โควิดคลัสเตอร์คนงานทะลุ 45 ราย ปิด 6 หมู่บ้านกลุ่มเสี่ยง ‘นครพนม’ เข้ม เข้าพื้นที่ไม่รายงานเจอจับปรับ

โควิดคลัสเตอร์คนงานทะลุ 45 ราย ปิด 6 หมู่บ้านกลุ่มเสี่ยง ‘นครพนม’ เข้ม เข้าพื้นที่ไม่รายงานเจอจับปรับ

คืบหน้า คลัสเตอร์กลุ่มผู้ใช้แรงงานในศูนย์กระจายสินค้าเขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดนครพนม ติดเชื้อโควิดโดยยังหาต้นตอไม่พบ เบื้องต้นพบครั้งแรกช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา 5 ราย ก่อนจะแพร่ไปสู่เพื่อนร่วมงานและคนในครอบครัวประมาณ 40 ราย โดยกลุ่มคนงานมีภูมิลำเนากระจายอยู่ 3 อำเภอ ได้แก่ 1.อ.เมืองนครพนม 2.ท่าอุเทน และ 3.ปลาปาก จึงเป็นสาเหตุให้ นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม ลงนามในคำสั่งปิดบางส่วน 6 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านนามะเขือหมู่ 1 ต.นามะเขือ อ.ปลาปาก,บ้านขามเฒ่าหมู่ 2 ต.ขามเฒ่า อ.เมืองนครพนม, บ้านหนองยาวหมู่ 11 ต.คำเตย, บ้านโพนค้อหมู่ 10 ต.คำเตย อ.เมือง, บ้านโชคอำนวย หมู่ 3 ต.วังตามัว อ.เมือง และบ้านเนินบ่อทองหมู่ 16 ต.รามราช อ.ท่าอุเทน เพื่อเจ้าหน้าที่จะได้ลงพื้นที่ทำการตรวจเชิงรุก พร้อมเฝ้าระวังดูอาการประชาชนกลุ่มเสี่ยงทั้งหมด

ล่าสุด วันที่ 26 สิงหาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่าภายหลังชุดปฏิบัติการตรวจค้นหาเชิงรุก ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงและต่ำจำนวน 250 คน ในพื้นที่บ้านโพนค้อหมู่ 10 ต.คำเตย ซึ่งก่อนหน้านี้พบคนงานป่วยติดเชื้อมากถึง 9 ราย ปรากฏว่าตรวจเจอผู้ติดเชื้อเพิ่มอีก 5 ราย ซึ่งเป็นญาติที่คลุกคลีกับผู้ป่วย ส่วนที่เหลือรอตรวจซ้ำอีก 4-5 วันข้างหน้า รวมคลัสเตอร์นี้มีผู้ป่วยยืนยันผลแล้ว 45 ราย จากเหตุการณ์ดังกล่าวที่พบผู้ป่วยในคลัสเตอร์คนงานกระจายไปหลายพื้นที่ จังหวัดนครพนมจึงมีคำสั่ง 2134/2564 ลงวันที่ 25 สิงหาคม 2564 ให้บุคคลผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด รวมทั้งสิ้น 29 จังหวัด ได้แก่

กรุงเทพมหานคร, กาญจนบุรี, ชลบุรี, ฉะเชิงเทรา, ตาก, นครปฐม, นครนายก, นครราชสีมา, นราธิวาส, นนทบุรี, ปทุธานี, ประจวบคีรีขันธ์, ปราจีนบุรี, ปัตตานี, พระนครศรีอยุธยา, เพชรบุรี, เพชรบูรณ์, ยะลา, ระยอง, ราชบุรี, ลพบุรี, สงขลา, สิงห์บุรี, สมุทรปราการ, สมุทรสงคราม, สมุทรสาคร, สระบุรี, สุพรรณบุรี และอ่างทอง

Advertisement

รวมถึงพื้นที่ควบคุมสูงสุต 32 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกาฬสินธุ์, กำแพงเพชร, ขอนแก่น, จันทบุรี, ชัยนาท, ชัยภูมิ, ชุมพร, เชียงราย, เชียงใหม่, ตรัง, ตราด, นครศรีธรรมราช, นครสวรรค์, บุรีรัมย์, พัทลุง, พิจิตร, พิษณุโลก, มหาสารคาม, ยโสธร, ระนอง, ร้อยเอ็ด, ลำปาง, ลำพูน, ศรีสะเกษ, สตูล, สระแก้ว, สุโขทัย, สุรินทร์, อุตรดิตถ์, อุทัยธานี, อุบลราชธานี และอำนาจเจริญ

โดยผู้เดินทางมาจากจังหวัดที่กล่าวข้างต้น ต้องการเข้ามาพักอาศัยในพื้นที่จังหวัดนครพนม ให้ไปพัก ณ พื้นที่กักกันโรคแห่งรัฐที่ทางราชการกำหนด (State Quarantine) เช่น ในพื้นที่หมู่บ้าน, ตำบล, อำเภอ ที่ตนพักอาศัยเป็นการชั่วคราว และให้เข้ารับการตรวจ คัดกรอง ประเมินความเสี่ยง และสอบสวนโรคจากโรงพยาบาลนครพนม หรือโรงพยาบาลชุมชนในพื้นที่โดยทันที และก่อนเข้าบ้านเรือน หมู่บ้าน ชุมชน ในพื้นที่ที่ตนจะพักอาศัยให้ไปรายงานตัวต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) สถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ ศูนย์สุขภาพชุมชน ศูนย์บริการสาธารณสุขเทศบาล กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ประธานชุมชน หรือ อสม.ในพื้นที่โดยทันที

Advertisement

กรณีไม่เคยมีประวัติการได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อฯชนิดใดๆ มาก่อน หรือกรณีได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคฯ อาทิ ซิโนแวค ชิโนฟาร์ม แอสตร้าเชนเนก้า ไฟเซอร์ หรือโมเดอร์น่า ครบสองเข็มน้อยกว่าสองสัปดาห์ ให้ได้รับการตรวจคัดกรองโดยวิธี Rapid Antigen Test หากมีผลเป็นลบ ให้ทำการกักตัว ณ พื้นที่กักกันโรคแห่งรัฐที่จังหวัดกำหนด (State Quarantine) เป็นเวลา 14 วัน นับแต่วันที่รายงานตัวต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อในพื้นที่ที่ตนพักอาศัยฯ หากมีผลเป็นบวกให้ทำการตรวจคัดกรองโดยวิธี RT- PCR และในระหว่างรอผลการตรวจ ให้ทำการกักตัวที่โรงพยาบาล หรือสถานที่ที่ทางราชการกำหนด

กรณีได้รับการฉีดวัคซีนซิโนแวค ซิโนฟาร์ม แอสตร้าเซนเนก้า ไฟเซอร์ หรือโมเดอร์น่า ครบสองเข็มมากกว่าสองสัปดาห์ ก่อนเข้าพื้นที่ต้องมีผลการตรวจ RT- PCR เป็นลบ ไม่เกิน 72 ชั่วโมง และไม่ต้องทำการกักตัว

นอกจากนี้ ได้ให้บุคคลที่เดินทางมาจากจังหวัดกระบี่, นนทบุรี, บึงกาฬ, พะเยา,พังงา, แพร่, ภูเก็ต, มุกดาหาร, แม่ฮ่องสอน, เลย, สกลนคร, สุราษฎร์ธานี, หนองคาย, หนองบัวลำภู และจังหวัดอุดรธานี ที่มีความประสงค์เข้ามาพักอาศัยในพื้นที่จังหวัดนครพนม ก่อนเข้าที่พักอาศัยต้องไปรายงานตัวเพื่อเข้ารับการตรวจคัดกรอง ประเมินความเสี่ยง และสอบสวนโรคจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล สถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ ศูนย์สุขภาพชุมชน ศูนย์บริการสาธารณสุขเทศบาล กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ประธานชุมชน หรือ อสม.ในพื้นที่โดยทันที

ทั้งนี้ ในท้ายคำสั่งฉบับดังกล่าว ระบุว่าผู้ใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งฉบับนี้ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท ตามมาตรา 51 ประกอบมาตรา 34 (1) หรือต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 56 ประกอบมาตรา 35 (3) แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 และต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับตามมาตรา 18 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเงิน พ.ศ.2548 ตั้งแต่วันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ.2564 เป็นต้นไป จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image