สิ้นตุลาฯ ไทย 60% ได้วัคซีนโควิด สธ.แจงเด็ก 3 ราย กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบก่อนฉีดไฟเซอร์

สิ้นตุลาฯ ไทย 60% ได้วัคซีนโควิด สธ.แจงเด็ก 3 ราย กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบก่อนฉีดไฟเซอร์

เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงอัพเดตสถานการณ์การฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในประเทศไทย ว่า ภาพรวมการฉีดวัคซีนขณะนี้เพิ่มขึ้นค่อนข้างรวดเร็ว เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม สามารถฉีดได้ 911,677 โดส เป็นเข็มที่ 1 ประมาณ 4.1 แสนโดส เข็มที่ 2 จำนวน 4.5 แสนโดส และเข็มที่ 3 อีก 4.3 หมื่นโดส ยอดสะสม 58.2 ล้านโดส แบ่งเป็น เข็มที่ 1 ร้อยละ 47.5 เข็มที่ 2 ร้อยละ 31.2 และ เข็มที่ 3 ร้อยละ 2.3

“คิดว่าเวลาที่เหลือในเดือนนี้ น่าจะไปตามเป้าหมายได้ คือฉีดวัคซีนให้คนไทย อย่างน้อยร้อยละ 60 ของประชากรในประเทศ” นพ.โสภณ กล่าวและว่า ข้อมูลวัคซีนที่ฉีดมากที่สุด คือ แอสตร้าเซนเนก้า 26 ล้านโดส รองมาเป็น ซิโนแวค 20 กว่าล้านโดส ซิโนฟาร์ม 9 ล้านโดส และ ไฟเซอร์ 1.7 ล้านโดส ขณะนี้ วัคไฟเซอร์ล็อตที่ประเทศไทยมีการสั่งซื้อรวม 30 ล้านโดส ทยอยเข้ามาในประเทศไทยทุกสัปดาห์ โดยล็อตแรกที่เข้ามาปลายเดือนกันยายน 2 ล้านโดส ได้มีการส่งไปฉีดในกลุ่มนักเรียนอายุ 12-17 ปี แล้ว ล่าสุดเมื่อวัน 6 ตุลาคม ไฟเซอร์เข้ามาอีกจำนวน 1.5 ล้านโดส ผ่านการตรวจรับรองรุ่นการผลิต (lot release) แล้ว จะทยอยส่งไปยังต่างจังหวัด เพื่อฉีดให้กับนักเรียนเพิ่มขึ้น ดังนั้น กรณีที่มีข่าวว่าวัคซีนไม่เพียงพอ บางโรงเรียนต้องจับฉลากฉีดวัคซีน ขอให้ความมั่นใจว่าวัคซีนมีเพียงพอ เพียงแต่ระยะแรกวัคซีนทยอยไปร้อยละ 40 อย่างไรก็ตาม วันที่ 13 ตุลาคมนี้ จะเข้ามาอีก 1.5 ล้านโดส

รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ส่วนผลการฉีดในเด็กนักเรียนนั้น จนถึงขณะนี้จากการติดตามอาการไม่พึงประสงค์ พบว่ามีอาการเจ็บ บวมร้อน บริเวณที่ฉีด บางกรณีเด็กมีการเวียนศีรษะ เหมือนจะเป็นลม อาเจียน แต่พบไม่มาก ปฐมพยาบาลแล้วก็ดีขึ้น เป็นที่น่าสังเกตว่า การฉีดวัคซีนรวมคนจำนวนมาก เด็กจะมีความกลัว และเกิดอาการคล้ายๆ กัน ดังนั้น การจัดสถานที่ฉีดวัคซีนควรโปร่ง ไม่แออัด เปิดเพลงเพื่อผ่อนคลายความเครียด ความกังวล และครู บุคคลากรการแพทย์ ควรให้ข้อมูลเกี่ยวกับอาการไม่พึงประสงค์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ รวมถึงอาการรุนแรงที่อาจจะเกิดได้ คือ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ แต่หายได้

“กรณีที่มี 3 ราย ที่ได้รับการยืนยันว่ามีอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบนั้น เป็นรายที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงสัปดาห์ก่อนหน้านั้น ที่มีการฉีดวัคซีนในเด็ก ไม่เกี่ยวกับเด็ก นักเรียน เพราะเริ่มฉีดวันที่ 4 ตุลาคม ยังเร็วไป ต้องเฝ้าระวัง” นพ.โสภณ กล่าวและว่า ส่วนกรณีการประเมินว่า จะฉีดวัคซีนไฟเซอร์เข็มที่ 2 ให้กับเด็กนักเรียนนั้น กรณีเป็นเด็กชายและเด็กหญิงอายุ อายุ 16-18 ปี ให้ฉีด 2 เข็มปกติ เด็กทั้งชาย เด็กหญิง อายุ 12-16 ปี หากเป็นเด็กที่มีโรคประจำตัว ก็ให้ฉีด 2 เข็ม เพราะถ้ามีโรคประจำตัวแล้วป่วยโควิด-19 จะมีอาการรุนแรงได้ แต่กรณีเด็กชายอายุ 12 ปี ถึงต่ำกว่า 16 ปี ร่างกายแข็งแรงดี ต้องรอประเมินผลอาการข้างเคียงก่อนว่า อาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบที่กังวลนั้น จะเกิดในเด็กไทยเหมือนในต่างประเทศหรือไม่ เบื้องต้นมีตัวเลขเด็กนักเรียนชายประมาณ 2 ล้านคน หรือครึ่งหนึ่งของจำนวนนักเรียนเป้าหมายที่จะฉีดวัคซีนไฟเซอร์

Advertisement

ผู้สื่อข่าวถามถึงการฉีดไฟเซอร์ให้เด็กอายุ 5-11 ปี นพ.โสภณ กล่าวว่า ขณะนี้การฉีดวัคซีนไฟเซอร์ในเด็กไทย จะเริ่มที่ 12 ปีขึ้นไป ส่วนที่ต่างประเทศมีการทดลองฉีดในเด็ก 5-11 ปี มีแนวโน้มได้ผลดี แต่บริษัทผู้ผลิตยังไม่ได้มีการยื่นขึ้นทะเบียนแต่อย่างใด ดังนั้น ประเทศไทยก็ยืนยันการฉีดเริ่มที่เด็ก 12 ปี ขึ้นไปก่อน

นพ.โสภณ ยังกล่าวถึงกรณีวัคซีนสูตรไขว้ ว่า ต้องรอให้ที่ประชุมอีโอซี ของ สธ.อนุมัติในวันที่ 11 ตุลาคมนี้ ซึ่งก็มีแนวโน้มที่จะมีสูตรไขว้เพิ่มขึ้น คือ แอสตร้าเซนเนก้า ตามด้วย ไฟเซอร์ เหตุผลหลักคือ มียอดวัคซีนไฟเซอร์เข้ามามากในช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม จึงต้องใช้วัคซีนให้เกิดประโยชน์สูงสุด และแอสตร้าฯ กับ ไฟเซอร์ ก็มีจำนวนมากพอๆ กัน ส่วนซิโนแวคที่เหลือ ใช้ฉีดเดือนตุลาคมนี้ก็คงหมด ส่วนผู้ที่ฉีดแอสตร้าฯ ครบ 2 เข็ม นั้น ในต่างประเทศยังไม่มีการฉีดบูสเตอร์ ดังนั้น ต้องรออีกระยะหนึ่ง เนื่องจากภูมิอยู่ได้นานกว่าฉีดไฟเซอร์ 2 เข็ม ด้วยซ้ำ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image