เปิด 9 จว.ฉีดวัคซีนโควิดต่ำสุด อีสานเหนือไม่ถึง 50% ขอเกี่ยวข้าวก่อน เร่ง ปชช. ฉีดทะลุเป้าในสัปดาห์นี้

เปิด 9 จว.ฉีดวัคซีนโควิดต่ำสุด อีสานเหนือไม่ถึง 50% ขอเกี่ยวข้าวก่อน เร่ง ปชช. ฉีดทะลุเป้าในสัปดาห์นี้

หลังจากศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เปิดเผยข้อมูลว่ายังมีประชากรอีก 11 ล้านคน ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เข็มที่ 1 ต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กำชับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เร่งตามกลุ่มตกหล่นฉีดให้ครบถ้วน ซึ่ง นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการ สธ. สั่งการให้กรมควบคุมโรค ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 15 ธันวาคม 2564 เพื่อเป้าหมายการเป็นประเทศที่ประชากรฉีดวัคซีนครบ 100% นั้น

เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การฉีดวัคซีนโควิด-19 มีการรายงานในระบบหมอพร้อม โดยจังหวัดที่ยังฉีดได้น้อย ส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ เช่น นครพนม เนื่องจากไม่ค่อยมีการระบาด ประชาชนไม่ค่อยกังวล ก็อาจไปรับวัคซีนน้อย ทั้งนี้ จากเดิมที่มีรายงานผู้ยังไม่ได้ฉีดเข็มแรกราว 11 ล้านคน

“แต่ขณะนี้ก็เริ่มฉีดแล้ว เหลือประมาณ 7-8 ล้านคน ส่วนประชากรแฝงที่ยังไม่ได้รับวัคซีน คาดการณ์ได้ยาก เพราะกลับไปกลับมา อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่คนยังไม่รับวัคซีน อาจเกิดจากอยู่ในพื้นที่ไม่ระบาด ยังกลัวผลข้างเคียง หรือยังรอวัคซีนอยู่ ซึ่งเราก็ให้พื้นที่ไปรณรงค์ให้เข้ารับวัคซีน โดยสูตรหลักของไทยขณะนี้ยังเป็น วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ตามด้วยวัคซีนไฟเซอร์ และ วัคซีนซิโนแวค ตามด้วยวัคซีนแอสตร้าฯ ซึ่งขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่

Advertisement

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการตรวจสอบข้อมูลระบบ “หมอพร้อม” วันที่ 19 พฤศจิกายน 2564 พบว่ามีทั้งหมด 9 จังหวัด ที่ยังฉีดวัคซีนครอบคลุมประชากรยังไม่ถึงร้อยละ 50 ได้แก่ นครพนม สกลนคร หนองบัวลำภู บึงกาฬ กาฬสินธุ์ นราธิวาส ปัตตานี แม่ฮ่องสอน และ ตาก ในจำนวนนี้ พบว่ามี 4 จังหวัด อยู่ในเขตสุขภาพที่ 8 ได้แก่ นครพนม สกลนคร หนองบัวลำภู และ บึงกาฬ

ทั้งนี้ นพ.ปราโมทย์ เสถียรรัตน์ ผู้ตรวจราชการ สธ. เขตสุขภาพที่ 8 กล่าวว่า ล่าสุดจังหวัด ร่วมกับ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) รองนพ.สสจ. ผู้อำนวยการโรงพยาบาล สาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) และ ผอ.โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) มีการประชุมติดตามกันทุกวัน

“เรียนตามตรงว่า 4 จังหวัดดังกล่าว ยังฉีดวัคซีนไม่ถึงเป้าหมายร้อยละ 50 ของประชากร เช่น นครพนม ฉีดได้ร้อยละ 49.71 ขาดอีก 2,000 กว่าโดส ก็จะถึงร้อยละ 50 เช่นเดียวกับจังหวัดที่เหลือ เราจึงกำหนดเป้าหมายฉีดให้ครบตามเป้าทั้ง 4 จังหวัด ภายในวันที่ 21 พฤศจิกายนี้ ทั้งนี้ คาดว่ามีผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนเข็มแรกในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 8 มีราว 1.2 ล้านคน จากจำนวนประชากร 5.35 ล้านคน” นพ.ปราโมทย์ กล่าวและว่า สาเหตุที่ยังฉีดได้น้อย ไม่ใช่ว่าเจ้าหน้าที่ไม่ทำงาน เพราะทุกฝ่ายพยายามทำเต็มที่ แต่บริบทพื้นที่ต่างกัน ซึ่งเขตสุขภาพที่ 8 เป็นภาคอีสานตอนบน ติดเชื้อน้อย และอัตราเสียชีวิตต่ำ รวมถึงดูแลตัวเองด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น ฟ้าทะลายโจร สมุนไพรต่างๆ จึงมีผลต่อความต้องการวัคซีน ต่างจากพื้นที่ระบาดที่มีแต่คนอยากฉีด และเมื่อไม่ใช่พื้นที่ระบาด วัคซีนจึงมาเยอะในช่วงหลัง เราก็เร่งฉีดให้กลุ่มเสี่ยง 608 ทำให้จังหวัดในเขตสุขภาพที่ 8 ฉีดกลุ่มเสี่ยงได้มากกว่าร้อยละ 80-90 ซึ่งถือว่าฉีดได้มากที่สุดในระหว่างเขตสุขภาพที่นอกเหนือจากกรุงเทพมหานคร

Advertisement

ผู้ตรวจราชการ สธ.เขตสุขภาพที่ 8 กล่าวว่า อีกสาเหตุคือ การฉีดวัคซีนในพื้นที่ตามทะเบียนราษฎร์ พบว่า มีประชากรอยู่ในพื้นที่ร้อยละ 80 และอยู่นอกพื้นที่อีก ร้อยละ 20 เช่น กรุงเทพฯ และจังหวัดพื้นที่อีอีซี (EEC) ที่ได้รับการฉีดนอกพื้นที่จังหวัดแล้ว เช่น ระบบไทยร่วมใจ หรือระบบในแต่ละจังหวัด แต่ยังไม่มีการบันทึกข้อมูลเข้าระบบ MOPH IC โดย สธ.จะมีการเคลียร์ระบบนี้ใหม่ คาดว่าตัวเลขการฉีดในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 8 จะเพิ่มขึ้น ร้อยละ 10-20

“ระยะนี้เป็นการฉีดให้กับคนทั่วไปทุกกลุ่ม ทั้งคนไทย แรงงาน ชาวต่างชาติ เราก็ประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัด นพ.สสจ. ในการประชาสัมพันธ์ ให้ความรู้ สร้างความเข้าใจให้ประชาชนเข้ามารับวัคซีน ส่วนเรื่องการสร้างแรงจูงใจ ก็เป็นการบริหารของแต่ละพื้นที่ เช่น บางอำเภอ มีการสุ่มแจกทอง แจกวัว ให้คนที่ไปรับวัคซีนในแต่ละวัน ซึ่งได้รับการตอบรับดีมาก แต่ขึ้นอยู่กับความพร้อมของพื้นที่ต่างๆ ความยากของการฉีดในกลุ่มดังกล่าว คือ ช่วงนี้เป็นฤดูเกี่ยวข้าว ที่เป็นรายได้วิถีชาวบ้าน เขาก็ต่อรองว่า ขอเกี่ยวข้าวให้เสร็จก่อน เพราะกลัวว่าฉีดแล้วจะเกี่ยวข้าวไม่ได้ เราก็เข้าใจวิถีชีวิตเขา” นพ.ปราโมทย์ กล่าว

นพ.ปราโมทย์ กล่าวว่า ส่วนประเด็นการเปิดประเทศพื้นที่ท่องเที่ยวภาคอีสานนั้น ระยะแรกที่เปิดรับนักท่องเที่ยว/ผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ เปิดเป็นแบบแซนด์ บ็อกซ์ (Sand Box) ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายนเป็นต้นมา เริ่มต้นจาก อ.เชียงคาน อ.ภูเรือ จ.เลย แล้วก็เปิดต่อที่ อ.คำชะโนด จ.อุดรธานี และพื้นที่ตะเข็บชายแดนริมโขง จ.หนองคาย แต่ส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวที่เข้าจะเป็นคนไทย รวมถึงนักท่องเที่ยวที่มาจากภูเก็ต แซนด์ บ็อกซ์ ด้วย ซึ่งที่ยังไม่มีนักท่องเที่ยวจากประเทศเพื่อนบ้าน เพราะเรายังไม่เปิดพื้นที่ข้ามแดน โดยขณะนี้เตรียมเสนอที่ประชุม EOC ของ สธ. เตรียมเปิดแซนด์ บ็อกซ์ ที่เหลือในเดือนธันวาคม แต่ขณะนี้ 4 จังหวัด ยังฉีดวัคซีนได้น้อย จึงยังไม่สามารถเดินหน้าได้ เพราะเป็นเงื่อนไขของการเปิดพื้นที่ โดยเราจะกำหนดพื้นที่โควิด-19 ฟรี เอเรีย (Covid-19 Free Area) ในบางอำเภอ ที่จะต้องฉีดวัคซีนให้มากที่สุดจากร้อยละ 50 เป็น ร้อยละ 70 สำหรับการท่องเที่ยวในประเทศ มาตรการแต่ละจังหวัดต่างกัน แต่เป็นมาตรฐานของคนไทยในตอนนี้ คือการป้องกันตัวเองขั้นสูงสุด (Universal Prevention) การฉีดวัคซีนครบตามเกณฑ์ ซึ่งหากเดินทางไปเที่ยวกัน 2-3 คน เป็นครอบครัว ก็อาจไม่ต้องตรวจ ATK แต่หากไปหลายคน มีกิจกรรมร่วมกันมาก เช่น ประชุม สัมมนา ก็จะต้องมีมาตรการตรวจคัดกรอง ATK ก่อนเดินทาง เพื่อสร้างความปลอดภัยให้ทุกคน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image