สธ.ชี้สูงวัยรับวัคซีนทั่วไทยเกิน 43% ลดตายเหลือ 9% ยันเข็ม 3 ปชช.บูสต์ปลาย ก.ย.

สธ.ชี้สูงวัยรับวัคซีนทั่วไทยเกิน 43% ลดตายเหลือ 9% ยันเข็ม 3 ปชช.บูสต์ปลาย ก.ย.

เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยระหว่างแถลงรายงานสถานการณ์โรคโควิด-19 ถึงการฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มที่ 3 สำหรับประชาชนทั่วไป ว่า ข้อมูลใหม่ที่คณะอนุกรรมการวิชาการ ในคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค มีมติให้ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้กับประชาชน ซึ่งกำลังเวียนมติให้กรรมการให้ความเห็นชอบ และจะมีการลงความเห็นชอบอย่างเป็นทางการในวันพรุ่งนี้ (31 ส.ค.64) หลังจากนั้นจะนำเสนอในที่ประชุมอีโอซี สธ.ให้รับทราบ

“ภาพรวมคือ บูสเตอร์โดสแน่นอน เมื่อวัคซีนมีความพร้อมเข้ามามากๆ โดยเราคาดว่า จะมีวัคซีนเข้ามามากในปลายเดือน ก.ย. ถึงต้นเดือน ต.ค.64 แต่หากวัคซีนไม่เข้ามา เราก็ขยับไปตามปริมาณวัคซีนที่เข้ามา” นพ.โอภาส กล่าวและว่า โดยการกระตุ้นเข็มที่ 3 นั้น จะขึ้นกับปริมาณวัคซีนที่เข้ามา อย่างไรก็ตาม จากการคาดการณ์พบว่า เดือน ต.ค.นี้ จะมีวัคซีนเข้ามามากประมาณ 20 ล้านโดส ดังนั้น ช่วงเดือน ต.ค. จะสามารถฉีดวัคซีนกระตุ้นให้แก่ประชาชนที่ได้รับวัคซีน 2 เข็มมาก่อนหน้านี้ แต่หากในกรณีที่วัคซีนไม่เข้ามาตามกำหนดการ ก็จะขยับปริมาณการให้วัคซีนต่อไป

ผู้สื่อข่าวถามว่า วัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 สำหรับประชาชนทั่วไป จะต้องเป็นยี่ห้อไหน นพ.โอภาส กล่าวว่า โดยหลักต้องเป็นคนละชนิด โดยหากใครได้รับวัคซีนซิโนแวคครบ 2 เข็ม ซึ่งเป็นเชื้อตาย ก็จะได้รับการกระตุ้นเป็นไวรัลเวกเตอร์ หรือ แอสตร้าเซนเนก้า หรืออาจเป็นชนิด mRNA หรือ ไฟเซอร์ ดังนั้น มีการเตรียมวัคซีนแอสตร้าฯ และไฟเซอร์ รองรับ แต่เพื่อความมชัดเจนขอให้รอมติอย่างเป็นทางการต่อไป

Advertisement

ด้าน นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กล่าวว่า สำหรับข้อมูลการฉีดวัคซีนโควิด-19 เมื่อวานนี้ (29 ส.ค.64) จำนวน 275,188 โดส เนื่องจากเป็นวันอาทิตย์ แต่ตัวเลขเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา เป็นตัวเลขสูงมากกว่า 9 แสนโดส ซึ่งปริมาณการฉีดวัคซีนแต่ละวันมีขึ้นมีลง แต่ภาพรวมทิศทางสามารถเพิ่มกำลังการฉีดได้ โดยยอดรวมสะสมการฉีดวัคซีน อยู่ที่ 30.9 ล้านโดสแล้ว แยกเป็นเข็มที่ 1 จำนวน 23 ล้าน ซึ่งครอบคลุมสูงถึง ร้อยละ 32 ขณะที่เข็มที่ 2 ฉีดแล้วกว่า 7.3 ล้านราย คิดเป็นความครอบคลุมเข็ม 2 อยู่ที่ ร้อยละ 10.2

นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า การครอบคลุมการได้รับวัคซีนโควิด-19 สะสมในกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 13 จังหวัด ฉีดเข็มที่ 1 ครอบคลุมไปแล้ว ร้อยละ 68.8 ส่วนจังหวัดอื่นๆ 64 จังหวัด ครอบคลุมเข็มที่ 1 อยู่ที่ ร้อยละ 35.2 โดยภาพรวมทั้งประเทศครอบคลุมเข็มที่ 1 อยู่ที่ ร้อยละ 43.8 ส่วนกลุ่มที่มีโรคเรื้อรังใกล้เคียงกันคือ ร้อยละ 41.1 ส่วนกลุ่มหญิงตั้งครรภ์อายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไปเข็มที่ 1 ยังครอบคลุม ร้อยละ 7.5 จึงขอแนะนำให้ไปฉีดวัคซีนเช่นกัน

“ขอให้ข้อมูลว่า เวลาที่วิเคราะห์ข้อมูลเมื่อผู้เสียชีวิตรายงานเข้ามา เราไม่ได้คิดตามสัปดาห์ที่รายงานการเสียชีวิต แต่จะย้อนข้อมูลว่า สัปดาห์ที่วินิจฉัยที่พบการติดเชื้อ คือ เมื่อไร ต้องนับสัปดาห์นั้น ดังนั้น สัปดาห์ที่ 31 -34 อาจมีข้อมูลค่อยๆมาเติมในอนาคต เพราะการรักษาของผู้ป่วยแต่ละคนจะใช้เวลาแตกต่างกัน ส่วนข้อมูลที่ค่อนข้างสมบูรณ์ คือ การเสียชีวิตลดลงจาก ร้อยละ 18 เป็น ร้อยละ 9.27 ส่วนการป่วยหนัก มีปอดอักเสบก็ทิศทางแบบเดียวกัน จึงบ่งบอกว่าวัคซีนที่ฉีดครอบคลุมมากขึ้น ทำให้เปอร์เซ็นต์การเสียชีวิตในผู้สูงอายุลดลง” นพ.เฉวตสรร กล่าว

Advertisement

นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า พื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่มีการเร่งรัดฉีดวัคซีนโควิดอย่างมาก โดยพบว่ามีการไต่ระดับสูงขึ้นจากสัปดาห์ที่ 22 อยู่ที่ ร้อยละ 3.8 ประมาณสัปดาห์ที่ 30 ขึ้นไปถึง ร้อยละ 78.42 จนสัปดาห์ที่ 34 ขึ้นถึง ร้อยละ 96.03 ส่วนอัตราการเสียชีวิตสัปดาห์ที่ 25 เปอร์เซ็นต์การเสียชีวิตอยู่ที่ ร้อยละ 28 พอมาสัปดาห์ที่ 30 เหลือ ร้อยละ 12.97 ลดลงเกือบครึ่ง น่าจะเป็นผลจากการฉีดวัคซีนที่ครอบคลุม ส่วนทิศทางการป่วยหนักก็มีทิศทางเช่นเดียวกัน ส่วนตัวอย่างชายแดนภาคใต้ในกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีนั้น แม้ตัวเลขการฉีดวัคซีนจะไม่สูงเท่ากรุงเทพฯ แต่อัตราป่วยและเสียชีวิตก็ลดลงตามการฉีดวัคซีนที่เพิ่มขึ้นจากเดิมเช่นกัน ขณะที่จังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 19 จังหวัด ระหว่างสัปดาห์ที่ 20-34 ก็มีแนวโน้มเหมือนกัน อย่างสัปดาห์ที่ 34 ได้วัคซีน ร้อยละ 36.71 ตัวเลขผู้ป่วยและเสียชีวิตลดลงมาก ส่วนจังหวัดอื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน

“มีคำถามว่า ตัวเลขรายย่อยเฉพาะกลุ่มอายุดูลดลง แต่ทำไมภาพรวมผู้ป่วยติดเชื้อยังไม่ลดลง ต้องเรียนว่า การดูแลผู้ป่วยมีระยะเวลาสั้นยาวแตกต่างกัน ซึ่งคลื่นการระบาดที่พบป่วยวันละ 2 หมื่นราย เป็นช่วงก่อนหน้านี้ ซึ่งคนที่รักษาก่อนหน้าอาจหาย หรือเสียชีวิตก็จะไล่หลังตามมา ดังนั้น ยอดเพดานสูงสุดของการเสียชีวิตจะคงระดับอยู่และน่าจะลดลงหลังจากนี้” นพ.เฉวตสรร กล่าว

นพ.เฉวตสรร กล่าวถึงเวลาอีก 4 เดือนก่อนสิ้นปี 2564 ว่า สำหรับการฉีดวัคซีนโควิด-19 จะเป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่นั้น ทั้งนี้ จะเห็นว่า ตั้งแต่เดือนส.ค. – ก.ย. อย่างกรณีซิโนแวคที่หาเพิ่มเติมมา 12 ล้านโดส ซึ่งเป็นประโยชน์ในการนำมาฉีดไขว้กับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า โดยจากเดิมกำหนดว่า แอสตร้าฯ จะส่งมอบเดือน ก.ย. จาก 7 ล้านโดส ปรับเป็น 7.3 ล้านโดส และเดือน ต.ค.-ธ.ค. อย่างละ 10 ล้านโดส จากเดิมกำหนด 7 ล้านโดส ส่วนไฟเซอร์ จะส่งมอบ ก.ย. 2 ล้านโดส ต.ค.อีก 8 ล้านโดส และ พ.ย.-ธ.ค.เดือนละ 10 ล้านโดส

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image