สธ.พึ่ง อสม.ช่วยสกัดโควิด ซักซ้อมใช้ ATK คัดกรองคนในหมู่บ้าน

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ /แฟ้มภาพ

สธ.พึ่ง อสม.ช่วยสกัดโควิด ซักซ้อมใช้ ATK คัดกรองคนในหมู่บ้าน

เมื่อวันที่ 10 กันยายน ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) พร้อม ด้วย นพ.ภานุวัฒน์ ปานเกตุ รองอธิบดี สบส. แถลงถึงการปรับบทบาทหน้าที่ของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ติดอาวุธประชาชนตรวจแอนติเจน เทสต์ คิท (ATK) ด้วยตัวเอง และป้องกันการติดเชื้อขั้นสูงสุด

นพ.ธเรศ กล่าวว่า อสม.มีบทบาทสำคัญตั้งแต่การระบาดรอบแรกจนถึงปัจจุบัน ทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่ลงไปในชุมชนและมีส่วนช่วยในการควบคุมโควิด-19 จนได้รับการชื่นชมจากองค์การอนามัยโลก (WHO) เป็นเครือข่ายภาคประชาชนที่ลงไปให้ความรู้ชุมชน ทำให้การควบคุมโรคประสบความสำเร็จ และได้เป็นต้นแบบในการจัดการโรคอุบัติใหม่ที่ตีพิมพ์โดยวารสารต่างประเทศ ในความทุ่มเทนี้ก็พบว่า มี อสม.ติดเชื้อและเสียชีวิตด้วย

นพ.ธเรศ กล่าวว่า บทบาทของ อสม.ที่สำคัญในการรณรงค์เพื่อเชิญชวนประชาชนเข้ารับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ข้อมูลล่าสุดวันที่ 10 ก.ย.64 ผลการปฏิบัติงาน อสม.ชวนคนไทยลงทะเบียนฉีดวัคซีน ผ่าน “หมอพร้อม” ดำเนินการได้ 842,446 คน ลงทะเบียนผ่านโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) หน่วยบริการสุขภาพ 3,771,189 คน และผ่าน Smart อสม. 186,424 คน รวมกว่า 4,800,059 คน

นพ.ธเรศ กล่าวว่า สำหรับการระบาดระลอกนี้ที่เป็นศึกใหญ่ ผลการปฏิบัติงานของ อสม.ในช่วงที่ผ่านมา ได้แก่ 1.ติดตามกลุ่มเป้าหมาย 608 ซึ่งอาจจะเข้าถึงเทคโนโลยีลำบาก ให้ได้รับการฉีดวัคซีน โดยดำเนินการติดตาม 3,419,961 คน ได้รับวัคซีนแล้ว 1,091,954 คน คิดเป็น 31.93% 2.ร่วมดูแลผู้ติดเชื้อโควิดที่แยกกักในชุมชน (Community Isolation) เช่น ศาลาประชาคม วัด ประมาณ 4,900 แห่ง รวมถึงดูแลการแยกกักที่บ้าน (Home Isolation) กว่า 26,513 คน โดยทำหน้าที่เป็นไรเดอร์ส่งอาหารถึงบ้านด้วย และ 3.เฝ้าระวังแรงงานกลับบ้าน 299,840 คน ติดตามกลุ่มเสี่ยงครบ 14 วัน 251,642 คน และเมื่อมีอาการสำคัญส่งต่อเจ้าหน้าที่ 15,893 คน โดยได้รับการสนับสนุนชุดปฏิบัติงานจาก สบส.

Advertisement

ด้าน นพ.ภาณุวัฒน์ กล่าวว่า สำหรับภารกิจเพิ่มเติมที่มอบหมายให้ อสม.ดำเนินการในช่วงนี้ เรื่องแรก คือ ชุดตรวจเอทีเค ซึ่งวันที่ 16 ก.ย.นี้ สปสช.จะกระจายชุดตรวจ 8.5 ล้านชุด ให้ประชาชนทั่วประเทศ หลักการเอทีเค คือ ตรวจด้วยตนเอง โดยให้ อสม.แนะนำวิธีการใช้ชุดตรวจแก่ประชาชน และเมื่อมีผลตรวจออกมาแล้วต้องดำเนินการต่ออย่างไร เช่น ผลลบต้องติดตามอาการจนครบ 14 วัน ตรวจซ้ำอีกครั้งใน 5 วัน หากผลบวก ก็ช่วยประสาน รพ.สต.หรือ รพ.เพื่อพิจารณาแยกรักษากักตัวที่บ้านหรือชุมชน เป็นต้น

“เบื้องต้นได้ให้ความรู้เตรียมความพร้อม อสม.ก่อน โดย ชมรม อสม.แห่งประเทศไทย ดำเนินการบางพื้นที่บางจังหวัด ไปอบรม อสม.ในนามชมรม ส่วน สบส.จะประสานศูนย์สนับสนุนบริการสุขภาพทุกเขตเพื่อดำเนินการทุกจังหวัด ให้ความรู้เบื้องต้นแก่ อสม. ในการตรวจด้วยตนเอง แนะนำประชาชนได้ว่าใช้ชุดตรวจอย่างไร ซึ่งเรื่องนี้ไม่ได้แปลว่า อสม.จะไปตรวจให้ แต่เป็นการให้คำแนะนำประชาชนตรวจด้วยตัวเองได้เพื่อลดความเสี่ยง” นพ.ภาณุวัฒน์ กล่าว

นพ.ภานุวัฒน์ กล่าวว่า ได้ทำชุดความรู้ง่ายๆ มีคลิปประกอบ ให้ อสม.ทางโซเชียลมีเดีย และ Smart อสม. สามารถเปิดมือถือเรียนรู้ได้ตลอดเวลา ทั้งนี้ ถ้าช่วยให้ประชาชนรับการตรวจเร็ว รักษาเร้ว หายเร็วขึ้น จะมีประโยชน์ควบคุมโรค ไม่ติดคนในครอบครัว นอกจากนี้ ให้ความรู้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการป้องกันตนเองขั้นสูงสุดตลอดเวลา (Universal Prevention) ซึ่งเป็นนโยบายของ สธ.ที่จะให้คนไทยสามารถเรียนรู้การอยู่กับโควิดให้ได้

Advertisement

“เพราะไม่รู้ว่าโรคนี้จะอยู่กับเรานานแค่ไหน อาจเป็นโรคประจำถิ่น หลักการคือ ทุกคนทุกที่ทุกเวลาอาจติดเชื้อได้ แม้แต่คนในบ้านเดียวกัน โดยให้ อสม.ช่วยรณรงค์ต่อเนื่องในชุมชนว่า นอกจากการ์ดต้องไม่ตกแล้ว ยังต้องทำเข้มขึ้นอีก หากจะให้มีความยั่งยืน อยู่กับโควิดได้นานพร้อมเปิดประเทศรับการเดินทางท่องเที่ยวระหว่างชุมชนหมู่บ้าน อสม.ต้องชักชวนคนในชุมชน ผู้นำชุมชน ทำเกราะกำบังให้ตำบลพื้นที่หมู่บ้านเราปลอดภัย ใช้หลักการจัดการโควิดเข้มแข็ง 5 ข้อ 1. Universal Prevention 2.จัดการสิ่งแวดล้อมป้องกันโควิด กิจการต่างๆ ทำตามมาตรการที่กำหนด 3.เฝ้าระวังคัดกรองคนเข้าออกพื้นที่ กลุ่มเสี่ยงตรวจเอทีเค 4. ชวนฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมตามเป้าหมายที่ สธ.กำหนด โดยเฉพาะ 608 และ 5.มีระบบบริหารจัดการและเฝ้าระวังควบคุมโรคโควิดที่ดี ทำเป็นทีมวางแผนการจัดการในตำบล” นพ.ภานุวัฒน์ กล่าว

รองอธิบดี สบส. กล่าวว่า เป้าหมายของ สธ. คือ บอก อสม.ทุกตำบลให้ทำแบบนี้เหมือนกัน โดยตั้งเป้าหมายบรรลุเป็นแซนด์บ็อกซ์ให้ได้ จังหวัดละ 1 อำเภอ และ อำเภอละ 1 ตำบล เพื่อปักธงเป็นพื้นที่ปลอดโควิด หรือ COVID Safe

“ถ้าตำบลไหนทำได้ ไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ หรือมีแต่รักษาครบแล้ว หรือกำลังรักษาและมีมาตรการเฝ้าระวังที่ดี จะปักเป็นธงสีเขียว ตำบลปลอดภัยจากโควิด ซึ่งหากมีตำบลมากกว่า 80% ทำได้ในอำเภอก็จะเป็นอำเภอปลอดโควิด หากมีหลายอำเภอก็จะเป็นจังหวัดปลอดโควิด หากทำทั้งแผ่นดินเราก็จะเป็นประเทศไทยปลอดภัยจากโควิด แม้มีเชื้อก็อยู่ได้ ทำให้เดินหน้าเศรษฐกิจต่างๆ ได้ ซึ่งย้ำว่าถ้าต้องการให้ประเทศผ่อนคลายโดยรวม ก็ต้องเข้มงวดป้องกันตนเองให้มากขึ้น” นพ.ภาณุวัฒน์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image