึงเป็นที่มาถึงการพูดถึงการฉีดในเด็ก ไม่เช่นนั้นจะไม่มีทางเกิดภูมิคุ้มกันหมู่

“การฉีดวัคซีนให้มาก แต่ไม่ควรเป็นข้อบ่งชี้ในการยกเลิกมาตรการดูแลตัวเอง ทั้งสวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง ทั้งนี้ พื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดของคนจำนวนมาก ต้องระวัง ประเทศใดก็ตามที่แพร่ระบาดหลายหมื่นคนต่อวัน หลายครั้งมองย้อนหลังพบการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ เพราะทุกครั้งทีส่งจากคนหนึ่งไปคนหนึ่ง เชื้อมีการเปลี่ยนแปลง ถ้าโชคร้ายจะกลายเป็นสายพันธุ์ที่แพร่เร็วกว่าเดิม และรุนแรงกว่าเดิม ศึกโควิด-19 ไม่รู้จริงๆ ว่าปลายทางอยู่ตรงไหน ไม่รู้เทคโนโนยีจะตามทันหรือไม่ แต่เป็นเรื่องที่ประชาคมโลกต้องช่วยกัน เป็นไปไม่ได้ที่ประเทศใดประเทศหนึ่งจะปลอดภัยโดยที่ประเทศอื่นยังระบาด เป็นไปไม่ได้ เพราะมีการเดินทาง และส่งของข้ามประเทศ มีโอกาสนำเชื้อไปได้” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

Advertisement

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า สำหรับประเทศไทย ฉีดวัคซีนแล้ว 19,632,537 โดส เป็นเข็มที่ 1 ร้อยละ 21.8 และอีก ร้อยละ 6.1 ฉีดครบโดส เรายังต้องเร่งทำ เพราะติดเชื้อขาขึ้น ต่อวันหลักหมื่นราย เสียชีวิตเป็นเลข 3 หลัก ดังนั้น นอกจากล็อกดาวน์ ลดการแพร่เชื้อแล้วต้องเร่งฉีดวัคซีน หากทำได้ดีพอ จะสามารถทุบกราฟลงได้ “อันดับแรกไทยต้องลดปัญหาคนติดเชื้อล้นศักยภาพของโรงพยาบาล (รพ.) เพราะตอนนี้ รพ.แต่ละแห่งเบ่งเตียงเยอะมาก ตอนนี้ รพ.ศิริราช จะเบ่งเตียงไอซียูอีก แต่ก็เป็นเพียงปลายทางเพื่อรักษาชีวิต และยังต้องทำ แต่ต้องย้อนไปที่ต้นทาง ทำให้เกิดการติดเชื้อให้น้อย อาศัยมาตรการทางปกครอง การควบคุมอย่างเข้มงวด อย่าให้เกิดสิ่งที่ไม่ควรจะทำ ไม่ว่าเป็นการควบคุม สอบสวน การตรวจหาเชื้อ รักษาเร็ว ให้ยาเร็ว จัดการเตียง ต่างๆ มาตรการส่วนบุคคล การฉีดวัคซีนให้มาก และเร็ว โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงซึ่งทั้งหมดต้องทำคู่กัน หยุดไม่ได้ หย่อนไม่ได้ อย่าหวังว่าทำเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วจะสำเร็จเป็นไปไม่ได้” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image