เปิดแผน! สธ.ตั้งเป้านำเข้าวัคซีนปีนี้ 120 ล้านโดส – เจรจาขอวัคซีนรุ่น 2 ต้านไวรัสกลายพันธุ์

สธ.เปิดแผนนำเข้าวัคซีน 120 ล้านโดส มุ่งปักเข็ม 3-กลุ่มเด็ก เจรจาขอรุ่นใหม่ป้องกันไวรัสกลายพันธุ์

เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2564 เวลา 11.30 น. กระทรวงสาธารณสุขแถลงสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และการติดตามการฉีดวัคซีน

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สำหรับข้อมูลวัคซีนที่เรามี ไม่ว่าวัคซีนที่ประเทศไทยใช้ จะเป็นซิโนแวค แอสตร้าเซนเนก้า ไฟเซอร์ และซิโนฟาร์ม ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวถึงได้รับการขึ้นทะเบียนรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และองค์การอนามัยโลก และข้อมูลตรงกันหลายอย่างยืนยันถึงประสิทธิภาพ การป้องกัน การเจ็บป่วย ด้วยโรคโควิด-19

ยอดฉีดวัคซีนสะสมกว่า 26 ล้านโดส

“แม้ว่าวัคซีนจะไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ 100% แต่สามารถลดความเสี่ยงหรือโอกาสการติดเชื้อ ที่สำคัญลดความรุนแรงของโรคและการเสียชีวิต ได้อย่างมีนัยสำคัญที่เห็นโดยทั่วไป”

Advertisement

สำหรับภาพรวมผลการฉีดวัคซีนเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม อยู่ที่ 609,435 โดส เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในรอบหลายวันที่ผ่านมา ทำให้ยอดสะสมอยู่ที่ 26,428,101 โดส แยกเป็นฉีดเข็ม 1 จำนวน 19,973,692 ราย คิดเป็น 27.7% ผู้ที่ได้รับครบ 2 เข็ม จำนวน 5,920,614 ราย คิดเป็น 8.2% และเข็มที่ 3 จำนวน 533,795 ราย โดยซิโนแวคมียอดฉีดแล้ว 12,328,604 โดส แอสตร้าเซนเนก้า 11,161,950 โดส ซิโนฟาร์ม 2,440,215 โดส ไฟเซอร์ 497,332 โดส

กลุ่มเป้าหมายที่ได้รับการฉีด มีบุคลากรการแพทย์และสาธารสุขฉีดเข็มแรก 865,818 ราย เข็ม 2 จำนวน 750,658 ราย เข็มที่ 3 จำนวน 533,795 ราย เจ้าหน้าที่ด่านหน้าเข็มที่ 1 จำนวน 1,014,519 ราย เข็มที่ 2 จำนวน 615,614 ราย

อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านเข้มที่1 จำนวน 601,431 ราย เข็มที่ 2 จำนวน 279,925 ราย ผู้มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค เข็มที่ 1 จำนวน 244,372 ราย เข็มที่ 2 จำนวน 425,310 ราย

Advertisement

ประชาชนทั่วไปเข็มที่ 1 จำนวน 11,020,015 ราย เข็มที่ 2 จำนวน 3,394,575 ราย ผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป เข็มที่ 1 จำนวน 4,206,659 ราย เข็มที่ 2 จำนวน 453,018 ราย หญิงตั้งครรภ์เข็มที่ 1 จำนวน 20,878 คน เข็มที่ 2 จำนวน 1,514 ราย

“หญิงตั้งครรภ์มีข้อมูลชัดเจนในระยะหลังๆ ถ้าพบการติดเชื้อ มีโอกาสเสียชีวิตได้มากกว่าคนทั่วๆ ไป เวลาไปฝากท้องที่คลินิกหรือโรงพยาบาลใกล้บ้าน หากได้รับคำแนะนำให้ฉีดวัคซีน ปรึกษาหมอให้ดี เพราะจากประสบการณ์ฉีดวัคซีนที่ผ่านมา 26 ล้านโดส ยังไม่มีรายใดเลยเสียชีวิตจากผลของวัคซีนโดยตรง คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญได้มีผลสรุปมาแล้ว แต่โอกาสเสียชีวิตจากการติดโควิดมีโอกาสสูงกว่ามาก ฉะนั้นวัคซีนที่เราใช้ ปลอดภัย มีประสิทธิภาพสูง”

สำหรับยอดสะสมรายจังหวัดที่เน้นคือในพื้นที่ควบคุมสูงสุด 13 จังหวัด ฉีดเข็มที่ 1 แล้ว 11,083,904 ราย คิดเป็น 50% เข็มที่ 2 จำนวน 2,784,163 ราย คิดเป็น 12.6% เข็มที่ 3 จำนวน 217,737 ราย คิดเป็น 1% ตามแผนจะฉีดวัคซีนให้ครอบคลุม 50% ตอนนี้มีหลายจังหวัดที่ใกล้เป้าหมายแล้ว เช่น กรุงเทพฯ ฉีดเข็มที่ 1 แล้ว 82.5% นนทบุรี 38.4% ปทุมธานี 38.7%

ส่วนจังหวัดอื่นๆ รวม 64 จังหวัด ฉีดเข็มที่ 1 แล้ว 8,889,788 ราย คิดเป็น 17.8% เข็มที่ 2 จำนวน 3,136,451 ราย คิดเป็น 6.3% เข็มที่ 3 จำนวน 316,058 ราย คิดเป็น 0.6%

อีกกลุ่มที่เร่งฉีดคือกลุ่มผู้สูงอายุ เนื่องจากมีการเสียชีวิตเป็นส่วนใหญ่มากกว่า 80-90% เป้าหมายในการฉีดในสิ้นเดือนสิงหาคมต้องให้ได้ 70% ในพื้นที่สีแดงเข้มควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ขณะนี้กรุงเทพฯ ฉีดแล้ว 94.7% รองลงมาปทุมธานี 63.3% สมุทรสาคร 56% คาดว่าสิ้นเดือนสิงหาคมนี้น่าจะใกล้เคียงหรือเกินเป้าหมาย

ก.ย.นี้แอสตร้าฯส่งมอบอีก 7.2 ล้านโดส

นพ.โอภาสยังกล่าวถึงจำนวนวัคซีนที่เข้ามาในประเทศไทยนับจากเดือนกุมภาพันธ์ที่มีซิโนแวคและแอสตร้าเซนเนก้าเข้ามาจนถึงวันที่ 20 สิงหาคม มีวัคซีนที่เข้ามา 30 กว่าล้านโดส โดยขบวนการเมื่อวัคซีนเข้ามาจะต้องมีการตรวจสอบคุณภาพ ความปลอดภัย จากนั้นจะมีกระจายไปยังจุดฉีดต่างๆ ที่กำหนดเป็นจังหวัด และจะเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดหรือกรุงเทพมหานคร จะมีการจัดบริการการฉีดตามกลุ่มหมายที่ส่วนกลางกำหนด

“สังเกตุดูตั้งแต่เดือนมิถุนายน กรกฎาคม สิงหาคม จำนวนวัคซีนที่เข้ามามีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สอดคล้องกับยอดการฉีดและความต้องการของการฉีด อย่างเช่น ของแอสตร้าเซนเนก้า พบว่าระยะหลังมีการนำเข้าวัคซีนมา มีการฉีดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ”

ในสัญญาที่ลงนามจองกับบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 ขณะนั้นยังไม่มีวัคซีนที่ผลิตสำเร็จแม้แต่ขวดเดียว ในเงื่อนไขสัญญาจะระบุว่าการส่งมอบจะต้องเจรจาเป็นรายเดือน ตามสัญญากำหนดจะเริ่มส่งมิถุนายน จากนั้นจะมีการเจรจาแต่ละเดือนเพื่อส่งมอบตามที่เราต้องการ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณวัคซีนที่แอสตร้าเซนเนก้าจะมีให้ด้วย

“อย่างเช่นเดือนมิถุนายนที่เริ่มการฉีดจะมีวีคซีนเข้ามาเฉลี่ย 5 ล้านโดส กรกฎาคม 5 ล้านโดส สิงหาคม 5 ล้านโดส โดยเฉลี่ยจะมีวัคซีนเข้ามา 5-6 ล้านโดสต่อเดือน สำหรับกันยายนนี้ได้แสดงเจตจำนงว่าต้องการมีวัคซีนฉีดเพิ่มขึ้น จากการเจรจาบริษัทส่งสัญญาณจะส่งวัคซีนให้ไทย 7.2 ล้านโดส ผมเชื่อว่าในการเจรจาจะมีวัคซีนเข้ามาเรื่อยๆ ตามที่ต้องการ จะสอดคล้องกับแผนการฉีด”

ปี’65นำเข้า 120 ล้านโดส มุ่งปักเข็ม 3-กลุ่มเด็ก

สำหรับในปี 2565 จากแนวโน้มการฉีดวัคซีน อาจจำเป็นต้องใช้เข็มที่ 3 เรียกว่าบูสเตอร์โดส รวมทั้งกลุ่มเป้าหมายอื่นที่อาจจะไม่ครอบคลุม เช่น กลุ่มเด็ก มีการวิจัยในหลายๆ หน่วยงาน บริษัท หลายประเทศ ถึงความจำเป็นต้องฉีดในกลุ่มเด็ก รวมทั้งการฉีดเข็มที่ 3 เนื่องจากข้อมูลหลายแห่ง พบว่าหลังจากฉีดวัคซีนไป 2 เข็ม ไม่ว่ายี่ห้ออะไรก็ตาม ภูมิคุ้มกันจะตกลง ดังนั้นการฉีดเข็มที่ 3 จะเป็นตัวกระตุ้นให้ภูมิคุ้มกันสูงขึ้น

“ปี 2565 จำเป็นต้องหาวัคซีนเพิ่มเติมเพื่อฉีดใน 2 กลุ่ม คือ กลุ่มเด็กและเตรียมสำหรับบูสเตอร์โดส ซึ่งคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติได้เสนอความเห็นและผ่านความเห็นชอบของ ศบค.แล้วว่าในปี 2565 จะต้องจัดหาวัคซีนเพิ่มอย่างน้อย 120 ล้านโดส และให้มีวัคซีนที่มีความหลากหลายในการฉีด เช่น วัคซีน viral vector วัคซีนเชื้อตาย และอื่นๆ เป็นต้น”

เตรียมนำเข้าวัคซีนรุ่นใหม่ต่อสู้เชื้อกลายพันธุ์

ขณะนี้สถาบันวัคซีนแห่งชาติได้ประชุมหารือกับบริษัทผู้ผลิต แสดงเจตจำนงแล้วว่าจะนำเข้าไฟเซอร์อย่างน้อย 50 ล้านโดส แอสตร้าเซนเนก้า 50 ล้านโดส แต่รายละเอียดจะเป็นวัคซีนแบบไหน ขณะนี้มีข้อมูลว่าในหลายบริษัทเริ่มจะผลิตวัคซีนรุ่นใหม่ที่มีประสิทธิภาพต่อสู้กับเชื้อกลายพันธุ์ได้มากขึ้น เรียกว่าวัคซีนรุ่นที่ 2 ถ้าบริษัทสามารผลิตวัคซีนและมีผลวิจัยที่ยืนยัน จะขอให้บริษัทส่งมอบวัคซีนรุ่นที่ 2 ให้กับไทย รวมถึงปริมาณที่แน่นอน กำหนดการส่ง และราคา ยังอยู่ในขั้นตอนการเจรจา ที่ผ่านมาการเจรจามีความก้าวหน้าด้วยดี

ทั้งนี้เป้าหมายในการฉีดวัคซีนเพื่อให้ทุกคนได้รับวัคซีนทุกคนด้วยความสมัครใจ ขณะนี้แผนปี 2564
มีแผนจัดหา 100 ล้านโดส ในภาพรวมขณะนี้มีสั่งจองแอสตร้าเซนเนก้าในปีนี้อีก 61 ล้านโดส ล่าสุดเพิ่งลงนามสัญญากับไฟเซอร์จะนำเข้ามาในไตรมาส 3 อีก 30 ล้านโดส รวมถึงซื้อซิโนแวคมาใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉินและต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเปลี่ยนสูตรฉีดวัคซีนไข้วที่มีประสิทธิภาพอีกประมาณ 30 ล้านโดส ซึ่งในของปีนี้ไม่เกี่ยวกับแผนปี 2565 มีแผนจะนำเข้าอีก 120 ล้านโดสเป็นอีกส่วน คนละสัญญา คนละกรณี

“จะเห็นว่าในภาพรวมตัวเลขนำเข้าและการจองจะเกิน 100 ล้านโดสไปแล้ว อย่างไรก็ตามความต้องการฉีดของพี่น้องประชาชนมีมาก และเรามีวีคซีนมากจะทำให้ฉีดได้มากได้เร็วยิ่งขึ้น ทำให้เกิดภูมิคุ้มกัน ป้องกันการเสียชีวิต ป่วยรุนแรงมากขึ้น”

นพ.โอภาสยังตอบคำถามถึงกรณีที่โรงพยาบาลในจังหวัดสมุทรปราการมีการฉีดแอสตร้าเซนเนก้าเข็มแรกและเข็มที่ 2 ห่างกัน 20 วันว่า ในการฉีดแอสตร้าเซนเนก้ากำหนดให้ฉีด 8-16 สัปดาห์ เพราะมีภูมิกระตุ้นภูมิคุ้มกันสูง แต่ถ้าใกล้กันมากเกินไปภูมิคุ้มกันได้ไม่ดีนัก อยากให้ติดตามอาการายบุคคลอย่างเข้มงวดต่อไป ต้องเป็นประสบการณ์นำไปปรับใช้ในระบบการแก้ไขต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image