ศบค. ห่วงตะวันออก-4 จว.ใต้ ยังระบาดหนัก สำนักจุฬาราชมนตรีฝากย้ำรับวัคซีนได้ ไม่ผิดหลักศาสนา

ศบค. ห่วงตะวันออก-4 จว.ใต้ ยังระบาดหนัก สำนักจุฬาราชมนตรีฝากย้ำรับวัคซีนได้ ไม่ผิดหลักศาสนา ศบค.ชุดเล็กเตรียมชง ศบค. พิจารณาคลายมาตรการควบคุมพื้นที่แดงเข้มที่มีผู้ติดเชื้อต่ำกว่าร้อยราย ในอีก 2 สัปดาห์

เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2564 พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. กล่าวว่า รายงานสถานการณ์โควิด-19 ประจำวันที่ 6 ตุลาคม 2564 มีผู้ติดเชื้อใหม่ 9,866 ราย ผู้หายป่วยและกลับบ้าน 10,115 ราย ส่วนผู้ที่ยังรักษาตัวอยู่มี 108,022 ราย โดยมีผู้ที่มีอาการหนัก 3,017 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 720 ราย ถือว่ามีทิศทางที่ลดลง แต่ในด้านผู้เสียชีวิต อยู่ที่ 102 คน ถือว่ายังมาก เป็นตัวเลขที่อยากจะเห็นลดลงกว่านี้ จึงต้องพยายามร่วมมืออย่างต่อเนื่อง

พญ.อภิสมัยกล่าวว่า ในส่วนของรายงานสรุป แยกกลุ่มจังหวัด ในกลุ่ม 4 จังหวัดภาคใต้ ที่เน้นย้ำมาตลาดสองสัปดาห์นี้ ยังคงมีผู้ติดเชื้อสูงอย่างต่อเนื่อง อยู่ที่ 1,922 ราย โดยมีทิศทางสูงขึ้น จนมาใกล้เคียงกับพื้นที่ กรุงเทพมหานครและปริมณฑลแล้ว คิดเป็น 20% ของจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในไทยทั้งหมด ส่วนพื้นที่อื่นๆ ยังเกิดคลัสเตอร์ให้ติดตามอย่างต่อเนื่อง รายงานของกรมควบคุมโรค พื้นที่ กทม.และปริมณฑล จะเป็นกลุ่มบุคลากรทาวงการแพทย์ จึงขอเน้นย้ำว่าประชาชนที่ไปโรงพยาบาลด้วย อาการไข้ ระบบทางเดินหายใจ ขอให้ทุกท่านต้องแจ้งประวัติกับแพทย์และพยาบาลที่เข้ามาคัดกรองด้วย และขอให้ทุกโรงพยาบาล หากพบผู้ป่วยที่มีอาการทางระบบทางเดินหายใจ ต้องทำการตรวจคัดกรองโควิด-19 ทุกราย

Advertisement

ส่วนรายงานคลัสเตอร์อื่นๆ ได้แก่ คลัสเตอร์โรงงาน จากจันทบุรี ชลบุรี และตราด คลัสเตอร์แรงงานเก็บผลไม้ และคลัสเตอร์อู่ซ่อมที่จันทบุรี และคลัสเตอร์โรงไฟฟ้าจากชลบุรี ดังนั้น ภาคตะวันออกยังมีตัวเลขผู้ติดเชื้อที่สูง คลัสเตอร์แรงงานประมง จากจังหวัดระยองและประจวบคีรีขันธ์ รวมถึงคลัสเตอร์ค่ายทหารจากระยองด้วย จึงขอให้โรงเรียน ค่ายทหาร และสถานที่ราชการ ทำตามมาตรการสาธารณสุขอย่างเข้มงวด และยังพบวงเลี้ยงสังสรรค์ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่สระแก้ว นอกจากนี้ยังมีรายงานคลัสเตอร์งานศพ จากสุรินทร์ จันทบุรี ตราด อุดรธานี อุบลราชธานีและปัตตานี และยังมีคลัสเตอร์แคมป์คนงานก่อสร้าง ที่จันทบุรี กาญจนบุรี ระยอง และสมุทรปราการ

สำหรับพื้นที่ 30 จังหวัด ที่เป็นที่ควบคุมเข้มงวดและสูงสุด หรือสีแดงเข้มนั้น พบว่ามีหลายจังหวัด รายงานผู้ติดเชื้อรายวัน ลดลงต่ำว่า 100 ราย ได้แก่ อ่างทอง สิงห์บุรี ซึ่งตัวเลขเหล่านี้สำคัญ เนื่องจากทาง ศบค.ชุดเล็กจะรวบรวมข้อมูล และเสนอให้ที่ประชุด ศบค.ชุดใหญ่ เพื่อพิจารณาการผ่อนคลายมาตรการควบคุม ในอีก 2 สัปดาห์นับจากนี้ด้วย และจังหวัดที่มียอดผู้ติดเชื้อต่ำสุดในวันนี้ (6 ตุลาคม) คือจากทางภาคเหนือ ได้แก่ น่าน และพะเยา

ด้านจังหวัดที่เปิดนำร่องการท่องเที่ยวนั้น มีรายงานการติดเชื้อที่ถือได้ว่าเป็นตัวเลขที่ทางสาธารณสุขยังรองรับไหว คือ ภูเก็ต กระบี่ พังงา สุราษฎร์ธานี โดยเฉพาะที่เกาะสมุย มีรายงานคลัสเตอร์โรงเรียน ในส่วนนี้ เมื่อมีการเปิดเป็นพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว ไม่ได้แปลว่าจะไม่มีการพบผู้ติดเชื้อ แต่ขอให้อยู่ในเกณฑ์ การปฏิบัติตรวจพบเร็ว เร่งคัดแยกคนติดเชื้อออกมาให้ได้ เพื่อไม่ให้เกิดคลัสเตอร์เข้าไประบาดในครอบครัว และชุมชน และถ้าจังหวัดในพื้นที่นำร่องสามารถนำเสนอมาตรการจัดการดูแลผู้ป่วย ให้ปลอดภัยอย่างเหมาะสม ทาง ศบค.ก็สามารถยังคงให้มาตรการผ่อนคลายอย่างต่อเนื่องได้

Advertisement

สำหรับการจัดอันดับจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนมากนั้น ได้แก่ 1.กทม. 1,208 ราย 2.สงขลา 666 ราย 3.สมุทรปราการ 602 ราย 4.ชลบุรี 601 ราย 5.นราธิวาส 501 ราย 6.ยะลา 446 ราย 7.ระยอง 379 ราย 8.ปราจีนบุรี 313 ราย 9. ปัตตานี 309 ราย และ 10.นครศรีธรรมราช 259 ราย โดยพบว่าสงขลาได้ขึ้นมาเป็น อันดับ 2 แซงหน้าสมุทรปราการแล้ว ส่วน กทม. ถือว่าลดลงอย่างต่อเนื่อง อยู่ในระดับน่าพอใจ และมี 4 จังหวัดภาคใต้ติดอันดับ โดยสถานการณ์การติดเชื้อรายงานว่า เกิดการสัมผัสผู้ติดเชื้อและผู้ที่เสี่ยงสูง จากวัฒนธรรมของพี่น้องที่มีการนั่งคุยกับ จิบน้ำชาช่วงเช้า เปิดหน้ากากอนามัยคุยกัน และรับประทานอาหารร่วมกัน รวมทั้งรวมตัวกันทำกิจกรรมทางศาสนา จึงทำให้ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และผู้บริหาร ยังอยู่ในพื้นที่เพื่อกำกับและช่วยอำนวยความสะดวกให้การควบคุมโรคในพื้นที่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

“นับจากนี้ในพื้นที่ 4 จังหวัดภาคใต้ สงขลา ยะลา นราธิวาส และปัตตานี และมีการประชุมร่วมกันและเน้นย้ำไปที่การค้นหาผู้ป่วยอย่างรวดเร็ว เพื่อคัดแยกออกจากชุมชน หรือครอบครัว โดยทั้ง 4 จังหวัด ยังรายงานว่า ทรัพยาการในการดูแลรักษายังทำได้อย่างดีเยี่ยม ได้รับการสนับสนุนการชุมชนอย่างดี จากภาครัฐและภาคเอกชน จึงต้องขอขอบคุณทุกคนในพื้นที่ที่ให้ความร่วมมือในการดูแลพี่น้องประชาชนให้ปลอดภัย รวมทั้งได้มีการควบคุมคลัสเตอร์โรงงาน ผ่านมาตรการบับเบิลแอนด์ซีล ซึ่งได้ผลเป็นที่น่าพอใจ” พญ.อภิสมัยกล่าว

อย่างไรก็ตาม คงต้องขอความร่วมมือไปยังพี่น้องประชาชน ชุมชน ช่วยกันเฝ้าระวัง การติดเชื้อในครอบครัว และชุมชน รวมทั้งมาตรการควบคุมโควิดแบบครอบจักรวาลยังเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะหากยังต้องเดินทางไปพื้นที่เสี่ยง หรือต้องสัมผัสผู้ที่มีความเสี่ยง หรือบางคนทำงาน ที่มีกิจกกรมเสี่ยง ขอให้ตรวจสอบตนเองทุกวัน สำรวจอาการ หากมีอาการมีไข้ มีน้ำมูก อาการทางระบบทางเดินหายใจ ขอให้เข้าพบแพทย์โดยด่วน ยิ่งตรวจเจอเชื้อไว ก็จะทำให้ได้รับการดูแลให้ปลอดภัยได้เร็ว และช่วยจำกัดวงระบาดไม่ให้ลุกลามไปยังครอบครัวและชุมชน จนกลายเป็นคลัสเตอร์ใหม่

พญ.อภิสมัยกล่าวว่า อีกหนึ่งนโยบายสำคัญของพื้นที่ 4 จังหวัดภาคใต้คือ การเร่งระดมการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด โดยเน้นย้ำไปที่กลุ่ม 608 คือผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดติด ผู้มีโรคประจำตัว 7 โรค และหญิงตั้งครรภ์ นอกจากนี้ยังมีพี่น้องประชาชนให้ข้อมูลกลับมาว่า มีการให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน ทำให้เกิดความลังเล ไม่กล้าฉีดวัคซีน ดังนั้น สำนักจุฬาราชมนตรีได้เผยแพร่คำวินิจฉัย (ฟัตวา) จุฬาราชมนตรี เรื่อง การฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโควิด ว่าสามารถรับวัคซีนได้ ไม่มีสิ่งต้องห้ามตามหลักศาสนา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image