จ่อลดเวลากักตัว14วัน คนมาจากต่างประเทศ หากฉีดวัคซีนครบ-ตรวจเชื้อเป็นระยะ

จ่อลดกักตัว14วันหากฉีดวัคซีนครบ2เข็มตรวจเชื้อเป็นระยะ ชี้มาตรการคลายล็อกเริ่มก.ย.นี้แค่ขอความร่วมมือ

เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2564 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ตอบคำถามกรณีมีผู้เดินทางเข้าประเทศเมื่อฉีดวีคซีนครบ 2 โดสและมีผลตรวจโควิดว่าไม่ติดเชื้อ ยังจำเป็นต้องกักตัวอีกหรือไม่

จ่อลดวัดกักตัวหากฉีดวัคซีนครบ-ตรวจเชื้อเป็นระยะ

โดยนพ.โอภาสกล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทย ยังจำเป็นให้ผู้เดินทางกลับจากต่างประเทศมีการกักตัว 14 วัน
สิ่งที่ได้เรียนรู้จากหลายประเทศ 1.การฉีดวัคซีนสามารถลดโอกาสเสี่ยงติดเชื้อได้ แม้จะไม่ 100% 2.การตรวจอาการเป็นระยะๆ ทำให้ตรวจผู้ติดเชื้อและไม่มีอาการได้ ในหลายประเทศจะใช้มาตรการในการรับรองฉีดวัคซีนครบถ้วนและตรวจวัคซีนเป็นระยะเอามาประกอบเพื่อลดวันกักตัว

Advertisement

สำหรับประเทศไทยถ้าจำกันได้ “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์”ที่ให้ต่างชาติเข้ามา เมื่อฉีดวัคซีนครบ รวมถึงมีการตรวจเป็นระยะ สามารถใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงคนปกติ ช่วงกักตัว 14 วันยังสามารถเดินทางไปไหนได้

“ตรงนี้จะเป็นข้อมูลที่ทางผู้เกี่ยวข้องด้านการแพทย์และสาธารณสุข คงนำมาประเมินอีกครั้ง เชื่อว่าคงจะได้มีมาตรการการกักตัวที่จะมีการพิจารณาเรื่องของการฉีดวัคซีน รวมถึงการตรวจเป็นระยะๆ มาใช้ต่อไป อย่างไรก็ตามช่วงนี้ยังคงต้องระมัดระวังเนื่องจากเราพบผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศเข้าสู่ประเทศไทยเป็นระยะ ฉะนั้นมาตรการกักตัวคงใช้ 14 วัน แต่มีแนวโน้มอาจจะมีการลดการกักตัวลง รอประกาศอย่างเป็นทางการอีกครั้งหนึ่ง”

ชี้ภูมิคุ้มกันหมู่ผันแปรตามเวลา-พื้นที่-สายพันธุ์

Advertisement

นพ.โอภาสยังกล่าวถึงภูมิคุ้มกันหมู่ที่จะให้เกิด 70% ว่าจริงๆจะเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ขึ้นกับหลายปัจจัย อันดับแรกเชื้อโรคมีการแพร่กระจายได้รวดเร็วมากแค่ไหน เชื้อโรคบางชนิดสิ่งที่จะเรียกว่าวัคซีนทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่แตกต่างกัน แม้กระทั่งเชื้อเดียวกัน เช่น โควิด-19 มีการกลายพันธุ์อยู่ตลอดเวลา ช่วงแรกระบาดการติดเชื้อไม่รวดเร็วมากนักแต่พอมีกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์เดลตาปรากฎว่าความสามารถในการแพร่กระจายเชื้อสูงมากขึ้น ฉะนั้นการคิดเรื่องภูมิคุ้มกันหมู่ต้องปรับเปลี่ยนไปตามเชื้อที่กลายพันธุ์

อย่างที่สองขึ้นกับพื้นที่นั้นๆ การระบาดมากน้อยแค่ไหนหรือความสามารถในการระบาดของโรคเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน เอาสองส่วนนี้มาประกอบกัน ซึ่งค่าภูมิคุ้มกันหมู่เป็นค่าที่ผันแปรในแต่ละที่แต่ละเวลา รวมถึงจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศจากเชื้อไวรัสตามธรรมชาติอยู่แล้ว เดิมวางแผนฉีดวัคซีนให้ประชาชนอย่างน้อย 70% คิดเป็นตัวเลข 50 ล้านคน ดูจากตัวเลขสิ้นเดือนธันวาคมจะอยู่ที่อย่างน้อย 140 ล้านโดส จะสามารถฉีดให้ประชาชนได้เกินเป้าแน่นอน

มาตรการผ่อนคลาย”ก.ย.”แค่ขอความร่วมมือ

นพ.โอภาสกล่าวอีกว่า สำหรับมาตรการผ่อนคลายที่ออกมา บางมาตรการจะเป็นในเชิงบังคับ เช่น เคอร์ฟิว จำกัดคนมาทำกิจกรรมร่วมกัน และอีกมาตรการคือขอความร่วมมือประชาชน ในอนาคตข้างหน้าถ้าจะต้องอยู่ร่วมกับโควิดตามที่วางโรดแมปไว้ ความร่วมมือของประชาชนสำคัญอย่างมาก ทุกมาตรการที่ออกจะต้องกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด

ตอนนี้มีการเสนอมาตรการเพื่อเปิดกิจกรรมที่มีความเสี่ยง เมื่อเปิดจะต้องหาวิธีลดความเสี่ยง มี 2-3 เรื่อง คือ 1.การฉีดวัคซีนผู้ที่เกี่ยวข้องทำกิจกรรมเสี่ยง 2.ตรวจหาเชื้อเป็นระยะๆ ด้วยATK ที่หลายประเทศในยุโรปได้เริ่มดำเนินการเรื่องนี้แล้ว 3.มาตรการส่วนบุคคล เช่น สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ เป็นต้น

และอีกมาตรการที่เป็นมาตรการใหม่ที่เรากำลังดำเนินการในประเทศไทย คือ ตรวจหาเชื้อด้วยตัวเองอย่างง่ายเรียกว่าATK จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือของประชาชนและปริมาณการตรวจที่มากพอของATK ถ้ามาตรการนี้เป็นมาตรการเชิงบังคับในทันที เชื่อว่าคงจะไม่สามารถทำได้และเกิดความไม่สะดวกต่อประชาชนได้

ต้นต.ค.ทุกอย่างพร้อมบังคับเป็นมาตรฐาน

“เพราะฉะนั้นในเดือนกันยายนจะเป็นมาตรการในเชิงให้คำแนะนำ ขอความร่วมมือมากกว่า แต่หลังจากคุ้นจากมาตรการแล้ว ประชาชนยอมรับได้ ทำได้ รวมถึงมีการฉีดวัคซีนหรือทำATKได้มากพอ คาดว่าจะเป็นในช่วงต้นตุลาคมจะเป็นมาตรการที่เรียกว่ามาตรฐาน เป็นจุดที่ทุกหน่วยงานร่วมกันทำ ประชาชนให้ความร่วมมือ จะเกิดความร่วมมือยั่งยืนในการดำเนินการต่อไป “

ขณะนี้ได้มีการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สมาคมภัตตาคารไทย สมาคมศูนย์การค้า ที่หารือร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมาตรการที่ออกมาแม้เราจะไม่บังคับ แต่ทางสมาคมยืนยันจะปฎิบัติตามมาตรการนี้ อย่างไรก็ตามระหว่างนี้อาจจะมีข้อติดขัดบ้าง ให้แจ้งมาจะได้รับมาตรการให้สอดคล้องเหมาะสมเพื่อที่หลังเดือนตุลาคมที่ทุกอย่างพร้อมแล้ว เราจะได้มีการทำเรื่องนี้เป็นมาตรฐานเป็นการใช้ชีวิตใหม่ของทุกคน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image