โควิดทำพัฒนาการเด็กชะงัก กรมสุขภาพจิตแนะทางแก้ รีบฉีดวัคซีน เปิดหน้าพูดคุยในครอบครัว

โควิดทำพัฒนาการเด็กชะงัก กรมสุขภาพจิตแนะทางแก้ รีบฉีดวัคซีน เปิดหน้าพูดคุยในครอบครัว

เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเด็กจากการเรียนออนไลน์ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นเริ่มจากพัฒนาการของเด็ก ในส่วนของเด็กเล็กช่วง 1 ปีแรก การเรียนรู้จะเกิดกับการสัมผัส แต่ในขณะนี้ที่ต้องมีการเว้นระยะห่าง (Social Distancing) ดังนั้นความใกล้ชิดระหว่างเด็กกับผู้ปกครองจะหายไป
“ความผูกพันที่มั่นคงอาจถูกกระทบ ซึ่งเราก็ต้องยอมรับ เพราะความปลอดภัยต้องมาก่อน แต่ก่อนปู่ ย่า ตา ยาย จะมากอด แต่ตอนนี้ต้องกอดน้อยที่สุด อีกทั้งการสวมหน้ากากอนามัย จากเดิมที่เด็กจะเรียนรู้จากสีหน้าของผู้ใหญ่ นั่นคือการเรียนรู้ที่สำคัญที่สุดในช่วง 3 ปีแรก ต่อจากนี้เราอาจจะเจอเด็กที่หน้าตาทะมึนๆ หรือเป็นเด็กที่อ่านสายตา สีหน้าคนอื่นไม่เป็น” พญ.อัมพร กล่าว

พญ.อัมพร กล่าวว่า ทั้งนี้ ยังรวมไปถึงการสื่อสารถึงคุณธรรม จริยธรรม สมมติว่าเด็กทำอะไรที่ไม่ถูกต้อง และแม่ทำเสียงเตือน พอสวมหน้ากากก็ดูไม่ออกแล้ว ทุกๆ อย่างจะถูกรบกวนไปหมด วิธีแก้คือ ต้องพยายามให้เด็กเห็นหน้า แม้ในช่วงนี้การเห็นหน้าจะทำได้ลำบาก จึงพยายามให้ทุกคนได้ฉีดวัคซีน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตัวเอง เพื่อที่เราจะสามารถถอดหน้ากากพูดคุยกันได้

อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า สำหรับเด็กโต ปกติต้องปีนป่าย ต้องเล่น แต่ขณะนี้ สนามเด็กเล่นปิด การจะพาเด็กไปเดินซื้อของ ชี้ให้ดูสินค้าในตลาด ซึ่งจะช่วยให้เด็กเรียนรู้ได้ดีมาก ก็ไม่สามารถทำได้แล้ว ดังนั้น จึงกระทบกับชีวิตประจำวันของเด็กทั้งหมด ส่วนในโรงเรียน ระบบการศึกษาที่อาจจะปรับตัวไม่ทันโรคระบาด ก็จะเห็นว่า ครูจะใช้วิธีการสอนแบบออนไลน์ ซึ่งไม่เหมือนกับการสอนในห้องเรียน จะทำให้เด็กไม่มีสมาธิ เมื่อไม่มีสมาธิก็เหมือนปิดประตูการเรียนรู้

พญ.อัมพร กล่าวว่า ขณะนี้เป็นช่วงเวลาที่น่าเห็นใจมากของทุกๆ ฝ่าย ซึ่งเป็นปัญหาเนื่องมาจากโควิด-19 ซึ่งทุกคนมีความกังวลกับการฉีดวัคซีน กังวลในการดูแลตัวเองให้ปลอดภัย แต่ถ้าละเลยในเรื่องของวัคซีนใจ อาจทำให้เด็กเติบโตได้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น

Advertisement

“ไม่ห่วงเรื่องความฉลาดของเด็ก แต่สภาพจิตใจนั้น หากถูกบั่นทอนไปด้วยสิ่งเหล่านี้ จะน่ากลัวมาก ในปีงบประมาณ 2563 กับปีงบประมาณ 2564 กรมสุขภาพจิตได้ทำการสำรวจสภาพจิตใจของเด็กและของประชาชน พบสิ่งที่น่าสนใจมากคือ ในช่วงเดือน เม.ย. – ส.ค.2564 มีเด็กโตและวัยรุ่นที่สามารถเข้าสู่กระบวนการตอบคำถามเข้าร่วมการตอบคำถามมากขึ้นกว่าเดิมเกือบ 10 เท่า จากเดิมที่จะเป็นผู้ใหญ่ วัยทำงาน อีกทั้ง สายด่วนสุขภาพจิต ก็มีเด็กๆ วัยรุ่น โทรเข้าไปปรึกษาจำนวนมาก ดังนั้น การลงพื้นที่ไปให้คำปรึกษาแบบเชิงรุกที่โรงเรียน หรือการรับสายโทรศัพท์ หลายครั้งการเป็นช่องทางสำคัญ ที่จะทำให้เด็กรู้สึกว่าเขาได้รับคำตอบ ซึ่งแปลว่า ที่บ้านไม่มีคำตอบให้” พญ.อัมพร กล่าวและว่า ปัญหาครอบครัวเข้าใจได้ หากผู้ใหญ่อยู่ในภาวะที่ไม่มีความสุข ต่อให้รักลูกแค่ไหน ความทุกข์ก็จะปรากฏออกมาในพื้นที่การเลี้ยงดู

พญ.อัมพร กล่าวว่า ขณะนี้ กรมสุขภาพจิต ได้ส่งรถโมบายเคลื่อนที่เข้าไปคลายเครียดให้กับประชาชนถึงชุมชน เน้นออกไปทำการส่งเสริมพัฒนาการให้เด็ก โดยมีทั้งหนังสือนิทาน ของเล่น และให้คำแนะนำกับผู้ปกครองเด็กในเรื่องของการเลี้ยงดูบุตรหลานอีกด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image